xs
xsm
sm
md
lg

“ชาวสวิส” เดือดเหตุผู้ลี้ภัยแห่ประท้วง หลังทางการขอให้ไปอาศัย “ใต้ดิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาร์โน บูเออร์จี นายกเทศมนตรีหมู่บ้านเคสเทนโฮลซ์
เอเอฟพี - นายกเทศมนตรีของหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อเคสเทนโฮลซ์ในสวิตเซอร์แลนด์กวาดตามองดูรอบศูนย์ผู้ลี้ภัยที่ว่างเปล่าด้วยความสลดใจ และหยุดมองอยู่ที่เตียงนอนเหล็กขนาดใหญ่โต 2 เตียงซึ่งอัดแน่นไปด้วยฟูก 12 อันวางเรียงกัน

“ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมความเป็นอยู่แบบนี้ยังไม่ดีพอ” อาร์โน บูเออร์จี นายกเทศมนตรีผู้นี้กล่าวพลางขมวดคิ้ว

ขณะนี้มีชายผู้แสวงหาที่พักพิงเพียง 2 คนจาก 12 คนที่มาถึงหมู่บ้านทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ( 9 ส.ค.) เท่านั้นที่ยังพักอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวแห่งนี้

ขณะที่คนอื่นๆ เคลื่อนย้ายออกจากที่นี่ทันที หลังจากที่พวกเขาถูกพาลอดอุโมงค์เพื่อย้ายไปอาศัยอยู่ในที่พักใต้ดินของทหาร โดยพวกเขามุ่งหน้าไปที่สถานีรถไฟในโซโลเธิร์น เมืองซึ่งอยู่ใกล้เคียงเพื่อประท้วงเรื่องสภาพความเป็นอยู่ที่พวกเขาแสดงความคิดเห็นว่า “ไม่ใช่ที่สำหรับคนอยู่”

“อากาศไม่ถ่ายเท ไม่มีหน้าต่าง และคนถึง 30 คนต้องนอนรวมกัน...นั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็นเลย” อับดุลเลาะห์ โอจาลัน ชาวเคิร์ดในตุรกีบ่นผ่านอาร์ทีเอส สถานีวิทยุของทางการสวิสก่อนหน้าที่จะมีการสลายการประท้วงที่สถานีรถไฟในช่วงสายของวันอังคาร (16)

การประท้วงตกเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากมีการเปิดเผยว่าผู้ลี้ภัยในอีกเมืองหนึ่งถูกออกกฎห้ามเข้าสถานที่สาธารณะบางแห่ง

ส่วนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ชายของศูนย์เคสเทนโฮลซ์อยู่ในสภาพแออัดยัดเยียด โดยเป็นห้องที่มีอากาศไม่ถ่ายเท แต่ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องน้ำมีขนาดกว้างขวางและประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

“ผมคิดว่าที่พักอาศัยแห่งนี้น่าอยู่ทีเดียว” บูเออร์จีกล่าวย้ำ ทั้งนี้เขาเพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ข่าวอื้อฉาวนี้จะแพร่สะพัดไปทั่ว

ขณะกำลังเดินสำรวจศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยแห่งนี้ในชุดเสื้อยืด กางเกงขาสั้น และรองเท้าแตะเขาวางมือลงบนโทรทัศน์จอแบนและพยักพเยิดไปทางโต๊ะเตะโกลในห้องข้างๆ

“ที่พักใช้ได้ ทุกอย่างอยู่ในสภาพใหม่และได้รับการปรับปรุง ที่นี่จึงเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะกับการอยู่อาศัย” คลอเดีย แฮนซี ผู้อำนวยการศูนย์งานประกันสังคมในก็องตงโซโลเธิร์นกล่าวสนับสนุน

เธอเน้นย้ำว่าที่พักแห่งนี้เป็นเพียงวิธีแก้ปัญหาชั่วคราวในขณะที่หมู่บ้านและทางก็องตงจะยังคงมองหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกว่านี้ต่อไป

ทว่าพวกนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ยังได้ออกมาเตือนว่า สวิตเซอร์แลนด์ที่ต้องเผชิญกับจำนวนผู้ลี้ภัยที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ใช้ที่พักของทหารหลายแห่งเป็นที่อยู่ระยะยาวของผู้แสวงหาที่พักพิงกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เดนิส กราฟ จากองค์การนิรโทษกรรมสากลสาขาสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า เธอทราบว่ามีผู้ลี้ภัยต้องอยู่อาศัยในพักลักษณะนั้นนานถึง 9 เดือนซึ่ง “ทั้งมีกลิ่นเหม็น อากาศไม่ถ่ายเท ไม่มีแสงสว่าง และมีเสียงดังรบกวน”

แต่ที่เมืองโซโลเธิร์นอันสงบสุขและสวยงาม ก็มีผู้คนจำนวนมากที่ต่างโกรธแค้นที่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย อัฟกานิสถาน และตุรกีพากันออกมาประท้วง และแฮนซีกล่าวว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสลายการชุมนุมเนื่องจากกลัวว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาจถูกคนที่ไม่พอใจทำร้าย

“เท่าที่ดิฉันทราบมาระบบของประเทศเราเป็นเพียงที่เดียวซึ่งให้ที่พักอย่างเป็นสัดส่วน อาหาร และกระทั่งเงินแก่ผู้ลี้ภัย หากพวกเขาตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน” มาเรีย ลูเธอร์แบเชอร์ หญิงวัย 50 ปีกล่าว อีกทั้งเสริมว่า “สวิตเซอร์แลนด์ทำอะไรต่างๆ ให้พวกเขามากพอแล้ว พวกเขาไม่ควรจะบ่น”
ทางเข้าที่พักผู้ลี้ภัยที่อยู่ที่ดิน
ฟาบิโอ เจเกอร์ ชายวัย 50 ซึ่งเป็นประธานบริษัทโลจิสติกส์แห่งหนึ่งกล่าวสำทับว่า “ผมเคยประจำอยู่ในกองทัพสวิสนานหลายปี และอาศัยในที่พักแบบนั้น มันไม่ใช่โรงแรมหรูระดับ 5 ดาวแต่ผมก็อยู่ได้” เขากล่าว

ผู้แสวงหาที่พักพิงควรสำนึกในคุณค่าของสิ่งที่สวิตเซอร์แลนด์มอบให้พวกเขา เขากล่าว อีกทั้งชี้ว่า “ถึงอย่างไรก็ดีกว่าสถานการณ์ที่เข้าต้องเผชิญในประเทศของพวกเขาแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอื่นๆ ซึ่งรู้สึกเสียใจที่คนเหล่านี้ไม่ได้รับความเมตตาเท่าที่ควร

“ดิฉันคิดว่าคนจำนวนมากด่วนตัดสินคนเหล่านี้ผู้ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นผู้ลี้ภัยจริงๆ เร็วเกินไปสักหน่อย” บริจิตตา ฮิวกิน ชาวเมืองโซโลเธิร์นกล่าว

“คนจำนวนมากที่นี่บอกว่าถ้าพวกเขาอยู่ที่นี่แล้วไม่มีความสุขพวกเขาก็ควรจะกลับบ้านไป แต่นั่นมักเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”

มัทเธียส ชเนเบอร์เกอร์ ชายวัย 36 ปีผู้ซึ่งอยู่ระหว่างรอรถไฟเพื่อเดินทางกลับบ้านที่กรุงเบิร์น ในวันสุดท้ายของสัปดาห์แห่งการทำงานในเมืองโซโลเธิร์น กล่าวว่าเขาเข้าใจว่าทำไมคนเมืองนี้ต่างรู้สึกไม่พอใจที่มีการประท้วง

แต่มันเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่นำสภาพความเป็นอยู่ในประเทศของผู้แสวงหาที่พักพิงมาเปรียบเทียบกับที่พักอาศัยที่ทางการสวิสจัดหาให้ เนื่องจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่เกิดสงครามและประสบกับความลำบากมานานหลายศตวรรษแล้ว

“เมื่อคุณมาที่นี่แล้วแล้วได้เห็นสาธารณูปโภคอันหรูหราทั้งหมดที่นี่” เขากล่าว “การถูกขอให้ไปอาศัย (ในที่พักใต้ดิน) ก็จะกลายเป็นเรื่องยากไปในทันที”
กำลังโหลดความคิดเห็น