เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – ไทยได้ดำเนินการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับพม่าไปแล้วราว 1,300 คน เจ้าหน้าที่ระดับสูงเผยวันนี้ (13 ก.พ.) นับเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความผิดหวังให้บรรดานักรณรงค์เพื่อสิทธิ ซึ่งเคยกล่าวเตือนว่า ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกลุ่มนี้จะต้องเผชิญกับการข่มเหงรังแกในประเทศที่เคยปกครองโดยรัฐบาลทหาร
ชาวโรฮิงญาหลายพันคน ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ว่าเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงมากที่สุดในโลกนั้น ได้พากันนั่งเรือไม้ซอมซ่อเพื่ออพยพหนีภัยสู้รบระหว่างศาสนา ซึ่งปะทุขึ้นทางภาคตะวันตกของพม่านับตั้งแต่ปี 2012 โดยส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปยังมาเลเซีย
สำหรับคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกหลบหนีเข้ามาในน่านน้ำไทยก็จะถูกส่งไปขังตามเรือนจำกักกันผู้อพยพที่มีสภาพแออัดยัดเยียด
พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกล่าวกับเอเอฟพีว่า เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ทางการไทยได้เริ่มผลักดันชาวโรฮิงญากลับพม่าผ่านจุดผ่านแดนในจังหวัดระนอง
เขากล่าวเสริมว่า “กระบวนการผลักดันกลับประเทศได้เสร็จสิ้นลงเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา”
การเปิดเผยครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ทางการไทยออกมาแถลงข่าวการผลักดันชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศอย่างเป็นทางการ
ทางด้านกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิได้พากันวิพากษ์วิจารณ์การส่งชาวโรฮิงญากลับพม่า ดินแดนที่ไม่อนุญาตให้ชาวโรฮิงญาเดินทางไปไหน และบังคับใช้แรงงานโดยไม่จ่ายค่าแรง ตลอดจนจำกัดสิทธิในการรักษาพยาบาล และการศึกษาของพวกเขา
“เป็นที่ชัดเจนว่า การผลักดันชาวโรฮิงญานั้นเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ห้ามไม่ให้ส่งผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงกลับไปในสถานที่ซึ่งพวกเขาต้องเผชิญภัยอันตราย และการข่มเหงทำร้าย” สุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์การ “ฮิวแมน ไรต์ วอตช์” ซึ่งมีฐานในนครนิวยอร์กกล่าว
นอกจากนี้ บรรดาองค์กรรณรงค์เพื่อสิทธิยังชี้ด้วยว่า ชาวโรฮิงญามักตกเป็นเหยื่อของพวกขบวนการค้ามนุษย์บ่อยครั้ง ซึ่งบางครั้งเกิดขึ้นหลังถูกไทยเนรเทศ
สุนัยเรียกร้องให้ทางการไทยออกมาให้ความกระจ่างว่าเกิดอะไรขึ้นกับชาวโรฮิงญา 1,300 คน พร้อมทั้งชี้ว่า ดูเหมือนกระทรวงการต่างประเทศจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันที่ผ่านมา
เมื่อปีที่แล้วไทยระบุว่ากำลังตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่า ทหารบางคนในราชอาณาจักรมีส่วนรู้เห็นในการส่งชาวโรฮิงญาให้พวกค้ามนุษย์
เชื่อกันว่ามีชาวโรฮิงญาอีกประมาณ 500 คน ยังถูกคุมขังอยู่ในไทย ภายหลังที่เมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้บุกทะลายค่ายซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นของขบวนการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ พม่ามองว่าประชากรชาวโรฮิงญาราว 800,000 คนของตนเป็นผู้อพยพชาวบังกลาเทศผิดกฎหมาย และปฏิเสธไม่ให้สิทธิพลเมืองแก่พวกเขา
ภายหลังที่ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมปะทุขึ้นหลายครั้งในรัฐยะไข่ของพม่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2012 ก็พบว่ามีชาวโรฮิงญาถูกสังหารไปแล้วกว่า 200 คน และต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยอีกกว่า 140,000 คน
ทางฝ่าย องค์การสหประชาชาติได้ออกมาเรียกร้องให้พม่าตรวจสอบรายงานที่ว่า มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน ซึ่งรวมถึงผู้หญิงและเด็ก ในเหตุลอบโจมตีชาวโรฮิงญาเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีการกล่าวหาว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีส่วนพัวพัน แม้ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของพม่าจะออกมาปฏิเสธว่ารายงานดังกล่าวไม่เป็นความจริงก็ตาม