เอเอฟพี - เซียร์ราลีโอนระบุตรวจพบเหยื่ออีโบลาอีก 70 ราย รวมถึงผู้ติดเชื้อใหม่ 150 ราย เมื่อสิ้นสุดมาตรการเคอร์ฟิวเป็นเวลา 3 วัน นอกจากนั้น รัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศแอฟริกาตะวันตกรายนี้ประกาศว่า มาตรการนี้ยังประสบความสำเร็จ ในแง่ของการที่อาสาสมัครสาธารณสุขสามารถเข้าถึงเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคร้ายแรงนี้แก่ประชาชนได้ถึง 80%
เซียร์ราลีโอนออกคำสั่งห้ามประชาชน 6 ล้านคนทั่วประเทศ ออกนอกบ้านเป็นเวลา 72 ชั่วโมงจนกระทั่งถึงเที่ยงคืนวันอาทิตย์ (21 ก.ย.) เพื่อต่อสู้กับการระบาดของอีโบลา ซึ่งได้ที่คร่าชีวิตผู้คนในแอฟริกาตะวันตกไปแล้วกว่า 2,600 ราย นับตั้งแต่ต้นปีนี้
สตีเวน เกาเจีย หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินของเซียร์ราลีโอน เปิดเผยเมื่อค่ำวันอาทิตย์ว่า ผลจากการประกาศห้ามออกนอกบ้าน ทำให้สามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกอย่างน้อย 150 ราย และร่างผู้เสียชีวิต 70 ราย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขเหล่านี้มาจากภายในและรอบๆ เมืองหลวงเท่านั้น ยอดรวมของทั้งประเทศน่าจะสูงกว่านี้มาก
ภายใต้มาตรการเคอร์ฟิว 3 วันคราวนี้ มีการยกเว้นให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความจำเป็น เช่น แพทย์และพยาบาล ตลอดจนอาสาสมัครอีกราว 30,000 คนที่ตระเวนแจกสบู่และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในย่านที่โรคนี้แพร่ระบาด
กระนั้น ผู้สังเกตการณ์อิสระยังกังวลกับคุณภาพคำแนะนำ โดยที่มีการร้องเรียนว่า อาสาสมัครจำนวนมากขาดความรู้ในเรื่องที่ตนเองจะให้คำปรึกษา นอกจากนั้นดูเหมือนว่า มาตรการปิดประเทศคราวนี้โดยรวมก็ถือประสบความสำเร็จในบางระดับเท่านั้น
ขณะเดียวกัน พวกองค์กรให้ความช่วยเหลือและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเข้าถึงประชาชน 1.5 ล้านครัวเรือนภายในเวลาเพียง 3 วัน รวมทั้งมองว่าการสั่งห้ามประชาชนออกจากบ้าน อาจบ่อนทำลายความไว้วางใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชน
ทว่า อาบูบาการ์ โฟฟานาห์ รัฐมนตรีสาธารณสุขเซียร์ราลีโอนยืนยันว่า อาสาสมัครสามารถเข้าถึงประชาชน 80% จึงถือว่า มาตรการนี้ประสบความสำเร็จ และมีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลอาจออกมาตรการในลักษณะเดียวกันนี้อีกในอนาคต
กระนั้น โฟฟานาห์สำทับว่าไม่สามารถให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่พบในช่วง 3 วันที่ผ่านมาได้ เนื่องจากยังต้องรอข้อมูลจากส่วนอื่นๆ ของประเทศ และจะเปิดเผยทันทีที่ได้รับรายงานครบถ้วน
นอกจากนี้ เซียร์ราลีโอนยังส่งตัวมานูเอล การ์เซีย เวียโจ สมาชิกกลุ่มมิชชันนารีสเปนกลับไปยังกรุงมาดริด โดยที่ เวียโจเป็นชาวสเปนคนที่ 2 ที่ติดเชื้ออีโบลา หลังจากก่อนหน้านี้มีบาทหลวงสเปนวัย 75 ปี กลายเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ถูกส่งตัวกลับประเทศเพื่อรักษาโรคนี้
กำลังมีความกังวลกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การระบาดของไวรัสชนิดนี้ฉุดเศรษฐกิจของพวกประเทศที่โรคลุกลาม เนื่องจากแรงงานต้องขังตัวเองในบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ขณะที่การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงัก
ในบรรดาชาติที่เกิดการระบาดระลอกนี้ ไลบีเรียประสบกับปัญหาใหญ่หลวงที่สุด ถึงขนาดที่แพทย์และพยาบาลต้องหันหลังให้เสียงร้องขอชีวิตจากผู้ป่วย เนื่องจากไม่มีเตียงและบุคลากรรองรับ
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังเผยว่า มาตรการหยุดยั้งการระบาดของโรคร้ายนี้ ยังถูกบ่อนทำลายจากความเชื่อและประเพณีการทำศพของชาวบ้าน ซึ่งปฏิเสธคำแนะนำที่ว่าอย่าแตะต้องร่างผู้เสียชีวิตจากอีโบลา โดยยังคงทำตามประเพณีที่จะต้องล้างตัวให้ศพ
อย่างไรก็ดี ไลบีเรียประกาศเมื่อวันอาทิตย์ว่า จะมีเตียงผู้ป่วยเพิ่มอีก 4 เท่าเป็น 1,000 เตียงในเมืองหลวงมันโรเวียประมาณปลายเดือนหน้า
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นสองสัปดาห์หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (ฮู) เตือนไลบีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่อีโบลาระบาดรุนแรงที่สุดโดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,450 รายว่า จะพบผู้ติดเชื้อใหม่หลายพันคนในเร็ววันนี้
ทั้งนี้ ฮูมีกำหนดเผยแพร่ข้อมูลล่าสุดของคณะกรรมาธิการฉุกเฉินด้านอีโบลาที่มีหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อของอีโบลาในวันจันทร์ (22)
ขณะเดียวกัน กองทหารอเมริกันชุดที่ 2 จากทั้งหมด 3,000 คน ได้เดินทางถึงกรุงมันโรเวีย เมื่อวันอาทิตย์ เพื่อร่วมต่อสู้กับการระบาดของอีโบลา โดยทหารเหล่านี้จะเตรียมการจัดตั้งศูนย์บัญชาการ โดยที่มี พลตรีดาริล วิลเลียมส์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบภารกิจการฝึกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไลบีเรีย รวมทั้งจัดตั้งหน่วยรักษาพยาบาลเพิ่มเติม
ส่วนที่ไนจีเรีย นักเรียนนักศึกษาจำนวนมากเตรียมกลับเข้าห้องเรียนในวันจันทร์ หลังจากต้องปิดภาคฤดูร้อนก่อนกำหนดจากการระบาดของอีโบลา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศนี้ไป 8 ราย