xs
xsm
sm
md
lg

เซเนกัลสั่งปิดชายแดนป้องกันอีโบลา ยูเอ็นเตือนอาจระบาดหนักขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เซเนกัลกลายเป็นชาติล่าสุดที่สั่งปิดชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในแอฟริกาตะวันตก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของอีโบลา ด้านเจ้าหน้าที่สหประชาชาติระบุว่า ต้องเตรียมพร้อมรับมือถึงความเป็นไปได้ที่ไวรัสมรณะชนิดนี้อาจจะลุกลามแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น

การตัดสินใจปิดชายแดนของเซเนกัลด้านที่ติดกับประเทศกินี ซึ่งประกาศโดยกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันพฤหัสบดี (21 ส.ค.) เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะควบคุมการระบาดของไวรัสอีโบลาที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 1,350 รายในกินี ไลบีเรีย ไนจีเรียและเซียร์ราลีโอน นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เดวิด นาบาร์โร แพทย์ชาวอังกฤษที่สหประชาชาติแต่งตั้งเมื่อสัปดาห์ก่อน ให้เป็นผู้ประสานงานกับทั่วโลกเพื่อรับมือวิกฤติครั้งนี้ ได้เดินทางไปถึงแอฟริกาตะวันตกแล้ว เพื่อปฏิบัติภารกิจฟื้นฟูระบบสาธารณสุขในบรรดาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลา

"เรามาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ การระบาดอาจจะทรงตัว อาจจะลดลงหรืออาจจะเพิ่มขึ้น มันเป็นเรื่องที่ผมไม่สามารถบอกได้จริงๆ" นาบาร์โร บอกกับเอเอฟพีที่สนามบินโคนากรี ในกินี ระหว่างการเดินทางเพื่อไปยังกรุงมันโรเวีย เมืองหลวงของไลบีเรีย

เขาระบุว่า เขาต้องทำให้แน่ใจว่าทุกชิ้นส่วนของกลไกการรับมือกับโรคอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด พร้อมที่จะรับมือกับความเป็นไปได้อีโบลาจะแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ นาบาร์โร ยังมีกำหนดไปเยือนกรุงฟรีทาวน์ เมืองหลวงของเซียร์ราลีโอน , กรุงโกนากรี เมืองหลวงของกินี , กรุงอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย หลังจากนั้นก็จะเดินทางไปเจนีวาและนิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลกและสำนักงานองค์การสหประชาชาติตามลำดับ เพื่อรายงานสิ่งที่เขาพบเจอ

การต่อสู้กับไวรัสอีโบลาของหลายรัฐบาลมีอันต้องชะงักงัน จากการตายของบรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูงและเหล่าแพทย์ที่เผชิญหน้าโดยตรงกับไวรัสมรณะชนิดนี้
เคนท์ แบรนท์ลี ได้หายป่วยและออกจากโรงพยาบาลแล้ว
อย่างไรก็ตาม มิชชันนารีชาวอเมริกัน 2 รายที่ถูกนำตัวกลับมารักษาที่สหรัฐฯ หลังจากติดเชื้ออีโบลาระหว่างดูแลผู้ป่วยในไลบีเรีย ได้หายป่วยและออกจากโรงพยาบาลแล้ว

ทั้งนี้ "เคนท์ แบรนท์ลี" วัย 33 ปีและ "แนนซี ไรต์โบล" วัย 60 ปี ได้รับยาตัวใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลอง ก่อนที่จะถูกส่งตัวกลับมารักษาที่โรงพยาบาลในแอตแลนตาช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

บรูซ ริบเนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายโรคระบาดของโรงพยาบาลเอโมรี ระบุว่า การออกจากโรงพยาบาลของทั้งคู่ ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสาธารณชนแล้ว

ด้านไลบีเรีย ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการระบาดครั้งนี้ของอีโบลามากที่สุด ด้วยตัวเลข 576 ราย ก็ต้องเจอกับความวุ่นวายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา จากการที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

กาชาดระบุว่า ฌาปนสถานในกรุงมันโรเวียกำลังประสบปัญหาในการรับมือกับศพผู้ติดเชื้อที่มีมากมายหลายสิบศพในแต่ละวัน

"บรรดาคนงานต้องส่งคืนศพเหล่านั้นให้กับทางโรงพยาบาลในเมือง เพราะพวกเขาไม่สามารถจะเผาศพทั้งหมดได้" ฟายาห์ ทัมบะ หัวหน้าศูนย์กาชาดในไลบีเรีย บอกกับสถานีวิทยุท้องถิ่น

การแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่กาชาดรายนี้ เกิดขึ้น 1 วันหลังจากทีมีทหารใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งไม่พอใจการประกาศของประธานาธิบดี เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ให้ใช้มาตรการเคอร์ฟิวในช่วงเวลากลางคืนและกำหนดให้ชุมชนแออัดเวสพอยต์กับย่านโดโล ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงมันโรเวีย เป็นพื้นที่กักกันโรค

ส่วนทางกินี ประเทศแรกที่เกิดการระบาดครั้งใหม่นี้ ได้ส่งแพทย์กว่า 100 คนพร้อมด้วยอาสาสมัครไปยังบริเวณชายแดนที่ติดกับเซียร์ราลีโอนและไลบีเรีย เพื่อตรวจสอบดูอาการของผู้คนที่เดินทางข้ามพนหมแดน

ในขณะที่หลายฝ่ายเกรงว่าการระบาดอาจจะกระจายไปทั่วแอฟริกาและทวีปอื่นๆ รัฐมนตรีสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก "ฟีลิกซ์ คาบันเก นัมบี" ก็ออกมาระบุว่า ผู้คนในประเทศของเขาเสียชีวิตไปแล้ว 13 รายตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จากอาการไข้ตกเลือดซึ่งไม่รู้ที่มา

"ผู้เสียชีวิตทั้ง 13 คน ต้องทรมานจากอาการไข้สูง ท้องเสีย อาเจียน ซึ่งในระยะสุดท้ายมีการอาเจียนออกมาเป็นสีดำ" เขากล่าว

สำหรับผู้เสียชีวิตรายแรกในคองโก เป็นหญิงที่กำลังครรภ์ ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 12 ราย เป็นผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับเธอ โดยมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 5 รายรวมอยู่ในนั้นด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกประมาณ 80 คนที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ก็กำลังอยู่ระหว่างสังเกตการณ์

ตัวอย่างที่นำมาจากผู้เสียชีวิต ได้ถูกนำไปทดสอบเพื่อหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายในหนึ่งสัปดาห์

ด้านผู้แทนพิเศษของยูเอ็นประจำไลบีเรีย "คาริน แลนด์เกรน" ระบุว่า ภูมิภาคนี้ต้องการบุคลากรด้านการแพทย์จากนานาชาติอย่างเร่งด่วน รวมถึงต้องการข้าวของเครื่องใช้พื้นฐาน อาทิ คลอรีน ถุงมือและถุงใส่ศพ

"ระบบดูแลสุขภาพในประเทศเหล่านี้ย่ำแย่มาก ตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะมีการระบาด ทำให้ตอนนี้พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างหนัก" เธอกล่าว

ด้วยความกลัวว่าไวรัสมรณะชนิดนี้อาจจะระบาดออกไปสู่ทวีปอื่น ทำให้หลายสายการบินมีการระงับเที่ยวบินเข้า-ออกในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่หลายชาติทั่วโลกต่างก็ออกมาตรการตรวจสอบผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลา

ทั้งนี้ แอฟริกาใต้ได้ออกมาประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (21 ส.ค.) ห้ามมิให้ผู้ที่เดินทางจากกินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน เข้าสู่ประเทศ ยกเว้นผู้ที่เป็นพลเมืองของแอฟริกาใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น