เอเอฟพี - ประชาชนราว 500 คนเมื่อวันจันทร์(21) จัดการประท้วงเงียบในกรุงโตเกียว เพื่อคัดค้านเหตุนองเลือดในฉนวนกาซา ถือเป็นการรวมตัวกันมากที่สุดในเมืองหลวงของญี่ปุ่น นับตั้งแต่เหตุรุนแรงเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นเดือน ท่ามกลางการประท้วงในฝรั่งเศส ประณามปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลได้เลี้ยวเข้าสู่จลาจล จนทางการถึงกับประณามว่าเป็นพฤติกรรมที่เลยเถิดจากฝีมือของพวกต่อต้านยิว
ขณะที่ท้องฟ้าค่อยๆมืดลง เหล่าผู้ประท้วงในกรุงโตเกียวก็ร่วมกันจุดเทียนและเรียงแถวแปรขบวนเป็นตัวหนังสือสะกดเป็นคำว่า "กาซา" ในสวนสาธารณะของเมือง และสงบนิ่งไว้อาลัยแก่เหยื่อจากเหตุความรุนแรงในดินแดนของชาวปาเลสไตน์เป็นเวลา 1 นาที
บางส่วนโบกธงปาเลสไตน์ ขณะที่บางคนก็ถือป้ายข้อความอ่านได้ว่า "หยุดฆ่าในฉนวนกาซา ญี่ปุ่นห่วงใย" ทั้งนี้โซโนโกะ คาวาคามิ หนึ่งในแกนนำผู้ประท้วงบอกว่า "เราต้องการให้ผู้คนในกาซารู้ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวบนโลกนี้ กาซาอยู่ห่างจากญี่ปุ่นมาก เราจะยังเดินหน้าทำทุกอย่างเท่าที่เราจะสามารถทำได้ที่นี่"
ระหว่างการชุมนุมอย่างสันติ เหล่าสมาชิกแกนนำที่เป็นชาวมุสลิม คริสเตียน พุทธและผู้ศรัทธายิว ยังได้สลับกันกล่าวส่งสารสั้นๆเรียกร้องขอให้ยุติความรุนแรง
ตอนนี้ยอดผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเพิ่มขึ้นมากกว่า 500 ศพ ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ส่วนอิสราเอลบอกว่ามีทหารของพวกเขาถูกฆ่า 18 นาย นับเป็นการสูญเสียด้านกำลังพลมากที่สุดในรอบ 8 ปี นอกจากนี้แล้วยังมีพลเรือนเสียชีวิตอีก 2 คน
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ตามเมืองต่างๆทั่วยุโรป เช่นเดียวกับเอเชียที่มีผู้เข้าร่วมน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการประท้วงในฝรั่งเศส กลับเลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรง เมื่อเกิดการจลาจลและปะทะกับตำรวจ จนทำให้ถูกตำรวจจับกุมไปหลายสิบคน
การประท้วงเมื่อวันอาทิตย์(20) บริเวณเขตซาร์แซลส์ แถบชานเมืองทางเหนือของกรุงปารีส เลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรงเป็นครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์ ด้วยมีร้านค้าหลายแห่งถูกปล้นสะดม ตำรวจปราบจลาจลต้องใช้แก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยางเข้าใส่ฝูงชนที่ก่อความวุ่นวาย
ความวุ่นวายดังกล่าว ส่งผลให้ทางการตัดสินใจออกคำสั่งห้ามชุมนุมท่ามกลางความกังวลว่าชุมชนชาวยิวจะตกเป็นเป้าหมาย หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีความพยายามบุกเข้าไปยังโบสถ์ของศาสนายิว 2 แห่งในกรุงปารีส
แบร์นาร์ด กาเซโนเว รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศส กล่าวโทษพฤติกรรมที่เลยเถิดจากฝีมือของพวกต่อต้านยิว หลังการประท้วงต่อต้านปฏิบัติการโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอล ดำดิ่งสู่ความรุนแรง ขณะที่ฝูงชนฝ่ายสนับสนุนปาเลสไตน์ที่โกรธแค้นพยายามเข้าเล่นงานแหล่งธุรกิจท้องถิ่นของชาวยิวเพื่อแก้แค้น
เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในซาร์แซลส์ มีความคล้ายคลึงกับการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ (19) ในเขตทางเหนือของกรุงปารีส เมื่อการชุมนุมที่เริ่มต้นอย่างสงบ กลับลุกลามบานปลายจนเกินควบคุม ส่งผลให้เกิดการปะทะกับตำรวจปราบจลาจล และมีการจับกุมผู้ประท้วงหลายสิบคน