xs
xsm
sm
md
lg

ออสซีโต้ UN เสียงแข็ง “ยัน” นโยบายผลักดันเรือผู้อพยพไม่ใช่ต้นตอปัญหา “ละเมิดสิทธิมนุษยชน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ออสเตรเลียวันนี้ (9 ก.ย.) ได้ออกมาแสดงท่าทีไม่ยอมรับ หลังองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) วิพากษ์วิจารณ์ว่า วิธีปฏิบัติที่ประเทศนี้ใช้รับมือผู้ขอลี้ภัยกำลัง “ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นลูกโซ่ตามมา” โดยแดนจิงโจ้ชี้ว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซีเรียและอิรักเลวร้ายกว่า

เจ้าชาย เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคนใหม่ ทรงอาศัยจังหวะระหว่างปราศรัยในพิธีเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวานนี้ (8) ประณามวิธีที่ออสเตรเลียใช้ปฏิบัติต่อผู้แสวงหาที่พักพิงที่เดินทางมาทางเรือน้ำ และนโยบายผลักดันเรือผู้อพยพกลับประเทศ
เจ้าชาย เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคนใหม่
พระองค์ตรัสว่า นโยบายดังกล่าวของแคนเบอร์ราก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นลูกโซ่ตามมา เป็นต้นว่า พวกเขาอาจถูกกักกันโดยพลการ และ ทรมาน หลังเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด

เจ้าชายแห่งจอร์แดนตรัสต่อที่ประชุมคณะความมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า “การทำเช่นนั้นยังอาจทำให้ผู้อพยพหันไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากร”

นอกจากนี้ เจ้าชายเซอิด ทรงวิจารณ์วิธีที่ไซปรัส และสหรัฐฯ ใช้ปฏิบัติต่อผู้อพยพที่เป็นเด็ก และกล่าวว่า การกักขังผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้อพยพ “ควรถูกสงวนไว้เป็นทางเลือกสุดท้ายในพฤติการณ์พิเศษเท่านั้น โดยที่พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวอย่างเร็วที่สุด และได้รับการคุ้มครองตามกระบวนการยุติธรรม”

ตามนโยบายผู้อพยพอันเข้มงวดกวดขันของแดนจิงโจ้ นับตั้งแต่กรกฎาคม ปี 2013 ผู้อพยพที่ล่องเรือเข้าสู่น่านน้ำออสเตรเลีย รวมทั้งเด็กๆ จะถูกส่งไปตัวยังค่ายผู้ลี้ภัยบนเกาะมานัส ในปาปัวนิวกินี และบนเกาะนาอูรูอันห่างไกล ในมหาสมุทรแปซิฟิก

พวกเขาจะถูกส่งไปตั้งถิ่นฐานในประเทศเหล่านี้ หากทางการตอบรับคำขอลี้ภัยของพวกเขา

นอกจากนี้ ออสเตรเลียได้ดำเนินมาตรการสกัดกั้นการไหลบ่าของผู้แสวงหาที่พักพิง ผ่านปฏิบัติผลักดันเรือผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ภายใต้การนำของกองกำลังป้องกันออสเตรเลีย โดยหนึ่งในประเทศที่มีพลเมืองจำนวนมากยอมเสี่ยงชีวิตล่องเรือไปแสวงหาที่ลี้ภัยในออสเตรเลีย คือ อินโดนีเซีย

สกอตต์ มอร์ริสัน รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลียออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของยูเอ็น และกล่าวว่า เขา “ยินดีที่จะพบปะและพูดคุยในเรืองนี้ อย่างที่ผมหารือกับยูเอ็นเอชซีอาร์ (ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) อยู่เป็นประจำ”

เขากล่าวเสริมว่า “ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผมสังเกตเห็นได้ชัด ก็คือ การตัดคอ และจับชนประชาชนในอิรักและซีเรียตรึงกางเขน ซึ่งออสเตรเลียกำลังเพียรหาทางบรรเทาวิกฤตมนุษยธรรมในทั้งสองประเทศ”

ทางด้าน แดเนียล เวบบ์ จากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนที่มีฐานในเมลเบิร์น ได้แสดงท่าทีสนับสนุนถ้อยแถลงของเจ้าชายเซอิด พร้อมชี้ว่า เป็นคำกล่าวที่ “แสดงให้เห็นว่า ชาวโลกมองว่า พฤติกรรมละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเห็นได้ชัดของออสเตรเลียร้ายแรงเพียงใด”

เขากล่าวว่า “นโยบายป้องกันอันโหดร้ายและผิดกฎหมายทั้งหมดที่รัฐบาล (ออสเตรเลีย) ดำเนินอยู่ไม่ได้ช่วยเสนอทางเลือกให้คนกลุ่มเสี่ยง ที่ไร้ทางออก ทั้งยังทำให้ออสเตรเลียต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง” จากการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ มอร์ริสัน กล่าวว่า นโยบายผู้แสวงหาที่พักพิงของพรรคเขา เป็นนโยบายที่สามารถสกัดกั้นไม่ให้ผู้อพยพเอาชีวิตไปทิ้งในทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการป้องกันไม่ให้พวกเขาล่องเรือมายังแดนจิงโจ้

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีเรือบรรทุกผู้แสวงหาที่พักพิงแล่นไปถึงออสเตรเลียเพียงลำเดียวเท่านั้น ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีเรือมุ่งหน้าไปยังแดนจิงโจ้แทบทุกวัน และมีผู้เสียชีวิตระหว่างเดินทางหลายร้อยราย

กำลังโหลดความคิดเห็น