xs
xsm
sm
md
lg

WHO เตือน “ผู้ติดเชื้ออีโบลา” จะทะลุ 20,000 คนในเดือน พ.ย. หากไม่มีแผนสกัดโรคที่ได้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสเปนกำลังเข็นเตียงของบาทหลวง มานูเอล การ์เซีย วิเอโค ซึ่งติดเชื้ออีโบลาในเซียร์ราลีโอน เตรียมไปส่งยังโรงพยาบาลการ์โลสที่ 3 ในกรุงมาดริด เมื่อวันที่ 22 กันายน
เอเอฟพี - ยอดผู้ติดเชื้ออีโบลาจะขยับเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวเป็น 20,000 คนภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะเพิ่มสัปดาห์ละ “หลายพันคน” หากทั่วโลกยังไม่มีมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดที่ได้ผล งานวิจัยจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เผยแพร่วันนี้ (23 ก.ย.) ระบุ

ผลวิจัยจาก WHO เตือนว่า “หากไม่มีการปรับปรุงวิธีควบคุมโรค จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะขยับจากหลายร้อยเป็นหลายพันคนต่อสัปดาห์ในช่วงไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้”

การระบาดอย่างรุนแรงของเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันได้ตกคร่าชีวิตผู้ป่วยไปแล้ว 2,800 คน และทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 5,800 คน

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาของ WHO ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ในวันนี้ (23) ทำนายว่า หากไม่มีมาตรการต่อสู้ที่ได้ผล “ภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน ยอดรวมผู้ติดเชื้อทั้งที่ได้รับการยืนยันและผู้ต้องสงสัยในกินีจะเพิ่มเป็น 5,925 คน ไลบีเรีย 9,939 คน และเซียร์ราลีโอน 5,063 คน”

หากเป็นไปตามที่ WHO คาด ยอดผู้ติดเชื้อรวมกัน 3 ประเทศจะสูงกว่า 20,000 คนในช่วงเวลาดังกล่าว และหมายความว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเชื้อมรณะก็จะเพิ่มตามไปด้วย เพราะผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า อัตราการเสียชีวิตที่แท้จริงในเวลานี้สูงกว่า 1 ใน 2 ซึ่งเป็นที่เชื่อถือกัน

ผลวิจัยระบุว่า หากพิจารณาเฉพาะยอดผู้เสียชีวิตและผู้ที่หายจากโรค อัตราการตายจากเชื้ออีโบลาจะอยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 71

อีโบลาจัดเป็นไวรัสที่อันตรายต่อมนุษย์มากที่สุดชนิดหนึ่ง และสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อล้มป่วยหนักภายในเวลาไม่กี่วัน โดยจะมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ อาเจียน ท้องร่วง และส่วนใหญ่จะมีเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะภายในร่วมด้วย

การแพร่ระบาดซึ่งเริ่มขึ้นอย่างเงียบๆ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่ประเทศกินี ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าการระบาดครั้งก่อนๆที่ผ่านมารวมกันเสียอีก

ไวรัสอีโบลาเริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 1976 เมื่อมันได้คร่าชีวิตพลเมืองสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกไป 280 ราย และจัดว่าเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุดรองจากครั้งนี้

คริสโตเฟอร์ ดาย หนึ่งในผู้เรียบเรียงงานวิจัยซึ่ง WHO จัดทำร่วมกับมหาวิทยาลัย อิมพีเรียล คอลเลจ กรุงลอนดอน ระบุว่า ไวรัสที่ระบาดในแอฟริกาตะวันตกขณะนี้ไม่ได้มีรูปแบบแตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคือการเคลื่อนไหวของประชากรที่เพิ่มขึ้น

“ประชากรเหล่านี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีการเคลื่อนไหว และติดต่อสัมพันธ์กันอย่างมาก” เขากล่าว

ธรรมเนียมปฏิบัติในท้องถิ่น เช่น การอาบน้ำศพหรือสัมผัสร่างผู้ตายด้วยมือเปล่า ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไวรัสแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเชื้ออีโบลาจะติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ

คริสเติล ดอนเนลลี อาจารย์ด้านระบาดวิทยาสถิติจากมหาวิทยาลัย อิมพีเรียล คอลเลจ ซึ่งร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ อ้างถึงระบบบริการสาธารณสุขที่ยังด้อยประสิทธิภาพใน 3 ประเทศซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน

“ยกตัวอย่างไนจีเรียซึ่งระบบสาธารณสุขได้มาตรฐานกว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจึงค่อนข้างจำกัด แม้จะมีคนนำเชื้อมาแพร่ในเมืองใหญ่ๆอย่าง ลากอส และ พอร์ตฮาร์คอร์ต ก็ตาม” เธอกล่าว
เตียงผู้ป่วยใน ไอส์แลนด์ คลินิก ซึ่งเป็นศูนย์รักษาผู้ป่วยอีโบลาที่เปิดใหม่ในกรุงมันโรเวีย เมืองหลวงของไลบีเรีย
กำลังโหลดความคิดเห็น