xs
xsm
sm
md
lg

อินโดฯ “เกรี้ยว” ออสซีอีกระลอก หลังแดนจิงโจ้ส่งผู้ลี้ภัยกลับเกาะชวา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือของทางการออสเตรเลียที่นำผู้ลี้ภัยราว 60 ชีวิตมาทิ้งไว้ที่เกาะชวา
เอเอฟพี – เกิดการประจันหน้ากันทางทะเลระหว่างอินโดนีเซีย กับออสเตรเลีย ในวันนี้ (8 พ.ย.) ภายหลังที่แดนอิเหนาปฏิเสธไม่ให้เรือออสซีพาผู้แสวงหาที่ลี้ภัยหลายสิบชีวิตมาทิ้งไว้ที่เกาะชวา

ความขัดแย้งครั้งนี้ปะทุขึ้นภายหลังที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งออกมาแฉว่า ออสเตรเลียแอบบันทึกข้อมูลโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของแดนอิเหนา จนเกิดบรรยากาศตึงเครียดระหว่างสองประเทศอยู่แล้ว รวมทั้งยิ่งกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามถึงนโยบายว่าด้วยผู้ลี้ภัยอันเข้มงวด ของนายกรัฐมนตรี โทนี แอบบอตต์ แห่งออสเตรเลีย

ทางการอินโดนีเซียแถลงว่า เมื่อวานนี้ (7) ภายหลังได้รับสัญญาณแจ้งเหตุร้าย ก็พบว่ามีเรือออสเตรเลียนำผู้ลี้ภัยราว 60 ชีวิต มายังตอนใต้ของเกาะชวา อันเป็นสถานที่ซึ่งผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวนมากมักจะพากันมาขึ้นเรือไม้สภาพผุพัง เพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังออสเตรเลีย

ภายใต้นโยบายผู้ลี้ภัยที่แข็งกร้าวของแอบบอตต์ ผู้ลี้ภัยที่มากับเรือที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น จะถูกออสเตรเลียผลักดันกลับไปอินโดนีเซีย หากอยู่ในสภาวการณ์ที่ปลอดภัยพอที่จะทำเช่นนั้นได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียเคยออกมาแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายดังกล่าว และวันนี้ (8) ก็ได้คัดค้านหัวชนฝาไม่ให้ออสเตรเลียส่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับมายังเกาะชวา

“รัฐบาลอินโดนีเซีย ไม่เคยยอมรับความประสงค์ และนโยบายเช่นนี้ของออสเตรเลีย” ดโจโก สุยันโต รัฐมนตรีประสานงาน กิจการด้านการเมือง กฎหมาย และความมั่นคงของอินโดนีเซีย บอกเอเอฟพีด้วยการส่งข้อความทางโทรศัพท์
เกาะคริสต์มาส
“เราเคยแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบตั้งแต่สมัยของ (อดีตนายกรัฐมนตรี) เควิน รัดด์ แล้ว และจะไม่มีการเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ที่ต้องการไปออสเตรเลีย ในสมัยรัฐบาลแอบบอตต์อีก

“ออสเตรเลียก็มี ศูนย์กักกัน ของพวกเขาเองที่นาอูรู และปาปัวนิวกินีแล้ว และนั่นเป็นสถานที่ที่ควรส่งผู้ลี้ภัยไป ไม่ใช่ที่อินโดนีเซีย”

นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า ที่อินโดนีเซียยอมรับผู้ลี้ภัย ซึ่งมากับเรือของออสเตรเลียในครั้งก่อนๆ ก็เพียงเพราะคนเหล่านั้นจมน้ำ หรือได้รับบาดเจ็บ

ทั้งนี้ ทุกๆ ปี จะมีผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอิหร่าน และอัฟกานิสถาน พากันเดินทางมาขึ้นเรือไม้ที่ผุพังทรุดโทรมในอินโดนีเซีย เพื่อพยายามข้ามน้ำข้ามทะเลไปออสเตรเลียอย่างเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ซึ่งปกติแล้วพวกเขาจะเดินทางไปยังเกาะคริสต์มาสที่อยู่ในอาณาเขตของออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยที่ล่องเรือไปที่ออสเตรเลียอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากในออสเตรเลีย และการประกาศป้องกันไม่ให้คนกลุ่มนี้ไหลบ่าเข้าไปก็เป็นนโยบายสำคัญ ที่ทำให้แอบบอตต์ได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้นำของประเทศเมื่อเดือนกันยายน

ทางด้านบรรดานักวิจารณ์กล่าวหาออสเตรเลียว่า นโยบายใหม่ของประเทศ ไม่เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ

ทั้งนี้ บรรยากาศแห่งความตึงเครียดระหว่างอินโดนีเซีย กับออสเตรเลียได้พุ่งสู่จุดเดือด ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังที่หนังสือพิมพ์ “ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลด์” เปิดโปงว่า ออสเตรเลียแอบร่วมมือกับสหรัฐฯ ในภารกิจลอบสอดแนมชาติต่างๆ ทั่วเอเชีย ซึ่งอินโดนีเซียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ตกเป็นเหยื่อด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น