xs
xsm
sm
md
lg

ยอดติดเชื้ออีโบลาทะลุ 5 พัน เซียร์ราลีโอนเริ่มปิดประเทศ-UN ลงมติเป็นภัยคุกคามโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - ยอดผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกเพิ่มขึ้นเหนือ 5,000 รายและในนั้นกว่าครึ่งลงเอยด้วยการเสียชีวิต องค์การอนามัยโลกเผยข้อมูลล่าสุดในวันพฤหัสบดี (18 ก.ย.) ขณะที่ เซียร์ราลีโอน หนึ่งในชาติที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด เริ่มปิดประเทศ 3 วันเพื่อสกัดการแพร่ระบาดตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป ท่ามกลางคำเตือนว่ามันอาจส่งผลกระทบในทางตรงกันข้าม ความเคลือนไหวที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติเป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ด้านสาธารณสุขให้ไวรัสมรณะนี้เป็นภัยคุกคามสันติภาพและความมั่นคงของโลก

หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (18 ก.ย.) จากข้อมูลจนถึงวันที่ 14 กันยายน ยอดผู้ติดเชื้ออีโบลาใน 5 ชาติแอฟริกาตะวันตก อยู่ที่ 5,357 คนและเสียชีวิตแล้ว 2,630 ราย โดยใน 3 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดอย่างกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ร้อยละ 45 เพิ่งติดเชื้อในช่วง 3 สัปดาห์หลังสุดนี้เอง

ในกินี ชาติที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดเมื่อช่วงต้นปี อีโบลาคร่าชีวิตชาวบ้านไป 601 คน หรือร้อยละ 64 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด 942 คน ในนั้นร้อยละ 33 เพิ่มติดเชื้อในช่วง 21 วันหลังสุดจนถึงวันที่ 14 กันยายน ส่วนที่ไลบีเรีย ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด พบผู้เสียชีวิต 1,459 รายจากผู้ติดเชื้อ 2,720 คน โดยช่วง 3 สัปดาห์หลังสุด พบผู้ติดเชือรายใหม่ถึง 1,383 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 52

ที่เซียร์ราลีโอน พบผู้เสียชีวิตจากอีโบลา 562 คน หรือ 32 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,673 คน โดยในจำนวนนั้นมีถึงร้อยละ 39 ที่เพิ่งติดเชื้อในช่วง 21 วันหลังสุด ขณะที่ในจีเรีย จนถึงวันที่ 14 กันยายน มีผู้เสียชีวิต 8 ราย นับตังแต่ไวรัสเดินทางเข้าสู่ประเทศแห่งนี้ผ่านเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังไลบีเรียคนหนึ่งในช่วงกลางเดือนกรกฏาคม ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในลากอส วันที่ 25 กรกฎาคม ส่วนผู้ติดเชื้อมีทั้งหมด 21 คน โดย 6 คนหรือร้อยละ 38 ติดเชื้อในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้านเซเนกัล ยืนยันผู้ติดเชื้อ 1 รายตามเดิม โดยเป็นนักศึกษาชาวกินีที่เดินทางข้ามพรมแดนเข้ามาก่อนมีคำสั่งปิดชายแดนในวันที่ 21 สิงหาคมไม่นาน โดยตอนนี้นักศึกษารายดังกล่าวฟื้นไข้แล้ว แต่ประทเศแห่งนี้จะยังไม่ประกาศปลอดการติดต่อจนกว่าจะครบ 42 วัน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งเป็นที่ขาดแคลนอยู่แล้วในเหล่าประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลา กลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องจ่ายค่าชดใช้ราคาแพงแก่ไวรัสมรณะชนิดนี้ ด้วยใน 4 ชาติแอฟริกาตะวันตก พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดเชื้อโรคติดต่อร้ายแรงนี้มากถึง 318 คน และในนั้นเสียชีวิตแล้ว 151 ราย

โดยหากแยกเป็นรายประเทศแล้ว พบว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไลบีเรียได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด โดยติดเชื้อถึง 172 ราย เสียชีวิต 85 คน รองลงมาคือเซียร์ราลีโอน ติดเชื้อ 74 ราย เสียชีวิต 31 คน ตามมาด้วยกินี ติดเชื้อ 61 ราย เสียชีวิต 30 คน และไนจีเรีย ติดเชื้อ 11 ราย เสียชีวิต 5 คน

ขณะเดียวกัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกก็ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของอีโบลาที่ไม่เกี่ยวข้องกัน โดยจนถึงวันที่ 15 กันยายน พบผู้เสียชีวิตแล้ว 40 ศพจากจำนวนผู้ติดเชื้อ 71 คน

ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้นเรื่อยๆถูกเผยแพร่ออกมา ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (18 ก.ย.) เซียร์ราลีโอน เตรียมพร้อมปิดประเทศอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนเป็นเวลา 3 วัน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของอีโบลา ความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงเตือนจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญว่าอาจจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลง

ประชากร 6 ล้านคนของประเทศแห่งนี้จะถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้านตั้งแต่เที่ยงคืนวันพฤหัสบดีเป็นต้นไป (ตรงกับเมืองไทย 07.00 น.เช้าวันศุกร์) ขณะที่อาสาสมัครเกือบ 30,000 คนจะเข้าตรวจค้นที่พักอาศัยแบบหลังต่อหลังเพื่อค้นหาคนไข้ที่หลบอยู่หรือศพที่ถูกซุกซ่อนภายในบ้าน

“ไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดออก มาตรการปิดประเทศจะเดินหน้าต่อไประหว่างช่วงเวลา 3 วันนี้ เพื่อให้ภารกิจเสร็จสิ้น” นายสตีเน กาโอเจีย หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินอีโบลาของรัฐบาลบอก พร้อมเผยว่าจะมีการแจกจ่ายสบู่ก่อนและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิธีป้องกันการติดต่อแก่ประชาชน เช่นเดียวกับจัดตั้งทีมเฝ้าระวังอีโบลาระดับชุมชนในลักษณะของการคอยตรวจตราละแวกบ้าน

รัฐบาลบอกว่า ทีมเหล่านี้จะไม่เข้าไปในบ้านเรือนประชาชนและไม่มีหน้าที่รวบรวมคนไข้หรือเก็บศพ แต่จะเป็นคนแจ้งมายังหน่วยฉุกเฉินหรือทีมฝังศพอีกที ขณะเดียวกันได้มีการเสริมเตียงคนไข้พิเศษตามโรงเรียนและโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ในนั้นรวมถึงจำนวน 200 เตียงทั่วกรุงฟรีทาวน์ ด้วยรัฐบาลคาดหมายว่ามาตรการตรวจค้นบ้านเรือนแบบหลังต่อหลัง จะทำให้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติมอีกร้อยละ 20

มาตรการห้ามออกนอกบ้าน มีข้อยกเว้นให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยฉุกเฉินและกองกำลังด้านความั่นคง เช่นเดียวกับสื่อมวลชนและอาชีพอื่นๆที่มีความสำคัญ ขณะที่ผู้โดยสารทางอากาศก็ได้รับสิทธิยกเว้นเป็นพิเศษสำหรับเดินทางไปยังท่าอากาศยานฟรีทาวน์

หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินอีโบลาของรัฐบาลบอกด้วยว่า นอกจากนี้แล้วจะมีการอนุญาตให้ผู้คนเดินทางไปมัสยิดหรือโบสถ์ได้หลังเลยเวลา 18.00น.ไปแล้ว แต่สถานที่เหล่านั้นจำเป็นต้องอยู่ใกล้บ้านและสามารถเดินไปถึง “อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่ามาตรการของวันนั้นสิ้นสุดลงแล้ว” เขากล่าว

ประธานาธิบดีเซียร์ราลีโอน มีกำหนดปราศรัยผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี (18 ก.ย.) ซึ่งเขาจะร้องขอพวกหัวหน้าชนเผ่าต่างๆ ช่วยย้ำมาตรการปิดประเทศของเขาอีกที อย่างไรก็ตามทางผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ามาตรการบีบบังคับเพื่อจำกัดโรคติดต่อ เช่นกักตัวประชาชนให้อยู่แต่ในบ้าน อาจส่งผลสะท้อนกลับเลวร้ายและก่อผลลัพธ์ที่รุนแรง

ฌอง ฮาร์ฟ บราดอล อดีตผู้อำนวยการขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน(เอ็มเอสเอฟ) บอกว่าเป้าหมายเข้าตรวจบ้านทุกหลังในช่วง 3 วันแทบเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง ขณะที่ทางเอ็มเอสเอฟ เคยเตือนก่อนหน้านี้ว่ามาตรการดังกล่าวอาจผลักให้ผู้คนหลบซ่อนตัวและกัดเซาะคามไว้วางใจระหว่างชาวบ้านกับผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข

ความเคลื่อนไหวของทั้งองค์การอนามัยโลกและรัฐบาลเซียร์ราลีโอน ที่ชี้ให้เห็นถึงสภาวะของการแพร่ระบาดที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี (18 ก.ย.) ยกมือรับรองมติประกาศให้ อีโบลา เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก พร้อมเรียกร้องประเทศต่างๆให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

มติดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ หลังจาการนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติเตือนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกๆ 3 สัปดาห์ โดยเฉพาะในไลบีเรีย

ขณะเดียวกัน มตินี้ยังเรียกร้องประเทศต่างๆให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในด้านต่างๆ ในนั้นรวมถึงการเสริมสมรรถนะทางการแพทย์ทั้งโรงพยาบาลสนามที่มาพร้อมกับเจ้าหน้าที่และเวชภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการ คลินิกและการสนับสนุนขีดความสามารถในการลำเลียงทางอากาศ

ในมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติครั้งนี้ ยังเรียกร้องประเทศต่างๆยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางและตามแนวชายแดน รวมทั้งร้องขอสายการบินต่างๆและเหล่าบริษัทเดินเรือนให้ยังคงเส้นทางที่เชื่อมกับชาติที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ถือเป็นการลงมติรับรองในด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ครั้งที่ 3 เท่านั้นในประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติ หลังจากก่อนหน้านี้คณะมนตรีความมั่นคงเคยโหวตรับรองมาตรการต่างๆ สำหรับจัดการกับการแพร่ระบาดของเอดส์ในปี 2000 และ 2011
กำลังโหลดความคิดเห็น