เอพี - หลังจากนายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบ็อตต์ แถลงร่วมมือสหรัฐฯ ส่งอาวุธป้อนให้กองกำลังเคิร์ดต่อสู้กับ IS ในวันอาทิตย์ (31 ส.ค.) รัฐบาลเยอรมันของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ประกาศจัดส่งอาวุธหนักทันสมัยส่งให้กองกำลังเคิร์ดเช่นกัน โดยการจัดส่งจะทำ 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน คาดว่าอาวุธทั้งหมดที่มีตั้งแต่ปืนไรเฟิลรุ่นล้ำสมัย ระบบต่อต้านรถถัง และยานหุ้มเกราะจะเพียงพอต่อกองกำลังเคิร์ดในอิรักราว 4,000 นาย
เออร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยิน (Ursula von der Leyen) รัฐมนตรีกลาโหมหญิงของเยอรมนีได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ถึงการจัดส่งอาวุธสนับสนุนเคิร์ดทำสงครามกับ IS ว่า “นี่ถือเป็นผลประโยชน์ทางความมั่นคงของเยอรมัน”
ทั้งนี้ เยอรมนีร่วมกับสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศยุโรป เช่น แอลเบเนีย โครเอเชีย และเดนมาร์ก ส่งอาวุธทันสมัยให้กับกองทัพเคิร์ดในอิรัก
ออสเตรเลียตัดสินใจส่งอาวุธสนับสนุนกองกำลังชาวเคิร์ด ภายหลังที่เมื่อเดือนสิงหาคม แคนเบอร์ราได้ส่งอากาศยานไปร่วมโปรยสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้ชนกลุ่มน้อยในอิรักที่หลบหนีการไล่ล่าของกลุ่มไอเอส จนขึ้นไปติดบนเขาซินจาร์ทางตอนเหนือของประเทศ
รัฐบาลอิรักกำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อยึดคืนพื้นอันกว้างใหญ่ของประเทศกลับคืนมา หลังถูกกลุ่มติดอาวุธภายใต้การนำของ IS หรือที่เป็นที่รู้จักในชื่อ ISIL และ ISIS ขยายอิทธิพลยึดครองเมืองโมซุลเมื่อเดือนมิถุนายน และโจมตีกวาดล้างใจกลางถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ ขณะที่กองกำลังความมั่นคงอิรักต้องหนีหัวซุกหัวซุน
และวันเสาร์ (30) กองทัพสหรัฐฯ ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ไปโจมตีกองกำลัง IS ในอิรัก และระดมส่งอากาศยานไร้นักบินหลายลำออกจู่โจมในบริเวณใกล้เขื่อนโมซุล
อาวุธที่เยอรมนีคาดว่าจะจัดส่งประกอบไปได้วยปืนไรเฟิล G36 8,000 กระบอก และปืนไรเฟิล G3 อีก 8,000 กระบอก พร้อมกระสุน รวมไปถึงเครื่องยิงลูกระเบิดต่อสู้รถถัง แพนเซอร์ฟอสต์ (Panzerfaust) เครื่องยิงบาซูก้า (bazookas) ระบบต่อต้านรถถังมิลานรัศมีการทำลายระยะไกล 30 กระบอก รวมไปถึงยานหุ้มเกราะดินโก้ 5 คัน
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี แฟรงค์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) ให้สัมภาษณ์ว่า “อาวุธเหล่านี้ถือเป็นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เยอรมนีได้หยิบยื่นให้กับพลเรือนชนกลุ่มน้อยอิรักที่ถูก IS สังหาร”
และการตัดสินใจครั้งนี้สร้างกระแสวิพากษ์รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ที่ตัดสินใจนำเยอรมนีเข้าสู่รัฐที่มีนโยบายการทหารนำนับตั้งแต่เริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 75 ปี “นี่ไมใช่การตัดสินใจอย่างง่ายๆ สำหรับเยอรมนี แต่เป็นหนทางเดียวที่มีอยู่ในขณะนี้ที่เหลือในขณะที่ช่องทางอื่นยังไม่ปรากฏ” สไตน์ไมเออร์กล่าว
นอกจากนี้ สไตน์ไมเออร์ยังส่งสัญญาณไปให้รัฐบาลใหม่ของอิรัก ว่าจะมาจากคนจากทุกภาคส่วนในอิรัก รวมถึงกลุ่มสุหนี่ที่กำลังต่อสู้ในอิรักในขณะนี้