xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” เปิดทำเนียบขาวต้อนรับ “โมดี” ผู้นำแดนภารตะอบอุ่น แม้เคยถูกมะกันแบนวีซาหลายปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย และประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ
เอพี - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียได้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันข้ามทวีป ด้วยการหันมามองความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ในอนาคตในแง่ดี ถึงแม้จะยังมีความกังวลกันว่า สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นซึ่งครั้งหนึ่งสองชาติประชาธิปไตยเคยมีให้แก่กันจะจืดจางลงแล้ว

การประชุมกับ โอบามา และรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ที่ห้องทำงานของผู้นำแดนอินทรีวันนี้ (30 ก.ย.) จะเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดในการเยือนทำเนียบขาวเป็นเวลา 2 วันของโมดี โดยจะมีการจัดพิธีการต้อนรับผู้นำแดนภารตะอย่างเป็นทางการหน้าเวสต์วิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องทำงานประธานาธิบดี ภายหลังที่เย็นวันก่อน โอบามา ได้รับรองนายกรัฐมนตรีโมดีด้วยการร่วมรับประทานมื้อค่ำเป็นการส่วนตัว แม้ว่า โมดี ซึ่งเป็นชาวฮินดูผู้เคร่งครัดกำลังถือศีลอดอยู่ก็ตาม

โดยทั่วไปแล้ว โอบามา หรือบรรดาผู้นำสหรัฐฯ คนอื่นๆ จะรับรองผู้นำจากต่างแดน ณ ทำเนียบขาวโดยใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งวัน การที่โอบามาวางแผนต้อนรับนาน 2 วันครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และสะท้อนให้เห็นว่า ทำเนียบขาวปรารถนาจะต้อนรับชายผู้นี้อย่างอบอุ่น ทั้งที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกห้ามเข้าสหรัฐฯ นอกจากนี้ โมดียังจะเดินทางไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับ ไบเดน และ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศ ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันนี้ (30)

จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า “ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย หรือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ หรือประเด็นอื่นๆ ในระดับภูมิภาค ล้วนแต่มีขอบเขตอันกว้างขวาง ให้อินเดียและสหรัฐฯ ทำงานร่วมกันได้อย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันให้ทั้งสองประเทศได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน”

โมดี ซึ่งเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราตตั้งแต่ปี 2001 มาจนกระทั่งถึงปีนี้ ถูกวิจารณ์ว่าเพิกเฉยต่อเหตุจลาจลทางศาสนาที่คร่าชีวิตชาวมุสลิมเสียชีวิตไปกว่า 1,000 คน จนถูกสหรัฐฯ ปฏิเสธการออกวีซ่าให้ตั้งแต่ปี 2005 ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายอเมริกันปี 1998 ซึ่งห้ามมิให้ชาวต่างชาติที่พัวพัน “การละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างร้ายแรง” เข้าประเทศ

ปัญหาหนึ่งที่โมดีต้องเผชิญในการเดินทางมาเยือนสหรัฐฯ รอบนี้ คือ องค์การสิทธิมนุษยชนกำลังเสนอเงินรางวัล 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ใครก็ตามที่ขันอาสานำหมายเรียกจากศาลนิวยอร์กไปส่งถึงมือโมดี เพื่อให้เขาไปชี้แจงต่อศาล ภายหลังถูกศูนย์กระบวนการยุติธรรมอเมริกัน (American Justice Center) ยื่นฟ้องเอาผิดเขาฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและสังหารผู้อื่นโดยวิธีศาลเตี้ย

โมดี ได้ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และในฐานะที่เขาเป็นผู้นำประเทศ เขาจึงมีเอกสิทธิคุ้มกันจากการดำเนินคดีในศาลสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกล่าวว่า พวกเขากำลังกังขาว่าประเด็นปัญหานี้จะครอบงำบรรยากาศของการเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้
ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และสามีผู้เป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บิล คลินตัน ถ่ายภาพร่วมกับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย
ทำเนียบขาวระบุว่า ระหว่างการหารือกัน โอบามา และโมดีจะมุ่งประเด็นสำคัญไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือด้านความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และวาระอื่นๆ นอกจากนี้พวกเขายังจะหารือกันถึงวิกฤตระดับภูมิภาค เป็นต้นว่า สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ประเทศที่สหรัฐฯ เริ่มถอนกำลังทหารออกมาหลังส่งไปประจำการนาน 13 ปี และความพยายามต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรง “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย ที่วอชิงตันกำลังผลักดัน

ขณะที่สายสัมพันธ์ระหว่างกองทัพแดนอินทรี กับกองทัพแดนภารตะ และการค้าด้านกลาโหมระหว่างทั้งสองประเทศกำลังเจริญรุดหน้า สายสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกลับสั่นคลอนหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยวอชิงตันไม่พอใจที่ อินเดียไม่เปิดประเทศให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าไปลงทุนให้มากขึ้น และปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ความท้าทายในเรื่องข้อตกลงว่าด้วยการใช้นิวเคลียร์เชิงสันติ ตลอดจนการจับกุมและเปลื้องผ้านักการทูตหญิงอินเดียที่นิวยอร์กที่สร้างความร้าวฉานให้แก่สายสัมพันธ์ของสองประเทศเมื่อปีที่แล้ว

ก่อนที่ โมดีจะเดินทางไปเยือนวอชิงตัน เขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียหลายพันคน ซึ่งไปรวมตัวกันที่สนามกีฬา เมดิสันสแควร์การ์เดน ในนครนิวยอร์กเพื่อรอพบผู้นำคนใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสที่มีน้อยมาก

เจ้าหน้าในรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ว่า ความพิเศษอย่างหนึ่งในการเดินทางเยือนอาทิตย์นี้ คือการที่โอบามา และโมดีจะมีโอกาสได้เริ่มสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ โอบามาหรือหนึ่งในบรรดาผู้นำชาติตะวันตกที่โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับโมดี ภายหลังที่พรรคการเมืองชาตินิยมฮินดู “ภารติยะชนตะ” (บีเจพี) ของเขาก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล จากการกวาดคะแนนเสียงล้นหลามในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม

การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้เปรียบเสมือนการประกาศชัยชนะของโมดี ผู้นำซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ๋อยร้านน้ำชา

มิลัน ไวชนัฟ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียใต้ ณ กองทุนคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตันกล่าวว่า “ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน เขาสามารถเปลี่ยนสถานภาพจากบุคคลไม่พึงประสงค์ (ของสหรัฐฯ) มาเป็นบุคคลผู้ทรงเกียรติที่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น” ในห้องทำงานส่วนตัวของโอบามา

กำลังโหลดความคิดเห็น