xs
xsm
sm
md
lg

“ถวิล” เปิดใจก่อนอำลา สมช. เดินหน้าคุยสันติสุขแก้ไฟใต้ ยันไม่ได้ล้ม “ปู” แต่เชื่อกฎแห่งกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาฯ สมช.แถลงก่อนอำลาตำแหน่ง เผยหลัง คสช.ยึดอำนาจทำงานราบรื่นขึ้น เตรียมเสนอแผนงานใหม่ และทบทวนแผนแก้ไฟใต้ทุก 3 ปี คุยสันติสุขยันเดินหน้าต่อ แต่ชี้มีจุดอ่อนเยอะ เผยนายกฯ ไปพม่าถกเขตเศรษฐกิจทวาย เตรียมเสนอเจรจาผู้ลี้ภัยกลับบ้านเกิดหลังมีโรดแมปประชาธิปไตย ส่วนมาตรา 112 ชี้ยังมีอยู่ ทุกคดีมีมูล คนไทยรับไม่ได้ ปัดล้ม “ยิ่งลักษณ์” พ้นนายกฯ แต่เชื่อในกฎแห่งกรรม

วันนี้ (26 ก.ย.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงถึงการทำงานในช่วง 5 เดือนของการเข้ามาทำหน้าที่เลขาฯ สมช.อีกครั้งนับตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา และจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ว่า ตนกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมแล้วพบว่าข้าราชการพร้อมรับไม้ต่อในการทำงานได้ อีกทั้งให้ความมือและสนับสนุนการทำงานทุกด้านเป็นอย่างดี ทำให้งานเป็นไปอย่างราบรื่น หน่วยงานอื่นๆ ก็ร่วมมืออย่างดี ที่สำคัญการควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ทำให้การทำงานราบรื่นขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นยอมรับว่าการทำงานที่รัฐบาลเก่ายังบริหารอยู่ซึ่งมีความขัดแย้งกันมาแต่เดิม ก็ยังทำให้เกิดความตะขิดตะขวงใจ แม้จะพยายามแยกแยะแล้วก็ตาม จึงทำให้การผลักดันงานให้บรรลุผลเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อ คสช.เข้ามาคุมอำนาจและทำให้สถานการณ์นิ่งขึ้น ข้าราชการทำให้ทำงานได้เต็มที่ และประโยชน์ก็อยู่ที่ประชาชนมากขึ้น

นายถวิลกล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมด้านความมั่นคงในวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เชิญหน่วยงานมั่นคงเกี่ยวข้องกับชายแดนทุกด้านมาหารือ เพื่อดำเนินการตามแนวทางที่สืบเนื่องจากนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนโยบายความมั่นคง รวมทั้งแนวทางที่ สมช. วางกรอบไว้ โดยให้ความสำคัญเรื่องชายแดน เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ให้เตรียมพร้อมเร่งรัดการใช้งบประมาณปี 2558 การเตรียมเปิดจุดผ่านแดน การตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ต้องดูความเหมาะสมและความมั่นคงเป็นองค์ประกอบด้วย ดังนั้น สมช.ต้องดูแลเรื่องดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลให้รอบคอบมากขึ้น และปิดจุดอ่อนต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ขณะที่แผนการดำเนินงานของ สมช.มีหลายเรื่อง โดยเรื่องแรก คือ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติทั่วไป ที่เดิม สมช.มีแผนทั่วไป 5 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2559 แต่เมื่อตนต้องพ้นตำแหน่งและกลับมาทำงานใหม่พบว่าแผนงานยังค้างอยู่ จึงมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุม สมช.พิจารณาก่อนเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการทำงานต่อไป

สำหรับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังปรากฏความรุนแรงอยู่นั้นได้เตรียมการจัดทำแผนนโยบายการทำงานปี 2558-2560 และจะต้องมีการทบทวนแผนงานทุกๆ 3 ปี เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ โดยการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีการจัดตั้งกลไกเพื่อขับเคลื่อนงานภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ตามคำสั่ง คสช. ที่ 98/2557 โดยมีหัวหน้า คสช. และเลขาฯ สมช.รับผิดชอบในส่วนงานนโยบาย เพื่อให้ข้อเสนอแนะและแปลงนโยบายไปสู่ระดับการปฏิบัติ ที่มีรองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ดูแล และประสานฝ่ายปฏิบัติ คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า รับไปดำเนินการด้านความมั่นคง แต่ที่ปรับเพิ่มขึ้น คือการสร้างความเป็นเอกภาพในการทำงานระหว่าง กอ.รมน.และ ศอ.บต.ที่ดูเรื่องงานพัฒนา โดยปรับให้ ศอ.บต.ไปอยู่กับ กอ.รมน.เพื่อบูรณาการทำงานและประสานกับ 20 กระทรวง เพื่อกำหนดโครงการและงบประมาณให้มีความชัดเจนและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ พร้อมกับยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในสัปดห์หน้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงจะลงพื้นที่ไปติดตามความคืบหน้าในการทำงานต่อไป

ในเรื่องการพูดคุยสันติสุข เป็นเรื่องที่ดำเนินการเป็นระยะ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำตั้งแต่เป็นหัวหน้า คสช.แล้วว่ามีนโยบายการแก้ปัญหาด้วยการเมืองนำการทหาร ท่านพูดเสมอว่าท้ายที่สุดแล้วการทหารจะต้องถอยออกไปเมื่อภาวะการแก้ปัญหาและสภาวะแวดล้อมคืนสู่ภาวะปกติ หน่วยงานพัฒนาหน่วยงานพลเรือนก็ต้องเข้าไปทำงานอย่างเต็มที่ อย่าางไรก็ตาม ย้ำว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหายึดแนวสันติพร้อมที่จะพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ เพราะการยุติความรุนแรงด้วยความรุนแรงไม่ใช่เรื่องที่เราปรารถนา ถ้าผู้ที่เห็นต่างใช้ความรุนแรงกับรัฐคนที่เดือดร้อนคือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ดังนั้นเราไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงยุติความรุนแรง

นายถวิลกล่าวว่า การพูดคุยคือการพูดคุยเพื่อสันติสุข ความจริงแล้วผู้ที่เห็นต่างในพื้นที่มีเยอะและมีได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง และใช้แนวทางสันติวิธีเข้ามาพูดคุย แต่มีกลุ่มหนึ่งที่เขายังมมีอุดมการณ์ที่แตกต่างจากภาครัฐและใช้ความรุนแรง ก็อยากให้เขาเข้ามาพูดคุยกัน เพราะเดิมทีมีการสะท้อนว่าต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อถึงเวลาได้พูดคุยกันโดยตรงจะได้มีโอกาสรับทราบปัญหาความต้องการความคับข้างใจโดยตรงก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นผลดี ไม่ต้องมีการรบราฆ่าฟันกัน เพราะไม่มีใครปรารถนาทั้งสิ้น

ส่วนที่ถามว่าทำไมยังดำเนินการได้ช้านั้น ขอเรียนว่ากระบวนการพูดคุยที่ผ่านมามีการดำเนินการตลอด ไม่ใช่เพิ่งมาทำเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว จุดอ่อนในการดำเนินการที่ผ่านมานั้นคือความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างรัฐกับผู้ที่มีความเห็นต่าง ในอดีตที่ผ่านมาที่มีการปรากฏตัวออกมาพูดคุยกับรัฐนั้นก็ยังมีวาระที่ยังไม่ไว้วางใจบางอย่าง ก็เคลือบแฝงด้วยการเจตนาของการที่จะยกระดับกลุ่มของตัวเองขึ้นมา ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ถูกกลุ่มที่เห็นต่างไม่ไว้ใจ่เช่นกันว่าเข้าไปพูดคุยเพื่อที่จะดำเนินการทางด้านการข่าวหรือทางยุทธวิธีหรือไม่อย่างไร ดังนั้นอุปสรรคคือเรื่องของความไม่ไว้วางใจกัน

“ในการพูดคุยเมื่อปี 2556 ตั้งแต่มีการลงนามที่มาเลเซียแล้วก็มีการพูดคุย 3-4 ครั้ง เป็นการพูดคุยโดยเปิดเผย ก็เรียนว่าข้อดีก็มี ทำให้การพูดคุยเพื่อยุติปัญหาเป็นที่ยอมรับของคนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ แต่วิธีการแบบนี้ว่าจะเป็นวิธีการที่จะสงวนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไว้ได้ ก็เป็นแนวทางที่ดี แต่ข้อจุดอ่อนก็มีอยู่เยอะ โดยเฉพาะการพูดคุยที่ผ่านมานั้นขาดการเชื่อมโยงกับหน่วยนโยบาย การมีส่วนร่วมของหน่วยงานหลักก็ยังมีปัญหาอยู่ การมีกรอบแนวทางของการพูดคุยที่ชัดเจนก็มีปัญหา และที่เรามาทำเที่ยวนี้ ก็ริเริ่มการพูดคุยพยายามจะปิดจุดอ่อนตรงนี้ สร้างกลไก วางแนวทางจะเป็นไปตามที่นายกฯ และหัวหน้า คสช.ประกาศเอาไว้ว่าจะเริ่มต้นด้วยการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เมื่อมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันแล้วก็จะนำไปสู่การลดความรุนแรง หรือยุติความรุนแรง หลังจากนั้นจะเป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสมบูรณ์ต่อไป” นายถวิลกล่าว

ทั้งนี้ การเจรจาสันติภาพอยู่ในขั้นตอนที่มาเลเซียจะต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวก โดยการหากลุ่มที่เห็นต่างมาพูดคุยกับไทย ขณะเดียวกันเราก็มีข้อมูลไปทางมาเลเซียว่าเราต้องการพูดคุยกับใครเช่นกัน ยืนยันว่าพูดคุยกับทุกกลุ่ม ไม่จำกัดว่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มพูโล ส่วนตัวแทนพูดคุยนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุย แต่ในส่วน สมช.มีการกำหนดโครงสร้างของคณะพูดคุยเท่านั้นว่า ควรจะประกอบด้วยใคร และหน่วยไหนบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมของหน่วยงานหลักยังมีน้อยเกินไป จึงต้องพร้อมทั้งในฝ่ายต่างประเทศ ทหาร ฝ่ายข่าวฝ่ายความมั่นคง

ส่วนกระแสที่ตั้งหัวหน้าคณะการพูดคุยคนใหม่นั้นขณะนี้มีกระแสข่าวหลายอย่าง ซึ่งตนได้พูดคุยกับเลขาฯ สมช. มาลาเซีย ว่าตนยังไม่ได้ข่าวจากปากของนายกฯ เป็นเพียงกระแสข่าวผ่านสื่อเท่านั้น แต่ที่สำคัญตนได้พบปะกับนายกฯ ก็ระบุชัดว่ายังไม่ได้ตั้งหัวหน้าคณะ อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งเลขาฯ สมช.มาเลเซียว่า หลังจากนี้หากมีข้อมูลที่เป็นทางการขอให้ผ่านช่องทางของ สมช. เท่านั้น ทั้งนี้ นายกฯ เน้นย้ำว่ากระบวนการพูดคุยจะต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจ เพื่อที่จะนำไปสู่การยุติความรุนแรง แล้วจึงนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาโดยสมบูรณ์ต่อไป ส่วนการเดินทางของนายกฯ ไปประเทศมาเลเซียนั้นยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าจะเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่จะเดินทางไป

นายถวิลกล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมาก็มีปัญหาว่ามาเลเซียจะให้ความร่วมมือยังเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย หรือเรายังยินดีให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือไม่ ที่มีการนำเสนอผ่านสื่อว่าเราจะขอเปลี่ยนบ้าง มาเลเซียจะขอเปลี่ยนบ้าง ดังนั้นตนจึงเรียนนายกฯ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในเรื่องนี้ขออนุญาตไปพุดคุยกับเลขาฯ สมช.ของมาเลเซียที่มีการพูดคุยในช่วงที่ผ่านมา และได้ข้อยุติร่วมกัน คือเราตอบรับในการที่จะอำนวยความสะดวกขอมาเลเซียต่อ และพร้อมที่จะสานต่อการพูดคุยต่อไป ส่วนรายละเอียดเจ้าหน้าที่กำลังประสานงานกันอยู่ และเมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) ระดับเจ้าหน้าที่ก็เดินทางไปมาเลเซียเพื่อประสานกับเจ้าหน้าที่ สมช.ของมาเลเซีย

“คิดว่าเรื่องนี้จะมีความชัดเจนเมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยี่ยมเยือนมาเลเซีย ในฐานะแขกประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ก็คงมีความชัดเจนในเรื่องนั้นว่าจะพูดคุยต่อกันอย่างไร ใครจะเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย” นายถวิลกล่าว

เลขาฯ สมช.กล่าวอีกว่า การพูดคุยไม่ใช่การแก้ปัญหาแค่ทางเดียว เพราะเรามีตั้ง 7-8 เครื่องยนต์ที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ในเรื่องของการพัฒนา การอำนวยความยุติธรรม การยกระดับคุณภาพชีวิต เรื่องของการปรับตัวเข้าหากัน การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำทั้งสิ้น แต่การพูดคุยก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสนับสนุน และเราพร้อมที่จะพูดคุยกับทุกกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐเรื่องพม่า

นายถวิลกล่าวถึงกำหนดการเดินทางไปประเทศพม่าของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า การไปเยือนพม่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศอาเซียน เป็นการพบปะกันมากกว่า แต่ในเรื่องสำคัญ อาทิ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวาย อาจมีการการพูดถึงบ้าง รวมทั้งปัญหาผู้ลี้ภัยสงครามก็คงจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สมช.ได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่พม่าตลอด ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถหารือเบื้องต้นในส่วนนี้ได้ ในส่วนของปัญหาผู้ลี้ภัยนั้นปัจจุบันตัวเลขอยู่ที่ประมาณแสนกว่าราย ในส่วนนี้มีประชากรแฝงอยู่ด้วย โดยมีองค์ระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือด้านอาหาร ขณะนี้ สมช.กำลังรวบรวมข้อมูลที่พักพิงของกลุ่มผู้ลี้ภัย โดยจะมีรายละเอียดการเข้าประเทศ ความต้องการในการเดินทางกลับประเทศแม่ และไปอยู่กับใคร ที่ไหน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกรทำงานต่อไป

ส่วนเรื่องโครงการเศรษฐกิจพิเศษที่ อ.แม่สอด อ.เชียงแสนนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะนี้นายกฯ ได้มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นผู้ดำเนินการ โดยเบื้องต้นทางกระทรวงคมนาคมได้มีการขยายเส้นทางคมนาคมในจุดผ่านแดนต่างๆ เพื่อพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจต่อไป รวมทั้งอนุมัติงบประมาณในการปรับปรุงด่านชายแดนต่างๆ ขณะที่ สมช.ที่ดูแลเรื่องความมั่นคงชายแดนก็จะมีการส่งข้อมูลในส่วนของตนส่งต่อไปยังเลขาสภาพัฒน์แล้ว ซึ่งมีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเป็นรูปร่างเกิดขึ้นได้ เพราะที่ผ่านมาทำได้ยากเพราะยังไม่มีความชัดเจนในด้านต่างๆ โดยเบื้องต้นในจุดเร่งด่วนมีทั้งสิ้น 6 จุด อาทิ บริเวณอรัญประเทศ ทั้งนี้จะต้องมีความพร้อมทั้งสองประเทศ โดยเบื้องต้นได้มีการตกลงกับกัมพูชาว่าจะเปิดช่องทางใหม่ที่สตึงบกหรือบ้านหนองเอี๋ยนของไทย ซึ่งยอมรับว่าผลักดันได้ยากเพราะทั้งสองประเทศก็ยังมีปัญหา แต่ยืนยันว่าเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษยังมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา

นายถวิลกล่าวอีกว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการเรื่องแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยในการสู้รบของพม่าที่เดินทางเข้ามาในไทยเมื่อปี 2527 หรือ 30 ปีมาแล้ว ที่เขาหนีภัยสู้รบในประเทศและเข้ามาอาศัยชายแดนของเราจำนวนแสนคนเศษๆ และอยู่ในพื้นที่พักพิง 9 แห่งใน 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เขาอยู่กับเรามานานแล้ว บางคนก็ไม่ได้เป็นผู้หนีภัยเข้ามา แต่มาเกิดและไม่ได้เห็นบ้านเกิดเมืองนอนมาก่อน รัฐบาลไทยก็ดูแลตามหลักมนุษยธรรมองค์กรระหว่างประเทศก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ดูแลมาเป็นเวลานานจนถึงวันนี้ 30 ปีแล้ว และในวันนี้พัฒนาการในพม่าที่มีโรดแมปในการไปสู่ประชาธิปไตย 7 ขั้นที่มีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน การปรองดองในชาติก็คืบหน้าไปเป็นลำดับ ก็ทราบข่าวมาว่า รัฐบาลพม่าได้ตกลงกับชนกลุ่มน้อยในการยุติการสู้รบ ก็คืบหน้าโดยลำดับได้ด้วยดี

“ผมจึงเรียนท่านนายกฯ ว่า ควรจะถึงเวลาที่เราจะต้องไปพูดคุยกับพม่าเป็นกิจจะลักษณะว่าคนเหล่านี้ควรจะได้เดินทางกลับไปสร้างอนาคตในบ้านเมืองของเขาต่อไป สิ่งสำคัญในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านก็คือว่าเราไม่ประสงค์ให้การเดินทางกลับของคนเหล่านี้ไปสร้างภาระให้กับประเทศเพื่อนบ้านเรา อะไรก็ตามที่เป็นการช่วยเหลือสนับสนุนให้พม่ามีความพร้อมมากที่สุดในการรับคนเหล่านี้กลับไปตั้งถิ่นฐาน เราก็พยายามทำอย่างเต็มที่ และก็ไม่ใช่เรื่องของการผลักไสไล่ส่ง แต่ต้องการให้เขาเดินทางกลับอย่างปลอดภัย อย่างมีเกียรติเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่” นายถวิลกล่าว

นายถวิลกล่าวอีกว่า ในเรื่องนี้ตนมีโอกาสไปพูดคุยกับรัฐมนตรีผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ที่เมืองเนปิดอว์ ประเทศพม่า ซึ่งเขาก็ตอบรับดีและเห็นความจำเป็นที่จะรับคนเหล่านี้ไปสู่บ้านเมืองของเขา แต่เขาก็บอกว่าพม่าเองนอกจากปัญหาผู้หนีภัยที่เข้ามาในไทยแล้ว ในบ้านเมืองเขาเองงก็มีผู้หนีภายในประเทศซึ่งมีปัญหาอยู่ที่ชายแดนของเราเสียอีก เพราะระหว่าง 30 ปีที่มีการสู้รบกันก็เป็นภาระของเราโดยตลอด

“เขาก็ต้องการเวลา ต้องการการเตรียมการเรื่องการตั้งถิ่นฐาน การสร้างบ้านเรือน หาอาชีพส่งเสริมอาชีพหางานให้ทำ ก็เป็นเรื่องที่ในทางหลักการพม่าก็จะให้ความร่วมมือกับไทยในการรับคนเหล่านี้ให้เดินทางกลับ ผมจึงเสนอว่าน่าจะมีกลไกร่วมกัน เพื่อให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อ ว่าพม่ามีความพร้อมแค่ไหน จะร่วมมือกันได้ตรงไหนบ้าง” นายถวิลกล่าว

นายถวิลยืนยันว่า ไทยไม่มีนโยบายในการให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้ามาใช้ดินแดนของเราในการปฏิบัติตนเป็นปฏิปักษ์กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าทางไหนก็ตาม ก็ได้ให้ความั่นใจกับพม่าว่าเราจะดำเนินการเป็นไปตามนโยบายนี้ เพราะความสัมพันธ์ของไทยกับพม่าในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ดีมาก มีการพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกันอย่างดี

ส่วนเรื่องความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ นายถวิลกล่าวว่า มีความสำคัญผูกพันสังคมไทยคนไทยมาช้านานในประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศของเรามา จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยของความมั่นคง และในช่วงที่ผ่านมากระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีประกอบกับมีความจำนวนหนึ่งที่มีพฤติกรรมล่วงละเมิดพระเกียรติและพระราชอำนาจ ซึ่งเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมแบบนี้ยิ่งเผยแพร่ ทำให้ปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อให้มีกรอบในการทำงานชัดเจนมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นนโยบายข้อแรกที่มี และในส่วนของ สมช.เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ มีความชัดเจนบูรณาการการทำงานด้วยกัน จึงกำลังจัดทำนโยบายในชั้นของคณะกรรมการต่างๆก่อนนำเสนอเข้า สมช. และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นกรอบให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติ

นายถวิลกล่าวอีกว่า สิ่งที่ให้ความสำคัญในนโยบาย คือ 1. การเผยแพร่องค์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ 2. จะมีการสนับสนุนโครงการในพระราชดำริและขยายผลให้กว้างขวางในการแก้ไขปัญหาของประชาชน 3. ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ และประชาชนรู้และเข้าใจหลักการทรงงาน โดยเฉพาะหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและครอบครัวของตัวเองได้

เลขาฯ สมช.กล่าวอีกว่า เรื่องการบังคับใช้กฎหมายก็มีความจำเป็น ในการทำผิดกฎหมายก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย จะดูแลให้มีการปกป้องพระเกียรติ ให้เป็นด้วยความระมัดระวังรอบคอบ รัดกุม และจริงจัง ไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบ รวมทั้งเรื่องของการถวายความปลอดภัยฯ ก็เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายสมพระเกียรติ

นายถวิลยังกล่าวถึงกรณีมีการนำมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองว่า สำหรับเรื่องความมั่นคงของสถาบันโดยเฉพาะกฎหมายมาตรา 112 นั้น มองว่าประเทศไทยมีความแตกต่างจากที่อื่น รวมทั้งสถานะของพระมหากษัตริย์ก็แตกต่างกัน ที่ผ่านมามีการเสนอให้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาท หรือกฎหมายอื่นๆ เหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป ตนมองว่ามันไม่ใช่เพราะฐานะของพระองค์ไม่ใช่แบบนั้น เพราะพระองค์ไม่เคยลงมาปกป้องตัวเองแต่เป็นหน้าที่ของเรา ท่านเป็นประมุขของประเทศ เป็นศูนย์รวมจิตใจของเรา ฉะนั้นการที่จะดูแลท่านเป็นพิเศษในเรื่องแบบนี้ มีเหตุผลและมีความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งในส่วนกฎหมายไม่ว่าโทษจะประหารชีวิตหรือไม่ ถ้าเราไม่ผิดก็ไม่กระทบเรา อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ใช้ความระมัดระวังและรอบคอบอย่างเต็มที่แล้ว

“อย่าว่าแต่ไม่ปิดเลย ถ้าผิดขอพระราชทานอภัยโทษ ท่านก็ทรงพระราชทานให้ ซึ่งไม่เหมือนกับที่อื่นอยู่แล้ว ผมคิดว่าขบวนการทางกฎหมายมีการป้องกันในส่วนนี้อยู่แล้ว ถ้าเราไปกล่าวหาคนอื่นแบบไม่มีมูล ก็ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นคดีและถูกลงโทษ ผมมองว่าก็เป็นเรื่องจริงทั้งนั้น เช่นการเล่นละครในช่วงวันสำคัญอย่างวันที่ 6 ตุลา กับ 14 ตุลา ที่เนื้อหาการแสดงถ้าสังคมไทยได้รับรู้ ผมเชื่อว่าไม่มีใครรับได้” นายถวิลกล่าว

นอกจากนี้ยังมีงานของการจัดระเบียบความมั่นคงทางทะเล การป้องกันภัยคุกคามข้ามชาติ กาารก่อร้ายอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งบางส่วนก็มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว และนำเสนอรัฐบาลไปแล้วก็มี ก็หวังว่าผู้ที่จะมาทำหน้าที่แทนตนจะรับหน้าที่สานต่อ

“ผมเข้ามาทำงาน 5 เดือนก็ได้ทำงานในส่วนที่คั่งค้างอยู่ สิ่งที่ตั้งความหวังไว้ตั้งแต่พ้นตำแหน่งไป เมื่อกลับเข้ามาแล้วก็จะรีบทำงานที่ตั้งใจแล้ว ก็ได้ทำตามขีดความรู้ความสามารถที่มี อาจจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็เรียนว่าทำด้วยความตั้งใจเต็มที่ ด้วยความรู้สึกว่าเป็นหนี้ประเทศชาติและประชาชน หลังจากนี้เกษียณอายุราชการแล้วก็คงไม่ได้ทำงานเหล่านี้แล้วในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำ แต่ว่างานที่เกี่ยวข้องเพื่อชาติบ้านเมืองมันไม่มีใครจะหยุดได้ ทุกคนมีหน้าที่จะต้องทำ แต่เรียนว่างานที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพก็คงไม่ได้ทำแล้ว เพราะประชาชนเสียภาษีให้กับผมมากพอสมควรแล้ว งานต่อไปที่จะทำไม่เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ถ้ามีสิ่งใดที่จะตอบแทนต่อสังคมได้ก็จะทำในสิ่งเหล่านั้นต่อไป” นายถวิลกล่าว

นอกจากนี้ นายถวิลยังกล่าวถึงผู้ที่จะรับตำแหน่งเลขาฯ สมช.หลังจากที่ตนเกษียณไปแล้วว่า ขณะนี้ได้เสนอชื่อไปแล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้จนกว่า ครม.จะเห็นชอบ แต่ขอให้มั่นใจว่านายกฯ และ ครม. อยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ชอบธรรม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่มีการเสนอชื่อเพิ่มเติมจากฝ่ายการเมือง ทั้งนี้ ช่วงที่ต่อสู้คดีกว่า 2 ปี ตนเชื่อมั่นอยู่แล้วว่าจะได้กลับมานั่งในตำแหน่งเดิม เพราะเชื่อในผลของความถูกต้อง และผลของกฎแห่งกรรมซึ่งปรากฏให้เห็นแล้วในขณะนี้

เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายถวิลกล่าวว่า “ผมไม่ได้ล้มท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เพราะคดีของผมจบที่ศาลปกครองสูงสุด แต่ท่านไพบูลย์ (นิติตะวัน อดีต ส.ว.สรรหา) เป็นคนหยิบเรื่องนี้ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็ต้องไปเป็นพยาน”

เมื่อถามว่า มั่นใจต่อการทำงานของเลขาฯ สมช.คนใหม่หรือไม่ นายถวิลกล่าวว่า เชื่อว่าทำงานได้และมีการทำงานเป็นทีมมีความรู้ความสามารถ ขอให้มั่นใจการทำงานของ สมช.ชุดใหม่ เมื่อถามว่าขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนไปจากเดิมสมัยทำงานร่วมกันเมื่อรัฐประหารปี 49 เหมือนเดิมหรือไม่ นายถวิลกล่าวว่า โดยส่วนตัวท่านยังเหมือนเดิม แต่ฐานะตำแหน่งของท่านต่างจากเดิมมาก จากปี 2549 พล.อ.ประยุทธ์เป็นเสนาธิการ แต่ตอนนี้เป็นนายกฯ และมีตำแหน่งอีกมากมาย













กำลังโหลดความคิดเห็น