เอเจนซีส์ - ผู้อพยพเรือนพันเรือนหมื่นพากันหลั่งไหลเข้าสู่เยอรมนีในวันอาทิตย์ (6 ก.ย.) แล้วยังมีอีกจำนวนมากที่กำลังเดินทางผ่านจากออสเตรีย ภายหลังฮังการีผ่อนคลายมาตรการอันเข้มงวดที่ประกาศใช้บังคับมาหลายวัน ขณะเดียวกันรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงถกเถียงกันไม่ได้ข้อยุติว่าจะรับมือกับวิกฤตครั้งร้ายแรงนี้กันอย่างไร
ภายหลังการเผชิญหน้าและสถานการณ์อลหม่านวุ่นวายนานหลายวัน ในที่สุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (5) ฮังการีก็ยอมเปิดด่านชายแดนติดกับออสเตรีย และจัดรถบัสนำผู้อพยพนับพันคนไปส่งที่ชายแดน นอกจากนี้ยังมีผู้อพยพจำนวนมากที่ถูกกีดกันไม่ให้ขึ้นรถไฟในกรุงบูดาเปสต์ เริ่มเดินเท้าไปตามมอเตอร์เวย์มุ่งหน้าสู่ออสเตรีย
เจ้าหน้าที่ออสเตรียเผยว่า ภายใน 24-48 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้อพยพถึงราว 10,000 คนผ่านแดนเข้าสู่ประเทศ ทั้งด้วยรถบัส รถไฟ รวมถึงเดินเท้า และเสริมว่า รัฐบาลยังไม่มีแผนจำกัดจำนวนผู้อพยพ
ตรงกันข้าม ออสเตรียและเยอรมนี กำลังจัดเตรียมรถไฟเพิ่มเพื่อรองรับคลื่นผู้อพยพ โดยในส่วนรัฐบาลเยอรมนีนั้นมีกำหนดประชุมฉุกเฉินช่วงเย็นวันอาทิตย์ (6)
รายงานระบุว่า ผู้อพยพจำนวนมากที่เดินทางถึงออสเตรีย ยังคงไปต่อสู่มิวนิก เมืองใหญ่ทางตอนใต้ของเยอรมนี โดยที่นั่นมีประชาชนจำนวนมากมายรอต้อนรับด้วยเสียงปรบมือและขนมที่แจกจ่ายให้เด็กๆ เฉพาะวันเสาร์วันเดียว มีผู้อพยพเดินทางถึงมิวนิก 7,000 คน และคนเหล่านี้ถูกส่งไปยังศูนย์รองรับทั่วเยอรมนีเพื่อลงทะเบียนและรับแจกอาหารและเสื้อผ้า
ผู้อพยพเหล่านี้จำนวนมาก เดินทางอยู่ในยุโรปเป็นระยะทางไกล โดยมุ่งขึ้นเหนือผ่านกรีซ มาซิโดเนีย และเซอร์เบีย ก่อนถึงชายแดนด้านใต้ของฮังการี
ในวันเสาร์ มีผู้อพยพ 3,000 คนเดินทางถึงพรีเซโวด้านเซอร์เบีย ที่ติดกับมาซิโดเนีย ส่วนใหญ่ต้องนอนในเต็นท์หรือไม่ก็นอนกลางดิน
ส่วนในฮังการี ผู้อพยพราว 200-300 คนได้บุกพังศูนย์ดำเนินกรรมวิธีสำหรับผู้อพยพในเมืองรอซกี เรียกร้องให้ทางการบูดาเปสต์อนุญาตให้พวกเขาเดินทางตอไปยังเยอรมนี
ทั้งนี้ เยอรมนีและฮังการีต่างยืนยันว่า กฎที่กำหนดให้ผู้อพยพทำเรื่องขอลี้ภัยในประเทศแรกที่เดินทางถึงยังคงมีผลบังคับอยู่ อย่างไรก็ดี ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เบอร์ลินยกเลิกกฏการขอลี้ภัยของอียู สำหรับผู้อพยพจากซีเรีย โดยอนุญาตให้คนเหล่านั้นลงทะเบียนในเยอรมนี ไม่ว่าจะเดินทางถึงประเทศใดในอียูเป็นที่แรกก็ตาม
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลกล่าวว่า เยอรมนีสามารถรองรับคลื่นผู้อพยพได้ ทว่าเริ่มมีความไม่พอใจปะทุในพรรคร่วมรัฐบาล เช่น สมาชิกฝ่ายขวาบางคนเห็นว่า การยอมรับผู้อพยพเพิ่มอาจเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ขณะที่สมาชิกพรรคโซเชียลเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคการเมืองซ้าย-กลาง เห็นด้วยกับแมร์เคิล
เมืองเบียร์นั้นเป็นจุดหมายปลายทางหลักในยุโรปของผู้อพยพที่คาดว่า จะสูงถึง 800,000 คนในปีนี้ โดยผู้อพยพกลุ่มใหญ่ที่สุดคือพวกที่หนีสงครามกลางเมืองมาจากซีเรีย ตามด้วยชาวอัฟกานิสถานและชาวเอริเทรีย
อย่างไรก็ดี มีสัญญาณความร่วมมือภายในอียูน้อยมาก แม้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้มีผู้อพยพกว่า 350,000 คนข้ามแดนเข้าสู่อียูก็ตาม
เฟรเดอริกา โมเกรินี ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศอียู ประกาศหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศที่ลักเซมเบิร์กเมื่อวันเสาร์ว่า วิกฤตผู้อพยพจะยังดำเนินต่อไป และประเทศต่างๆ จะต้องร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ
เยอรมนีที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป อันเป็นองค์กรบริหารของอียู กำลังพยายามผลักดันระบบโควตาเพื่อให้ชาติสมาชิกอียูทั้งหลายแบ่งปันความรับผิดชอบในเรื่องการรับผู้อพยพ
ทว่า แนวทางนี้ถูกคัดค้านโดยสมาชิกทางยุโรปตะวันออก อาทิ ฮังการีซึ่งแม้ยอมผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทางของผู้ขอลี้ภัยเป็นการชั่วคราว แต่เวลาเดียวกันก็ยังประกาศเดินหน้าแผนควบคุมชายแดนเคร่งครัดขึ้น และอาจส่งทหารประจำการตามแนวชายแดนด้านใต้ หากได้รับอนุมัติจากรัฐสภาของตน โดยที่รั้วรวดหนามมาตรฐานนาโตที่รัฐบาลสั่งดำเนินการก่อสร้างขึ้นก่อนหน้านี้นั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในวันที่ 15 นี้
นายกรัฐมนตรีเวอร์เนอร์ เฟย์แมนน์ ของออสเตรีย ก็แถลงเตือนว่า การให้ความช่วยเหลือผู้อพยพของประเทศของเขา ถือเป็นการประกาศ “ไมตรีจิต” เป็นการชั่วคราวในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้นำยุโรปจัดประชุมสุดยอดกันในทันที หลังการประชุมรัฐมนตรีมหาดไทยในวันที่ 14 นี้ เพื่อหารือสถานการณ์ผู้อพยพ
ทางด้านจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษ กล่าวว่า ยุโรปและอังกฤษต้องช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่หนีการถูกประหัตประหารมาจริงๆ แต่ขณะเดียวกัน อียูต้องเพิ่มงบความช่วยเหลือ จัดการกับแก๊งลักลอบขนคนข้ามพรมแดน และปัญหาความขัดแย้งในซีเรียเพื่อบรรเทาวิกฤตผู้อพยพ
ทั้งนี้กระแสกดดันให้ยุโรปให้ความช่วยเหลือผู้อพยพพุ่งทะยานลิ่วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากมีการเผยแพร่ภาพร่างเด็กชายซีเรียวัย 3 ขวบเกยตื้นบนชายหาดตุรกี ซึ่งตอกย้ำโศกนาฏกรรมของผู้อพยพอย่างชัดเจน