รอยเตอร์/บีบีซีนิวส์ - ไมเคิล บลูมเบิร์ก อภิมหาเศรษฐีที่เป็นอดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก บอกกับพวกผู้ช่วยของเขาให้จัดทำแผนการสำหรับการที่เขาจะลงสมัครแบบอิสระ เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯปลายปีนี้ โดยเขายินดีที่จะควักเงินส่วนตัว 1,000 ล้านดอลลาร์ มาใช้จ่ายเพื่อการนี้ ทั้งนี้ ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวซึ่งทราบเรื่องนี้
บลูมเบิร์ก ได้บอกกับเพื่อน ๆ และผู้ร่วมงานของเขาว่า ถ้าเขาลงสมัคร เขาก็ยินดีที่จะควักเงินส่วนตัวของเขาอย่างน้อยที่สุด 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้จ่ายในการรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นตอนต้นเดือนพฤศจิกายน 2016 แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องดีผู้นี้บอกกับรอยเตอร์ โดยขอมิให้เปิดเผยนาม
ก่อนหน้านี้ พวกสื่อมวลชนในสหรัฐฯก็พากันตีข่าวเรื่องบลูมเบิร์กกำลังพิจารณาที่จะลงสมัครประธานาธิบดี โดยที่นิวยอร์กไทมส์ เป็นเจ้าแรกซึ่งรายงานเรื่องนี้เอาไว้ในวันเสาร์ (23 ม.ค.)
บลูมเบิร์ก ซึ่งปัจจุบันอายุ 73 ปี ให้เวลาตนเองจนกระทั่งถึงต้นเดือนมีนาคมนี้สำหรับการพิจารณาตัดสินใจว่าจะลงแข่งขันด้วยหรือไม่ แหล่งข่าวรายนี้บอก ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ บลูมเบิร์กได้ว่าจ้างให้ทำโพลสำรวจเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อดูว่าคะแนนนิยมของเขาเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเก็งที่จะได้เป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน ตามลำดับ
เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้สมัครจากพรรคหรือฝ่ายที่ 3 นั่นคือ นอกเหนือจากพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ซึ่งสามารถชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทว่า ตามการบอกเล่าของแหล่งข่าว บลูมเบิร์ก ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวอลล์สตรีท และมีทัศนะความคิดเห็นทางด้านสังคมแบบเสรีนิยม มองเห็นว่ามีโอกาสสำหรับการลงชิงชัยของเขา ถ้าหากผู้ที่ได้เป็นผู้สมัครของรีพับลิกัน คือ โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯจากรัฐเทกซัส และทางฝั่งเดโมแครต คนที่ได้เป็นผู้สมัครของพรรคคือ เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกสหรัฐฯจากรัฐเวอร์มอนต์
บลูมเบิร์ก ซึ่งนิตยสารฟอร์บส์ ระบุว่า มีทรัพย์สินความมั่งคั่งรวม 36,500 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนตัวแล้วแสดงความสนใจและพิจารณาหยั่งเชิงในเรื่องจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือไม่มาเป็นเวลานานทีเดียว เขาชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กระหว่างปี 2002 จนถึงปี 2013 โดยระหว่างนั้นเขาประกาศเปลี่ยนพรรคที่สังกัดจากรีพับลิกกันมาเป็นผู้สมัครอิสระในปี 2007 อีกทั้งในปีหลัง ๆ มานี้ เขาใช้จ่ายเงินเป็นล้าน ๆ ดอลลาร์ ทำการรณรงค์ระดับชาติให้เพิ่มความเข้มงวดในกฎหมายเรื่องปืนของสหรัฐฯ และให้ดำเนินการปฏิรูปนโยบายผู้อพยพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคิดแบบเสรีนิยม และขัดแย้งกับเสียงส่วนใหญ่ในพรรครีพับลิกัน
แม้ไม่ชนะ แต่บลูมเบิร์กก็จะทำให้ฐานเสียงเดโมแครตเกิดการแตกแยก
ถึงแม้ไม่เคยมีผู้สมัครจากพรรคหรือฝ่ายที่ 3 เคยชนะได้ครอบครองทำเนียบขาวก็ตามที แต่ในอดีตที่ผ่านมา การลงแข่งขันของพวกเขาหลาย ๆ คนก็ส่งผลกระทบกระเทือนการชิงชัยโดยรวม เป็นต้นว่า ในปี 1992 นักธุรกิจเทกซัส รอสส์ เปอโรต์ ลงแข่งขันในฐานะผู้สมัครอิสระ อันเป็นการตัดสินใจซึ่งบางคนเชื่อว่า มีส่วนช่วยให้ บิล คลินตัน ของเดโมแครต เอาชนะ จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ผู้สมัครของรีพับลิกันที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่
บลูมเบิร์กนั้นได้คะแนนนิยม 13% ในคำถามสมมติที่ขอให้ผู้ออกความเห็น เลือกในระหว่างผู้ชิงชัย 3 ราย คือ บลูมเบิร์ก, ทรัมป์, และ คลินตัน ในการสำรวจซึ่งกระทำช่วงวันที่ 14 - 17 มกราคม โดยบริษัทจัดทำโพล มอร์นิง คอนซัลต์ ขณะที่ ทรัมป์ กับ คลินตัน ได้คะแนนคู่คี่กันมากคือ 37% และ 36% ตามลำดับ
แรงจูงใจส่วนหนึ่งที่ทำให้บลูมเบิร์กอาจลงแข่งขันด้วย มาจากความหงุดหงิดผิดหวังต่อการรณรงค์หาเสียงของคลินตัน แหล่งข่าวรายนี้ กล่าว ทั้งนี้ คลินตันถูกไล่ต้อนไม่รู้แล้วด้วยคำถามเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตของเธอ ท่ามกลางการสอบสวนที่ยังดำเนินอยู่ในเรื่องที่เธอใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวเป็นเซิร์ฟเวอร์เก็บอีเมลของเธอ ระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ
แซนเดอร์ส ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญที่สุดของคลินตันในพรรคเดโมแครต ทำคะแนนพุ่งแรงในโพลสำรวจครั้งหลัง ๆ ในมลรัฐที่จะมีการเลือกตั้งขั้นต้นก่อนรัฐอื่น ๆ อย่าง ไอโอวา และ นิวแฮมป์เชียร์ พัฒนาการดังกล่าวนี้เอง ทำให้บลูมเบิร์กเพิ่มความกังวลใจว่า การเลือกตั้งสนามใหญ่จริง ๆ ในต้นเดือนพฤศจิกายน จะกลายเป็นการลงแข่งขันกันระหว่าง แซนเดอร์ส ผู้ประกาศตนเองเป็นนักสังคมนิยม กับ ทรัมป์ หรือไม่ก็ ครูซ ซึ่งทั้งคู่ต่างแสดงตนเป็นพวกขวาจัดในประเด็นอย่างเช่นเรื่องผู้อพยพ
หลังมีข่าวเรื่องบลูมเบิร์กพิจารณาที่จะลงสมัครในฐานะฝ่ายที่ 3 ปรากฏว่า วุฒิสมาชิก แรนด์ พอล ผู้เข้าแข่งขันเพื่อให้ได้เป็นผู้สมัครของรีพับลิกันคนหนึ่ง กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เรื่องนี้จะเป็นผลดีต่อรีพับลิกัน โดยอาจจะทำให้คะแนนเสียงของเดโมแครตแตกแยกกัน และนั่นน่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับชาวรีพับลิกัน
ขณะที่ แอนโธนี ซูร์เชอร์ ผู้สื่อข่าวในกรุงวอชิงตันของบีบีซีนิวส์ ก็มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ถ้าบลูมเบิร์กลงแข่งขัน เขาน่าจะดึงคะแนนเสียงออกมาจากเดโมแครต ขณะที่รีพับลิกันซึ่งอาจหันมาโหวตให้เขา ก็จะเป็นรีพับลิกันจากพวกมลรัฐเสรีนิยมอย่าง แถบนิวอิงแลนด์, มิดแอตแลนติก และเวสต์โคสต์ ซึ่งเป็นรัฐที่ผู้สมัครของเดโมแครตชนะได้อย่างไม่ยากเย็นอยู่แล้ว