xs
xsm
sm
md
lg

แดนจิงโจ้แจก “เรือชูชีพ” ให้ผู้แสวงหาที่พักพิงกว่า 150 คน - สั่งให้แล่นเรือกลับอินเดียตามยถากรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม) บรรดาผู้แสวงหาที่พักพิงชาวศรีลังกาที่ถูกทางการออสเตรเลียผลักดันกลับประเทศ ปิดบังใบหน้าขณะรอขึ้นศาลแขวงเมืองกอลล์ ทางตอนใต้ของศรีลังกา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา
เอเอฟพี - ทนายความของเหล่าผู้แสวงหาที่พักพิงซึ่งถูกศุลกากรออสเตรเลียควบคุมตัวไว้บนเรือในทะเลนานหลายสัปดาห์ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (4 ส.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของแดนจิงโจ้ได้มอบเรือชูชีพให้แก่ลูกความของเขา พร้อมสั่งให้พวกเขาล่องเรือกลับอินเดียด้วยตัวเอง

ทนายความ ฮิวจ์ เด เครตเซอร์ ระบุว่า ในบรรดาผู้ลี้ภัยซึ่งล่องเรือจากอินเดียมายังออสเตรเลียทั้ง 157 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวทมิฬผู้นับถือศาสนาคริสต์ ที่หลบหนีการฆ่าฟันในศรีลังกา

เครทเซอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า “บรรดาลูกความที่เราพูดถึงรู้สึกหวาดกลัวชะตากรรมที่รอเขาอยู่เป็นอย่างยิ่ง”
ฮิวจ์ เด เครทเซอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน
“พวกเขารู้สึกหวั่นวิตกว่า เมื่อล่องเรือเรือชูชีพออกไป พวกเขาอาจต้องตายกลางมหาสมุทร เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในการเดินเรือ หรือควบคุมเรือมาก่อน ทั้งยังต้องรับผิดชอบครอบครัวที่อยู่บนเรือ”

เมื่อช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน เหล่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของออสเตรเลียได้ช่วยชีวิตผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกลุ่มนี้ ซึ่งมีเด็ก 50 คนรวมอยู่ด้วย

ทีมทนายความระบุว่า พวกเขาใช้ชีวิตบนเรือศุลกากรนานหลายสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่พวกเขาจะถูกคุมขังในห้องที่ไม่มีหน้าต่าง ก่อนจะถูกพาขึ้นฝั่งออสเตรเลียเมื่อราววันที่ 25 กรกฎาคม

สกอตต์ มอร์ริสัน รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองออสเตรเลีย ซึ่งอ้างว่าผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ต้องการเข้ามาทำงานในแดนจิงโจ้ ชี้ว่า ตามข้อตกลงที่แคนเบอร์ราทำร่วมกับนิวเดลี พวกเขาอาจถูกส่งกลับอินเดีย แม้ว่าจะไม่ใช่พลเมืองแดนภารตะก็ตาม

อย่างไรก็ตาม คนทั้งหมดปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่กงสุลอินเดียประจำออสเตรเลีย และต้องการถูกส่งไปยังค่ายกักกันในประเทศนาอูรู ในมหาสมุทรแปซิฟิก

เด เครตเซอร์ กล่าวว่า หลังจากทนายความสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ 15 คนจากทั้งสิ้น 107 คน ปรากฏว่าขณะที่ยังอยู่บนเรือ เจ้าหน้าที่ของออสเตรเลียได้คัดคน 9 คนในหมู่พวกเขาออกมา เพื่อสอนวิธีใช้เรือชูชีพ

พวกเขาได้รับการแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ ให้แบ่งคนไปขึ้นเรือลำละ 50 ถึง 60 คน และแล่นเรือกลับอินเดีย

เขาเผยว่า “พอพวกเขาปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีประสบการณ์ในการควบคุมเรือ หรือเดินเรือมาก่อน และไม่สามารถรับผิดชอบความปลอดภัยของผู้โดยสารบนเรือได้ เจ้าหน้าที่ก็กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลีย และพวกเขาต้องปฏิบัติตาม”

เด เครตเซอร์ อ้างว่า สามารถเข้าหากลุ่มผู้แสวงหาที่พักพิงได้อย่างจำกัดมาก แต่เล่าว่ามีบางคนบอกเขาว่า เมื่อเดินทางไปถึงอินเดียแล้ว พวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นไม่ถึง 6 เดือน

เด เครตเซอร์ กล่าวว่า พวกเขาได้กล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ในอินเดียที่อันตราย นอกจากนี้ พวกเขาจะไม่สามารถทำงาน และส่งลูกๆ เข้าโรงเรียนได้ ขณะที่คนบางส่วนหวั่นวิตกในเรื่องความปลอดภัย

เขาชี้ว่า “ชาย หญิง และเด็กทั้ง 157 คนต้องเผชิญกับความโหดร้ายที่ไม่มีทางเกิดขึ้นประเทศอันทันสมัยอย่างออสเตรเลีย”

ตามนโยบายว่าด้วยผู้แสวงหาที่พักพิงอันเข้มงวด ที่ออสเตรเลียตราขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตในท้องทะเล ผู้ที่ลอบเข้าประเทศทางเรือจะถูกส่งไปยังปาปัวนิวกินี หรือนาอูรู และแม้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ลี้ภัยจริงๆ แต่ก็จะไม่มีสิทธิตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลีย

นอกจากนี้ แคนเบอร์รายังมีนโยบายผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศทางเรือ เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเดินเรือ ขณะที่บรรดาผู้แสวงหาที่พักพิงจากอินโดนีเซีย ได้อ้างว่าเหล่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของออสเตรเลียได้นำพวกเขาขึ้นเรือชูชีพ และผลักดันกลับประเทศ
แผนที่แสดงที่ตั้งของเกาะคริสต์มาส ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ลี้ภัยที่ต้องการแสวงหาที่พักพิงในออสเตรเลียมักใช้เป็นช่องทางในการเข้าสู่แดนจิงโจ้
กำลังโหลดความคิดเห็น