รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่เซียร์ราลีโอนในวันศุกร์(25) ถึงขั้นต้องร้องขอความช่วยเหลือชาวบ้าน ให้แจ้งเบาะแสของพลเมืองรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ"อีโบลา"รายแรกของเมืองหลวง ที่ครอบครัวบุกพาตัวเธอหลบหนีออกจากโรงพยาบาลหลังผลตรวจออกมาเป็นบวก ก่อความกังวลว่าผู้ป่วยรายนี้จะนำมาซึ่งการแพร่ระบาดในวงกว้างของชุมชนเมือง
สถานีวิทยุคลื่นต่างๆในกรุงฟรีทาวน์ เมืองที่มีประชากรราว 1 ล้านคน ออกอากาศในวันศุกร์(25) ร้องขอชาวบ้านช่วยกันระบุที่พักพิงของสตรีรายนี้ที่มีผลตรวจเชื้อไวรัสมรณะออกมาเป็นบวก ขณะที่อีโบลา คร่าชีวิตผู้คนทั่วกินี ไลบีเลียและเซียร์ราลีโอน ไปแล้วกว่า 660 ศพ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดถูกพบครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์
ไซดี บาห์ยา ตูนิส โฆษกกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ซาอูดาตู โคโรมา วัย 32 ปี ซึ่งเป็นชาวบ้านในเวลลิงตัน เขตที่มีประชากรพักอาศัยอยู่หนาแน่น เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จากนั้นก็ถูกกักตัวและอยู่ระหว่างรอผลตรวจเลือด "อย่างไรก็ตามครอบครัวของคนไข้ได้บุกโรงพยาบาล บังคับให้ปล่อยตัวและพาเธอออกไป ตอนนี้เรากำลังตามหาเธออยู่"
ความพยายามต่อสู้กับหนึ่งในโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดของโลกต้องพบกับอุปสรรคจากระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอของภูมิภาคแถบนี้ ขณะเดียวกันด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เพียงพอและความสงสัยที่มีต่อเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ก็ทำให้จำนวนมากหลีกหนีการรักษา
ขณะที่องค์กรด้านการแพทย์ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญภาคสนามลงพื้นที่ในความพยายามยับยั้งการแพร่ระบาด แต่องค์การอนามัยโลก(WHO)บอกว่าด้วยระบบสาธารณูปโภคด้านสาธารณสุขที่ย่ำแย่และขาดกำลังคนคือตัวฉุดรั้งความพยายามของพวกเขา
เชื้อไวรัสมรณะอีโบลาที่มีอัตราการคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 90 ขณะที่มันจะทำให้ผู้ติดเชื้อเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องร่วง และในบางกรณีอาจทำให้อวัยวะล้มเหลว เลือดไหลไม่หยุด และสามารถปลิดชีพผู้ป่วยภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากติดเชื้อ
เชื่อกันว่าอีโบลาเป็นไวรัสที่ถ่ายทอดจากสัตว์ไปสู่คน จากการสัมผัสกับเลือดหรือของเหลวร่างกายจากสัตว์ที่ติดเชื้อ นั่นหมายความว่าคุณอาจล้มป่วยเพียงแค่ไปสัมพัสกับคนที่ติดเชื้อ และด้วยเวลานี้ยังไม่มีวัคซีนรักษา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแยกคนไข้ที่สันนิษฐานว่าติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ให้ออกห่างจากคนอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสดังกล่าวถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี ค.ศ. 1976 ใกล้กับ “แม่น้ำอีโบลา” ในดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยการแพร่ระบาดในครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 280 ราย
กระทรวงสาธารณสุขไนจีเรียยืนยันในวันพฤหัสบดี (24) พบชายชาวไลบีเรียอายุราว 40 กว่าปีรายหนึ่ง ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อไวรัสมรณะ “อีโบลา” ในกรุงลากอส เมืองหลวงด้านการค้าของไนจีเรีย หากผลตรวจยืนยันการติดเชื้อจะถือเป็นการพบผู้ติดเชื้อไวรัสซึ่งยังไม่มีหนทางรักษาชนิดนี้เป็นรายแรกในไนจีเรีย นับตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ชายชาวไลบีเรียรายนี้ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลา หลังจากเขาล้มฟุบตอนที่เดินทางมาถึงสนามบินกรุงลากอส จากนั้นก็ถูกนำไปกักตัวและตรวจหาเชื้ออีโบลา อย่างไรก็ตามในวันศุกร์(25) เขาได้เสียชีวิตลงแล้ว "เขาจากไปขณะที่อยู่ในสถานกักกัน"