เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขแถลงว่า แพทย์ชาวเซียร์ราลีโอน ที่ติดเชื้ออีโบลาเป็นรายที่ 4 ได้เสียชีวิตแล้ววานนี้ (14 ก.ย.) ขณะที่องค์กรการกุศลเนเธอร์แลนด์ได้ส่งตัวแพทย์ 2 คน ที่ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสมัจจุราชชนิดนี้กลับประเทศ
พญ.โอลีฟ บัค ซึ่งให้การรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ “ลัมลีย์” ในเมืองหลวงของเซียร์ราลีโอน รับทราบว่าตนมีผลเลือดเป็นบวกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (9) จากนั้นเธอก็ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลคอนนอจต์ ในกรุงฟรีทาวน์
บรีมา คาร์กโบ ผู้อำนวยการแพทย์ของเซียร์ราลีโอนให้สัมภาษณ์เอเอฟพีผ่านทางโทรศัพท์ว่า “เป็นการสูญเสียผู้เชี่ยวชาญที่น่าเศร้าอีกครั้งหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของคนอีกคนที่อุทิศตนต่อสู้กับอีโบลา”
โฆษกขององค์กรการกุศลเนเธอร์แลนด์แห่งหนึ่งระบุวานนี้ (14 ก.ย.) ว่าในเวลาเดียวกัน แพทย์ชาวดัตช์ 2 คนซึ่งอาจติดไวรัสอีโบลาจากคลินิกแห่งหนึ่งในเซียร์ราลีโอน ได้ถูกส่งตัวกลับประเทศแล้ว
เธอกล่าวว่า แพทย์ทั้งสองถูกกักตัวเพื่อรอดูอาการที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองไลเดิน ทางภาคตะวันตกของเนเธอร์แลนด์ และกำลังเข้ารับการตรวจว่าติดเชื้อไวรัสชนิดนี้หรือไม่
บรรดาคนไข้ของบัค แพทย์หญิงซึ่งอยู่ในวัย 60 ปีต้นๆ เล่าว่า เธอ “เป็นมิตรและร่าเริงมาก”
ทั้งนี้ บัค เป็นแพทย์หญิงคนแรกในเซียร์ราลีโอน ที่จบชีวิตด้วยอีโบลา ส่วนแพทย์ชายอีก 3 คนที่ตกเป็นเหยื่อเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ขณะที่มีพยาบาลในประเทศนี้สังเวยชีวิตให้โรคเดียวกันไปราว 50 คน
ทางด้านหน่วยฉุกเฉินของเซียร์ราลีโอนประกาศว่า พวกเขาจะส่งทีมเจ้าหน้าที่ไปช่วยฝังร่างผู้เสียชีวิตจากเชื้ออีโบลาทางภาคตะวันตกของประเทศ รวมถึงที่กรุงฟรีทาวน์ เพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตได้จัดพิธีศพได้เร็วยิ่งขึ้น
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การแพร่ระบาดของอีโบลาที่กำลังทำลายล้างภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกได้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว 2,400 คนนับตั้งแต่ปะทุขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
เซียร์ราลีโอน กินี และไลบีเรีย คือประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุด
วานนี้ (14) โครงการอาหารโลก (WFP) แถลงว่าได้ยกระดับความช่วยเหลือในทั้งสามประเทศ ที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อระงับการแพร่ระบาดครั้งเลวร้ายที่สุดของเชื้ออีโบลา
องค์การให้ความช่วยเหลือด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติแห่งนี้แถลงว่า ต้องการจะ “ช่วยเหลือประชาชน 353,000 ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตอีโบลา ... เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตการณ์สาธารณสุขกลายเป็นวิกฤตด้านอาหาร”
ที่ไลบีเรีย ทำเนียบประธานาธิบดีเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ แถลงวานนี้ (14) ว่า ผู้นำหญิงได้สั่งปลดเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับอาวุโส 10 คนที่ขัดขืนคำสั่ง ไม่ยอมเดินทางกลับไลบีเรีย เพื่อเป็นแนวหน้าต่อสู้ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา
ผู้นำไลบีเรียระบุว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับประเทศ และเพิกเฉยต่อคำสั่งของภาครัฐ