เอเจนซีส์ - เยอรมนีประกาศในวันพุธ (13 ส.ค.) เรียกร้องให้พลเมืองของตนเดินทางออกมาจากกินี, ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ซึ่งกำลังเกิดการระบาดรุนแรงของโรคอีโบลา นอกจากนั้นชาติในแอฟริกาตะวันตกเหล่านี้ ยังได้รับคำสั่งจากสมาพันธ์ฟุตบอลแอฟริกา ให้เปลี่ยนสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอล “แอฟริกัน เนชัน คัพ” ไปยังประเทศอื่นแทน ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง แคนาดาเตรียมบริจาควัคซีนที่ยังอยู่ในขั้นทดลองไปให้ชาติประสบการระบาดเหล่านี้ ส่วนเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นประกาศเพิ่มมาตรการรับมือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสมัจจุราช พร้อมเรียกร้องประเทศต่างๆ อย่าตื่นตระหนก และยืนยันว่าโรคนี้ป้องกันได้ง่าย
บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงวันอังคาร (12 ส.ค.) ว่า ได้แต่งตั้งเดวิด นาบาร์โร แพทย์ชาวอังกฤษที่มีประสบการณ์จากการรับมือวิกฤตโรคซาร์สในปี 2006 และ 2003 เป็นผู้ประสานงานของยูเอ็นรับผิดชอบยุทธศาสตร์การจัดการการระบาดของเชื้อไวรัสโรคอีโบลา ที่ขณะนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1,013 ราย
บันเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ระงับการตื่นตระหนกและหวาดกลัว เนื่องจากไวรัสชนิดนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ทรัพยากร ความรู้ การดำเนินการที่ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน แต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น
เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นเสริมว่า ขณะนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนแพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์ ซึ่งรวมถึงชุดป้องกันและเต็นท์กักกันผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน
การระบาดของอีโบลาในระลอกนี้ ที่เริ่มต้นในกินี ก่อนลุกลามไปยังไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย ถือเป็นวิกฤตรุนแรงที่สุดนับแต่ที่มีการค้นพบไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว โดยองค์การอนามัยโลก (ฮู) ประกาศว่า การลุกลามครั้งนี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก และอนุมัติเห็นชอบการใช้พวกยาที่ยังอยู่ระหว่างการทดลอง มาใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มียาบำบัดรักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคอีโบลาที่ได้รับการรับรองจดทะเบียนแล้ว โดยที่ยาทดลองซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันมากที่สุดในขณะนี้คือ ยา “ซีแมปป์” ซึ่งวิจัยพัฒนาโดย แมปป์ ไบโอฟาร์มาซูติคัล บริษัทยาสหรัฐฯ ยาตัวนี้ผ่านการทดสอบกับลิงเท่านั้น ยังไม่เคยทดลองกับคน แต่ได้มีการนำมาใช้กับชาวอเมริกัน 2 คนเป็นแพทย์ชาย 1 และพยาบาลหญิง 1 ซึ่งติดเชื้ออีโบลาขณะไปทำงานรักษาคนไข้ในไลบีเรีย แล้วถูกนำตัวมารักษาในโรงพยาบาลที่มีการกักกันโรคอย่างเข้มงวดในสหรัฐฯ ปรากฏว่าดูจะได้ผลดี ต่อมาจึงมีการนำไปใช้กับบาทหลวงชาวสเปนซึ่งก็ได้รับเชื้อขณะดูแลผู้ป่วยในไลบีเรียเช่นกัน ทว่าบาทหลวงวัยชราผู้นี้เสียชีวิตที่กรุงมาดริดเมื่อวันอังคาร (12) ที่ผ่านมา
บริษัทแมปป์เปิดเผยว่า ซัปพลายของยาตัวนี้ยังมีอยู่น้อยมาก และบริษัทก็ได้ส่งยาทั้งหมดไปให้ให้ชาติในแอฟริกาตะวันตกรายหนึ่งโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หลังจากก่อนหน้านี้มีเสียงวิจารณ์อึงมี่ว่า มีการจ่ายยาซีแมปป์ให้เฉพาะเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ชาวตะวันตก
แมปป์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าส่งยาไปให้ประเทศใด แต่คาดกันว่าจะเป็นไลบีเรีย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ร้องขอและต่อมาก็แถลงว่าได้รับอนุมัติจากอเมริกาแล้ว อย่างไรก็ดี มารี-พอลลี ไคนีย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ของฮู ระบุในวันอังคาร (12) ว่า ไลบีเรียจะได้รับยาเพียง 3 โดสเท่านั้น
ไคนีย์ยังย้ำว่า แม้ซัปพลายซีแมปป์ขาดแคลน แต่ผู้เชี่ยวชาญกำลังพิจารณาวิธีรักษาและวัคซีนทางเลือกอื่นๆ อย่างจริงจัง และเป็นไปได้ว่า อาจมีการทดลองวัคซีน 2 ตัวในเร็วๆ นี้
เธอยังชี้ว่า จริงๆ แล้วมีการพัฒนายาหลายตัวไปจนกระทั่ง “ถึงจุดหนึ่ง” แล้ว แต่บริษัทเหล่านั้นไม่ยินดีจ่ายค่าทดลองทางคลินิกซึ่งมีราคาแพง เนื่องจากปกติแล้วอีโบลามีการติดต่อในหมู่คนจนในประเทศยากจน ซึ่งถือว่า ไม่ใช่ตลาดที่มีอนาคต
ในวันเดียวกัน โรนา แอมโบรส รัฐมนตรีสาธารณสุขแคนาดา ออกมาแถลงว่า แคนาดาจะบริจาคสต็อกวัคซีนป้องกันอีโบลาราว 800-1,000 โดสที่ยังอยู่ในขั้นทดลองให้แก่ฮู เพื่อนำไปใช้ในแอฟริกา โดยแคนาดาจะเก็บวัคซีนไว้บางส่วนเพื่อทำการทดลองต่อและเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉินภายในประเทศ
แอมโบรสเสริมว่า ต้องใช้เวลา 4-6 เดือนจึงจะสามารถพัฒนาวัคซีนออกมาในปริมาณมาก
ทั้งนี้ วัคซีนของห้องวิจัยของรัฐบาลแคนาดาที่มีส่วนร่วมในการพัฒนายาซีแมปป์ด้วยนั้น เป็นคนละตัวกับวัคซีนของเทคมิรา ฟาร์มาซูติคัลส์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของแคนาดา โดยรัฐบาลแคนาดาให้ใบอนุญาตแก่ไบโอโปรเท็กชัน ซิสเต็มส์ บริษัทในเครือของนิวลิงก์ เจเนติกส์ของสหรัฐฯ เพื่อนำไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์
เช่นเดียวกันยาซีแมปป์ วัคซีนของแคนาดาใช้ได้ผลกับสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่เคยทดลองใช้กับคน
ทว่า สัปดาห์ที่แล้ว ไบโอโปรเท็กชันได้ติดต่อกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อนำวัคซีนนี้ไปศึกษาต่อยอดก่อนนำไปทดลองกับคนในอนาคต
ความที่ไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีการรักษาที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ หลายประเทศทั่วโลกจึงดำเนินมาตรการป้องกันไว้ก่อน เช่น ห้ามเที่ยวบินที่มาจากประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ และยกระดับการคัดกรองผู้ป่วย
ล่าสุด คือเยอรมนี โดย มาร์ติน เชเฟอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของประเทศนี้ แถลงในวันพุธ (13) ว่า เยอรมนีประกาศยกระดับคำเตือนการเดินทาง โดยขอเรียกร้องให้พลเมืองของตนซึ่งอยู่ใน กินี, เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย เดินทางจากการประเทศเหล่านี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่ยังอยู่ในระดับวิกฤตของพื้นที่เหล่านั้น
การยกระดับคำเตือนนี้มีขึ้น ภายหลังการประชุมของหน่วยงานรับวิกฤตของเยอรมนี ซึ่งมุ่งพิจารณาสถานการณ์การระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกแล้ว อย่างไรก็ตาม โฆษกผู้นี้ย้ำว่า คำเตือนนี้ยกเว้นให้แก่ “บุคลากรทางการแพทย์ผู้ซึ่งเป็นที่ต้องการของพื้นที่เหล่านี้” รวมทั้งพวกสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลของเยอรมนีใน 3 ประเทศนี้ก็ยังคงเปิดทำการ
ในทางอีกด้านหนึ่ง สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งแอฟริกา ได้สั่งให้ กินี และเซียร์ราลีโอน ย้ายสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลรอบคัดเลือก “แอฟริกัน เนชัน คัพ” ที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า ให้ไปจัดในประเทศอื่นแทน เพื่อป้องกันการระบาดของอีโบลา
ก่อนหน้านี้ตอนต้นเดือนนี้ ทีมฟุตบอลของเซียร์ราลีโอนได้รับชัยชนะโดยไม่ต้องลงแข่ง หลังจากเซเชลส์ไม่ยอมส่งนักฟุตบอลไปแข่งในเซียร์ราลีโอน เนื่องจากเกรงการแพร่ระบาดของอีโบลา
ขณะเดียวกัน โตโกประกาศว่า จะไม่อนุญาตให้นักฟุตบอลเดินทางไปแข่งในกินี และไลบีเรียระงับกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศตั้งแต่เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับในส่วนของผู้เสียชีวิตจากไวรัสมัจจุราชนี้ ประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) เผยว่า มีเจ้าหน้าที่ประสานงานคนหนึ่งที่เป็นชาวเมืองลากอ สในไนจีเรีย เสียชีวิตจากอีโบลา ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในประเทศนี้เพิ่มเป็น 3 คน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลผู้แทนจากไลบีเรียที่เดินทางไปร่วมการประชุม โดยผู้แทนไลบีเรียเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 25 เดือนที่ผ่านมาที่ลากอส
ส่วนที่เซียร์ราลีโอน นพ.โมดูเปห์ โคล แพทย์อาวุโสของโรงพยาบาลคอนนอต ในกรุงฟรีทาวน์ ก็เสียชีวิตแล้วหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้ออีโบลาในวันศุกร์ (8) ที่ผ่านมา และถูกนำไปรักษาที่ศูนย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ตามการแถลงในวันพุธ(13) ของ นพ.บริมา คาร์กโบ นายแพทย์ใหญ่ของเซียร์ราลีโอน
นพ.โคล เสียชีวิต 2 สัปดาห์หลังจากผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อสู้ไวรัสอีโบลาชั้นนำของเซียร์ราลีโอน คือ นพ.อูมาร์ ข่าน ก็สิ้นชีวิตไปด้วยโรคร้ายแรงนี้