เอเจนซีส์ - รัฐบาลเยอรมนีมีมติอนุมัติงบประมาณเสริม 3,000 ล้านยูโร เพื่ออุดหนุนรัฐและเทศบาลเมืองต่างๆ ที่จะต้องรองรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยสงครามจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้
ระหว่างการประชุมฉุกเฉินซึ่งกินเวลานานกว่า 5 ชั่วโมงเมื่อวันอาทิตย์ (6 ก.ย.) คณะผู้นำในรัฐบาลนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ยังเห็นชอบในมาตรการอื่นๆ เช่น การปรับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนให้มีความรวดเร็ว และเร่งก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้ลี้ภัย
นอกจากงบอุดหนุน 3,000 ล้านยูโรที่จะแจกจ่ายแก่รัฐและเทศบาลเมืองต่างๆ แล้ว กรุงเบอร์ลินยังมีแผนอนุมัติงบเสริมอีก 3,000 ล้านยูโรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของรัฐบาลเอง เช่น การจ่ายสวัสดิการให้แก่ผู้ลี้ภัย เป็นต้น คำแถลงจากรัฐบาลผสมเยอรมนีวันนี้ (7) ระบุ
ที่ประชุมยังได้มีมติเพิ่มรายชื่อประเทศต้นทางที่จัดว่า “ปลอดภัย” ซึ่งหมายถึงประเทศที่พลเมืองส่วนใหญ่ไม่มีการขอลี้ภัย ได้แก่ โคโซโว แอลเบเนีย และมอนเตเนโกร ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้อยู่แล้ว ได้แก่ เซอร์เบีย มาร์ซิโดเนีย และบอสเนีย
วัตถุประสงค์ของการจัดกลุ่มประเทศต้นทางก็เพื่อให้การพิจารณาคุณสมบัติผู้ลี้ภัยทำได้รวดเร็วขึ้น และสามารถสกัดกั้นผู้อพยพจากยุโรปตะวันออกเฉียงใต้เพื่อที่จะเปิดรับเฉพาะผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศซึ่งเกิดสงคราม เช่น ซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์มีคลื่นผู้อพยพหลั่งไหลเข้าไปยังเมืองเบียร์ราว 18,000 คน หลังจากเยอรมนีและออสเตรียทำข้อตกลงกับฮังการีให้งดเว้นขั้นตอนการลงทะเบียนผู้ลี้ภัยในประเทศอียูแห่งแรกที่ผู้อพยพเดินทางเข้ามาถึง
การที่ แมร์เคิล ตัดสินใจอ้าแขนรับผู้อพยพนับหมื่นคนที่ตกค้างอยู่ในฮังการี ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในรัฐบาลผสมของเธอ โดยพรรค คริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (CSU) จากรัฐบาวาเรีย ซึ่งเป็นพรรคน้องของพรรค คริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน (CDU) ของแมร์เคิล ถึงกับกล่าวหาว่านายกฯ กำลัง “ส่งสัญญาณผิดๆ”
หนังสือพิมพ์ บิลด์ อัม ซอนน์แท็ก ซึ่งเป็นสื่อขายดีของเมืองเบียร์รายงานในฉบับวันอาทิตย์(6) ว่า ฮอร์สต์ ซีโฮเฟอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาวาเรีย และผู้นำพรรคซีดียูหลายคนซึ่งได้เรียกประชุมด่วนเมื่อวันเสาร์(5) มีมติว่าคำสั่งเปิดพรมแดนรับผู้อพยพของ แมร์เคิล “เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลกลาง”
ก่อนหน้านั้น โจอาคิม เฮอร์มานน์ รัฐมนตรีมหาดไทยแห่งรัฐบาวาเรียซึ่งเป็นจุดที่ผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ก็ออกมาตำหนิ แมร์เคิล ที่ตัดสินใจรับผู้ลี้ภัยโดยไม่ปรึกษาหารือกับผู้นำรัฐต่างๆ ที่จะต้องเป็น “ด่านหน้า” เสียก่อน
เยอรมนีซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปประกาศจะรับผู้อพยพเข้าประเทศถึง 800,000 คนในปีนี้ ซึ่งถือว่ามากกว่าประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรป เฉพาะเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีผู้อพยพลงทะเบียนในเยอรมนีแล้วมากกว่า 100,000 คน