รอยเตอร์ - ญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเศรษฐกิจหดตัว ในช่วงที่ประเทศนี้กำลังพยายามถีบตัวออกมาจากสภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ตัวอย่างสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ แรงงานก่อสร้างซึ่งลดลงไป 1 ใน 3 นับตั้งแต่เคยไต่ระดับขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อปี 1997 ทั้งยังมีแนวโน้มทีจะดิ่งลงเรื่อยๆ ขณะที่ 1 ใน 5 ของแรงงานในธุรกิจประเภทนี้มีอายุมากกว่า 60 ปี
กระนั้น บริษัทก่อสร้างก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงกอบโกย เพราะกำลังมีโครงการก่อสร้างใหม่ๆ ที่สืบเนื่องมาจากที่โตเกียวจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 และงานพัฒนาสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศ เพื่อทดแทนอาคารบ้านเรือนที่เสียหายจากภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2011
ทางออกง่ายๆ น่าจะเป็นการเปิดประตูรับแรงงานต่างชาติ แต่ประชาชนชาวญี่ปุ่น ซึ่งกังวลในเรื่องความปลอดภัย และผลกระทบทางวัฒนธรรม ได้ออกมาต่อต้านแนวทางนี้อย่างรุนแรง นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น จึงใช้วิธีพบกันครึ่งทาง ด้วยการขยายโครงการป้อนงานแก่ “ผู้ฝึกงาน” ชาวจีน และประเทศอื่นๆ เพื่อให้พวกเขามีโอกาสประกอบอาชีพไม่เกิน 3 ปี ในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ โครงการนี้เคยเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาแล้วก็ตาม
แผนการดังกล่าวซึ่งมีกำหนดเผยโฉมในเดือนนี้ จะพิจารณาการขยายเวลาให้ผู้ฝึกงานเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 5 ปี พร้อมกันนั้นจะมีการอะลุ่มอล่วยกฎระเบียบการจ้างงานให้แก่บรรดานายจ้าง และเพิ่มอัตราการจ้างงานให้แก่แรงงานต่างชาติ
แผนการนี้มีขึ้นภายหลังเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยได้ตัดสินใจอนุญาตให้แรงงานก่อสร้างซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโครงการฝึกงานเสร็จสิ้นแล้ว สามารถกลับมาทำงานเป็นแรงงานปกติได้อีก 2 ถึง 3 ปี
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า ไม่มีการกำหนดจำนวนแรงงานต่างชาติที่ต้องการอย่างเฉพาะเจาะจง แต่การปฏิรูปครั้งนี้ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดให้แก่แรงงานต่างชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แผนเศรษฐกิจของอาเบะระบุเจาะจงว่า การขยายโครงการดังกล่าวไม่ถือเป็น “นโยบายผู้อพยพ”
พรรคประชาธิปไตยเสรี ของอาเบะต้องการกวดขันการควบคุมดูแลโครงการนี้ ด้วยการกำหนดบทลงโทษสำหรับบริษัทที่ละเมิดสิทธิแรงงานให้รุนแรงยิ่งขึ้น อีกทั้งมอบหมายให้ผู้ตรวจสอบจากภายนอก และรัฐบาลท้องถิ่นคอยสอดส่องว่ามีการฝ่าฝืนกฎระเบียบหรือไม่