เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ไลบีเรียในวันพุธ (20 ส.ค.) ส่งหทารและตำรวจติดอาวุธหนักเข้าปิดล้อมย่านแห่งหนึ่งในกรุงมันโรเวีย ที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของอีโบลา หลังมีการประกาศเคอร์ฟิว ก่อความขุ่นเคืองแก่ชาวบ้านที่ติดอยู่ภายใน ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในแอฟริกาตะวันตก ทำท่าจะเกิดขึ้นในประเทศที่ 5 เมื่อพบผู้เสียชีวิตหลายคนที่มีอาการคล้ายติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ในพื้นที่ห่างไกลของคองโก จนต้องรุดผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบ
เมื่อวันอังคาร (19) ประธานาธิบดีเอเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ออกคำสั่งเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากที่พักอาศัยยามค่ำคืน ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่วันพุธ (20) พร้อมประกาศให้ 2 ชุมชนเป็นพื้นที่กักกันเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา โดยได้แก่ชุมชนแออัดเวสต์พอยต์ในกรุงมันโรเวีย และเมืองโดโล ทางใต้ของเมืองหลวง
ชาวบ้านในเวสต์พอยต์ เขตที่มีประชากร 75,000 คน ในวันพุธ (20) แสดงปฏิกิริยาโกรธเกรี้ยวต่อคำสั่งดังกล่าว ต่างพากันขว้างปาก้อนกินและตะโกนด่าทอใส่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง “ดูผู้หญิงคนนี้ทำกับเราสิ เธอทำกับเรายังกับไม่ใช่คน” แพทริก เวสเซห์ ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวพาดพิงถึงประธานาธิบดีเซอร์ลีฟ “คุณไม่อาจขังพวกเราอย่างทันทีทันใดโดยไม่แจ้งให้เราทราบก่อน แล้วตอนนี้เด็กๆ จะมีอะไรกินล่ะ”
ทั้งนี้ต่อมามีรายงานว่า ได้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย
กลุ่มวัยรุ่นถือไม้ตะบองบุกเข้าไปยังศูนย์กักกันโรคอีโบลาในเวสต์พอยต์เมื่อวันเสาร์ (16) จนคนไข้ 17 คนหลบหนี เพิ่มความหวาดกลัวต่อฉากแห่งฝันร้ายของการแพร่ระบาดอีโบลาไปทั่วเมือง อย่างไรก็ตาม พวกผู้ป่วยทั้งหมดได้เดินทางกลับมาแล้ว จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีข่าวสารในวันอังคาร (19) ไม่นานก่อนที่ประธานาธิบดีจะแถลงมาตรการใหม่ซึ่งมีเป้าหมายต่อสู้กับไวรัสมรณะชนิดนี้
ไลบีเรีย คือชาติที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดจากการแพร่ระบาดของอีโบลารอบนี้ ด้วยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 466 รายในผู้ติดเชื้อ 834 คน ขณะที่ชาวบ้านในเวสต์พอยต์ คร่ำครวญว่าพวกพ่อค้าแม่ค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเป็น 2 เท่า หลังต้องเผชิญคำสั่งห้ามเคลื่อนไหวเข้าและออกจากชุมชนแออัด
นับตั้งแต่เริ่มพบการแพร่ระบาดในช่วงต้นปี จนถึงตอนนี้มีอยู่ 4 ชาติที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ไลบีเรีย กินี เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ต้องรุดส่งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขและทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่จังหวัดเอกาเตอร์หลังได้รับแจ้งว่าพบประชาชนหลายคนเสียชีวิตจากโรคติดต่อชนิดหนึ่งซึ่งมีอาการคล้ายอีโบลา
กระนั้นก็ดียังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับอีโบลาที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในกินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอนและไนจีเรีย ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 1,350 ศพหรือไม่
“อาการป่วยกำลังแพร่ระบาดในโบเอนเด แต่เรายังไม่รู้ต้นตอ” ไมเคิล แวงกี โฆษกสำนักงานรัฐบาลกล่าว “ตอนเช้าวันนี้ รัฐบาลส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยชีวเวชศาสตร์แห่งชาติที่นำโดยคาบังเก นัมบี รัฐมนตรีสาธารณสุขลงพื้นที่แล้ว”
ชาวบ้านในจังหวัดเอกาเตอร์ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามเล่าวว่ามีประชาชนราว 10 คนเสียชีวิต ในนั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หลังจากมีไข้ ท้องร่วง มีเลือดไหลออกจากหูและโพรงจมูก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอาการของคนติดเชื้อไวรัสอีโบลา
อนึ่ง คองโกไม่ได้มีชายแดนติดกับเหล่าประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก แต่ชาติแห่งนี้เคยประสบกับการแพร่ระบาดของมันมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่ไวรัสมรณะชนิดนี้ถูกพบครั้งแรกใกล้แม่น้ำอีโบลา ทางเหนือของคองโกในปี 1976