บีบีซีนิวส์ - รัฐมนตรีกลาโหม อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ของเยอรมนี ออกมาแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า เธอแอบคัดลอกผลงานของคนอื่นมาใส่ไว้ในบางส่วนของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเธอ
เว็บไซต์ “วโรนิพลัก วิกิ” (VroniPlag Wiki) ซึ่งอาศัยประชาชนวงกว้างเป็นแหล่งข่าวในการติดตามไล่ล่าพวกแอบลอกผลงานของคนอื่น ระบุว่าในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกปี 1990 ของ ฟอน เดอร์ เลเยน ซึ่งมีทั้งสิ้น 62 หน้านั้น มีอยู่ 27 หน้าได้พบ “หลายๆ ตอนที่เป็นการแอบลอกผลงานคนอื่น”
ขณะที่ รัฐมนตรีกลาโหมหญิงของเยอรมนีผู้นี้ตอบโต้ว่า หลังจากเธอได้ทราบข้อกล่าวหาเหล่านี้แล้ว เธอยังได้ขอให้มหาวิทยาลัยที่เธอสำเร็จการศึกษามา ทำการประเมินวิทยานิพนธ์ของเธออีกครั้งเพื่อยืนยันให้เกิดความมั่นใจ
ฟอน เดอ เลเยน บอกกับสื่อมวลชนเยอรมันว่า ข้อกล่าวหาเช่นนี้ “ไม่ใช่เรื่องใหม่ พวกนักเคลื่อนไหวทางอินเทอร์เน็ตนั้น เที่ยวเผยแพร่ข่าวคราวซึ่งก่อให้เกิดความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ของนักการเมือง”
ตัวเธอเองทราบมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้ว ว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเธอกำลังถูกตรวจสอบขุดคุ้ย เธอบอกกับหนังสือพิมพ์ “เวสต์ฟาเลนโพสต์” พร้อมระบุว่าในวันเดียวกับที่เธอได้รับการกล่าวเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอก็ติดต่อกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮันโนเวอร์ เพื่อขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการ “ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและมีความเป็นกลาง” มาตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของเธอ
ฟอน เดอร์ เลเยน ซึ่งสังกัดพรรคซีดียู อันเป็นพรรคแนวทางกลาง-ขวา ของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ได้รับใบประกอบโรคศิลป์ให้เป็นแพทย์ได้ในปี 1987 จากนั้นก็ได้รับปริญญาเอกด้านแพทยศาสตร์ในปี 1991 ทั้งนี้ตามประวัติย่อที่ปรากฏในเว็บไซต์ของเธอ
เธอทำงานเป็นนรีแพทย์ และในด้านงานสาธารณสุข และให้กำเนิดบุตร 7 คน ก่อนจะหันเข้าสู่วงการเมือง โดยเริ่มต้นด้วยการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐนีเดอร์ซัคเซิน (โลว์เออร์แซกโซนี)
ฟอน เดอร์ เลเยน ขึ้นชั้นเป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลสหพันธรัฐ ในคณะรัฐมนตรีชุดแรกของแมร์เคิลเมื่อปี 2005 และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมตั้งแต่ปี 2013
ก่อนหน้านี้ แมร์เคิลต้องสูญเสียรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของเธอไปแล้ว 2 คน เมื่อพวกเขาต้องลาออก ภายหลังเกิดกรณีอื้อฉาวเรื่องลอกวิทยานิพนธ์ และมหาวิทยาลัยที่พวกเขาร่ำเรียนมาได้มีมติเพิกถอนปริญญาเอกที่อนุมัติให้แก่คนทั้งสอง
ทั้งนี้ เมื่อปี 2011 คาร์ล-เทโอดอร์ ซู กุทเทนแบร์ก รัฐมนตรีกลาโหมในเวลานั้น ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังเขาถูกตรวจสอบพบว่าในวิทยานิพนธ์ของเขามีหลายๆ ตอนทีเดียวที่แอบลอกผลงานของคนอื่นมา
จากนั้นในปี 2013 รัฐมนตรีศึกษาธิการ อันเนทท์ ชาฟัน ก็ถูกบังคับให้ลงจากเก้าอี้ ภายหลังมหาวิทยาลัยที่เธอสำเร็จการศึกษามา ประกาศเพิกถอนปริญญาเอกที่อนุมัติให้เธอ
แต่ใช่ว่าจะมีเพียงนักการเมืองชาวเยอรมันในแนวทางอนุรักษนิยมเท่านั้น ซึ่งตกกระป๋องเพราะถูกขุดคุ้ยเรื่องแอบลอกผลงานคนอื่น พวกนักการเมืองฝ่ายกลางหรือฝ่ายซ้ายก็เจอเหมือนกัน เป็นต้นว่า ซิลฟานา คอค-เมห์ริน จากพรรคเอฟดีพี ที่มีแนวทางเสรีนิยม ต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานรัฐสภายุโรปในปี 2011หลังเจอข้อหล่าวหาว่าในวิทยานิพนธ์ของเธอไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของข้อมูลให้ถูกต้อง ต่อจากนั้นมหาวิทยาลัยที่เธอศึกษามาก็ประกาศถอนปริญญาเอกที่อนุมัติให้แก่เธอ