xs
xsm
sm
md
lg

จากโรฮีนจา มองนโยบายผู้อพยพของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรณีผู้อพยพโรฮีนจาเป็นเผือกร้อนที่นานาชาติต่างโยนเข้าหากัน เพราะหลายประเทศกระอักกระอ่วนที่จะเปิดประตูรับผู้อพยพ รวมทั้ง ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็มีนโยบายผู้อพยพที่เข้มงวดมาก โดยมีอัตรารับผู้อพยพเพียงแค่ 0.2% ของผู้แสดงความจำนงค์ทั้งหมดเท่านั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คลื่นผู้อพยพจำนวนมหาศาลได้หลั่งไหลไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วโลก ทำให้ประชาคมนานาชาติได้ตกลงร่วมกันใน “สนธิสัญญาผู้อพยพขององค์การสหประชาชาติ” ในปี 1951 เพื่อกำหนดสถานะและให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมกับผู้อพยพลี้ภัย ซึ่งญี่ปุ่นได้รับรองเข้าร่วมในสนธิสัญญานี้ในอีก 30 ปีต่อมา คือ ปี 1981

สถานการณ์ผู้อพยพที่เดิมผ่อนคลายลงเริ่มกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อเกิดสงครามของกลุ่มรัฐอิสลามในซีเรียและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งผู้อพยพโรฮีนจาจากพม่า ทำให้องค์การสหประชาชาติประเมินว่า จำนวนผู้อพยพลี้ภัยทั่วโลกในปี 2014 มีมากกว่า 51ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

แน่นอนว่า บรรดาผู้อพยพทั้งหลายย่อมต้องการมีชีวิตใหม่ในประเทศที่เจริญก้าวหน้า และมีระบบสวัสดิการที่ดี ซึ่ง ญี่ปุ่น ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งเหล่าผู้อพยพ


ประตูสูงใหญ่ที่แทบจะปิดตาย

ถึงแม้ ญี่ปุ่น ได้รับรองเข้าร่วมในสนธิสัญญาผู้อพยพของสหประชาชาติ คือ ปี 1981 และมีผู้ยื่นเรื่องของสถานะผู้ลี้ภัยในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกปี หากแต่ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการรับผู้อพยพน้อยที่สุด

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในปี 2014 มีผู้ยื่นขอสถานะผู้อพยพเพื่ออาศัยในญี่ปุ่นมากถึง 5,000 คน แต่มีผู้ผ่านการพิจารณาเพียงแค่ 11 ราย หรือ คิดเป็น 0.2% เท่านั้น

รัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่า สาเหตุที่เข้มงวดกับการรับผู้อพยพ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นไม่มีสถานที่ และโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอสำหรับการรับรองผู้อพยพ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นจะตีความอย่างเคร่งครัดว่า “ผู้อพยพจะต้องจะต้องได้รับความหวาดกลัว หรือถูกคุกคามจากรัฐบาลประเทศของตนเอง อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ, ศาสนา หรือแนวคิดทางการเมือง” ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น ระบุว่า มีผู้ยื่นเรื่องเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เข้าข่ายการพิจารณาดังกล่าว


ขั้นตอนสุดยุ่งยาก รอนาน 3 ปี

การยื่นขอสถานะผู้อพยพในญี่ปุ่นนั้นจะต้องใช้ระยะเวลาพิจาณานานถึง 3 ปี โดยในระหว่างนั้นจะไม่สามารถทำงานหรือได้รับสวัสดิการทางสังคมใดๆ นอกจากนี้ยังต้องจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากจากประเทศต้นทาง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้อพยพจะมีเอกสารจากทางราชการของประเทศที่ตนเองหลบหนีออกมา เงื่อนไขดังกล่าวนี้ทำให้ผู้อพยพยากที่จะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อรอคอยความหวังอันริบหรี่ได้

NGO ที่ทำงานช่วยเหลือผู้อพยพ วิจารณ์ว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นแทบจะไม่มีความโปร่งใสหรือมาตรฐานอันแน่ชัดในการให้สถานะผู้อพยพ โดยทางการญี่ปุ่นยึดแนวคิดในการควบคุมคนเข้าเมือง มากกว่าจะคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน


ผ่านด่านกฎหมายได้ ก็ “อยู่ยาก”

ถึงแม้จะมีผู้โชคดีจำนวนหนึ่งที่ผ่านการคัดกรองอย่างเข้มงวดของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น หากแต่ผู้อพยพชาวต่างชาติเหล่านี้แทบจะหางานทำไม่ได้ในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังไม่อาจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมชาวญี่ปุ่นได้อย่างสนิทใจ เนื่องจากวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นที่มีความเป็นชาตินิยม และแบ่งความเป็น “คนใน” และ “คนนอก” อยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งจำเป็นต้องตัดลดสวัสดิการทางสังคมของประชาชน เนื่องจากภาระงบประมาณและเศรษฐกิจที่ซบเซา ก็ไม่อยากที่จะต้องเผชิญคำถามจากประชาชนที่ว่า “สวัสดิการของคนในประเทศตัวเองยังไม่เพียงพอ แล้วยังจะต้องรับดูแลผู้อพยพต่างชาติอีกหรือ?”


สนับสนุนเงินช่วยเหลือ แทนจะรับเข้าประเทศ

ถึงแม้นโยบายปิดกั้นผู้อพยพของญี่ปุ่นจะถูกวิจารณ์อย่างมาก แต่ความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นคือผู้บริจาครายใหญ่อันดับที่ 2 ให้กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชชาติ หรือ UNHCR โดยในปี 2014 ญี่ปุ่นได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือ UNHCR มากถึง 181.61ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐสภาญี่ปุ่นยังลงมติเอกฉันท์เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะเพื่อดูแลเรื่องผู้อพยพลี้ภัย ซึ่งจะเป็นอิสระจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนของญี่ปุ่น เช่น บริษัทฟาส รีเทลลิ่ง เจ้าของกิจการร้านจำหน่ายเสื้อผ้า UNIQLO ก็ได้เปิดโครงการฝึกงานเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพด้วย

นโยบายเปิดรับผู้อพยพนั้นไม่ใช่เรื่องของมนุษยธรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวพันถึงความมั่นคงของประเทศ และสวัสดิการของประชาชนด้วย

ในยุคหนึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเคยเปิดรับผู้อพยพจากเกาหลีเหนือ คนเหล่านั้นเข้ามาพำนัก,จัดตั้งชุมชน สร้างโรงเรียน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนให้เรียนฟรี, รักษาพยาบาลราคาถูกเทียบเท่ากับชาวญี่ปุ่น หากแต่ชาวเกาหลีเหนือกลับไม่ต้องการหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น โรงเรียนยังสอนภาษาเกาหลี และให้นักเรียนเคารพผู้นำสูงสุดแห่งโสมแดง ขณะที่ธุรกิจของชาวเกาหลีเหนือในญี่ปุ่นก็มักเกี่ยวข้องกับสินค้าผิดกฎหมาย, การค้าประเวณี รวมทั้งการฟอกเงิน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่นจะรู้สึกว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกแขวนคอ”.
กำลังโหลดความคิดเห็น