xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ยิว “จีบ” ผู้นำอินเดียเยือนอิสราเอล - ประกาศ “พัฒนาสัมพันธ์” แน่นแฟ้นกับแดนภารตะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล
เอเอฟพี – นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล และนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ให้คำมั่นว่าจะยกระดับความร่วมมือของสองชาติ ซึ่งนับเป็นการแสดงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของสองประเทศที่น่าจับตามองที่สุดในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรีทั้งสองมีสีหน้าที่ฉายแววแห่งความหวัง ขณะหารือกันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในนครนิวยอร์กวานนี้ (28 ก.ย.) รอบนอกการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งโมดีได้มาเข้าร่วมเป็นครั้งแรก นับแต่พรรคชาตินิยมฮินดูของเขาได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา
(จากซ้าย) นายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ แห่งปากีสถาน และนายกรัฐมนตรี โมดี นเรนทรา แห่งอินเดีย
เนทันยาฮูกล่าวว่า รู้สึก “ยินดี” ที่จะได้พบโมดี และเอ่ยปากเชิญเขาเดินทางเยือนอิสราเอล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีแดนภารตะคนไหนมาก่อน

เนทันยาฮูกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกันสั้นๆ ระหว่างการประชุมว่า “ผมเชื่อว่า หากเราทำงานร่วมกัน ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งคนอื่นๆ ด้วย”

เนทันยาฮูกล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้มีโอกาสได้กระชับสัมพันธ์กับอินเดียให้แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด” พร้อมทั้งระบุว่า อิสราเอลและอินเดียต่างก็เป็นดินแดนแห่ง “อารยธรรมโบราณ” ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

โมดี ได้เล่าถึงชุมชนชาวยิวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในอินเดีย ให้เนทันยาฮูฟังอย่างภูมิอกภูมิใจ

โมดีกล่าวว่า “อินเดียเป็นเพียงประเภทเดียวที่ลัทธิต่อต้านยิวไม่เคยแทรกซึมเข้ามาได้ และเป็นประเทศที่ชาวยิวไม่เคยต้องทุกข์ร้อน ทั้งยังสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับสังคมของเราได้อย่างไม่แปลกแยก”

ทั้งนี้ แดนภารตะเพิ่งผูกไมตรีกับอิสราเอลเมื่อปี 1992 โดยบรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า ความล่าช้าเช่นนี้อาจเป็นผลมาจากความกังวลในหมู่ชาวมุสลิม ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในอินเดีย และเนื่องจากอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องรักษาสายสัมพันธ์กับบรรดาชาติอาหรับอันร่ำรวย

อย่างไรก็ตาม ในสมัยที่พรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี) ของโมดี ซึ่งยึดมั่นในอัตลักษณ์ฮินดู ดำรงตำแหน่งรัฐบาลก่อนหน้านี้ อินเดียก็สามารถพัฒนาสายสัมพันธ์กับอิสราเอลได้อย่างรวดเร็ว ดังเห็นได้จากการที่ แอเรียล ชารอน กลายเป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนแรกที่เดินทางเยือนกรุงนิวเดลี เมื่อปี 2003

ต่อมา เมื่อคองเกรสปาร์ตี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหัวเอียงซ้ายก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลในปี 2004 อินเดียก็รักษาระยะห่างกับอิสราเอลเป็นอย่างมาก แม้ว่าทั้งสองประเทศจะจัดการประชุมระหว่างรัฐมนตรีหลายครั้งก็ตาม กระนั้น ข้อมูลทางสถิติของแดนภารตะชี้ว่า การค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างอินเดียกับอิสราเอลก็ยังทะยานจาก 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1992 ขึ้นเป็น 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และรัฐยิวก็มองว่า อินเดียเป็นตลาดที่น่าหลงใหลสำหรับอุตสาหกรรมด้านกลาโหม

อิสราเอลเป็นหนึ่งในประเทศเพียงไม่กี่แห่งที่ โมดี เดินทางไปเยือนก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

แม้ว่าจะเป็นที่โจษจันว่า โมดี ชอบดำเนินนโยบายการทหารมากกว่านโยบายการทูต แต่ผู้นำคนนี้ก็สร้างความประหลาดใจให้แก่เหล่าผู้สังเกตการณ์ โดยนับตั้งแต่ชนะเลือกตั้ง เขาก็พบปะหารือกับผู้นำของหลายประเทศ รวมถึง นายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ แห่งปากีสถาน และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งจีน

อย่างไรก็ตาม บรรดาเจ้าหน้าที่อินเดียกล่าวว่า โมดีไม่มีแผนหารือกับ ประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ ที่นิวยอร์ก

โมดี ซึ่งเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราตตั้งแต่ปี 2001 มาจนกระทั่งถึงปีนี้ ถูกวิจารณ์ว่าเพิกเฉยต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และไม่พยายามใช้อำนาจยับยั้งการโจมตีแก้แค้นชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อย ในขณะที่ โมดีปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด แต่ถูกสหรัฐฯ ปฏิเสธการออกวีซ่าให้ตั้งแต่ปี 2005 ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายอเมริกันปี 1998 ซึ่งห้ามมิให้ชาวต่างชาติที่พัวพัน “การละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างร้ายแรง” เข้าประเทศ
(ซ้าย) ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งจีน ขณะเดินทางเยือนกรุงนิวเดลี ของอินเดีย เพื่อร่วมหารือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองชาติยักษ์ใหญ่ในทวีปเอเชีย (18 ก.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น