เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ความตรึงเครียดระหว่างผู้อพยพและตำรวจฮังการีเข้าสู่วันที่ 2 หลังจากที่บรรดาผู้อพยพต่างไม่ยินยอมที่ลงจากรถไฟที่นำคนเหล่านั้นไปยังค่ายกักกันทางตะวันตกของกรุงบูดาเปสต์ และถึงกับทำให้นายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) ถึงกับประกาศว่า เขามีสิทธิที่จะกล้าพูดได้ว่าฮังการีไม่ต้องการรับผู้อพยพชาวมุสลิมมากเกินไปกว่านี้ หลังจากสะท้อนถึงความกลัวของชาวฮังการีในเหตุการณ์คลื่นผู้อพยพออกมา
บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้ (4) ว่า หลังจากที่ในวันพฤหัสบดี (3) ที่ทางตำรวจฮังการีต้องบังคับเหล่าผู้อพยพเข้าเมืองหนีภัยสงครามขึ้นรถไฟโดยสารมุ่งหน้าสู่ออสเตรีย แต่กลับนำคนเหล่านั้นไปยังค่ายผู้อพยพที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงบูดาเปสต์แทน
ในขณะเดียวกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฮังการีต้องลงมติเพื่อตัดสินใจในร่างกฎหมายสำคัญสั่งให้มีการเพิ่มความเข้มงวดตามชายแดนเพื่อกั้นไม่ให้ผู้อพยพเหล่านี้ ข้ามไปยังเยอรมัน อันเป็นจุดหมายปลายทางของคนเหล่านี้ และในวันนี้ (4) สหภาพยุโรปจะมีการจัดการประชุมสำคัญหารือถึง 3 การประชุมเกี่ยวกับมาตรการรับมือปัญหาผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป
สื่ออังกฤษยังรายงานเพิ่มเติมว่า สมาชิกคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)มีกำหนดที่จะบินด่วนไปยังเกาะคอส (Kos) ของกรีซ เพื่อประเมินถึงสภาพที่แท้จริงที่รัฐบาลกรีซต้องเผชิญหน้าในการขึ้นฝั่งของคลื่นผู้ลี้ภัย
นอกจากนี้ บีบีซียังชี้ว่า ฮังการีที่ถือเป็นหน้าด่านในวิกฤตการไหลเข้ามาของผู้อพยพ รัฐสภาฮังการีที่นอกจากต้องตัดสินใจเพิ่มมาตรการความมั่นคงบริเวณพรมแดนแล้ว ยังต้องลงมติอนุญาตให้มีการจัดตั้งค่ายผู้อพยพลี้ภัยอีกจำนวนหนึ่งในประเทศ เพื่อรับรองคลื่นผู้อพยพที่เข้าสู่ประเทศ และยังไม่รวมไปถึงการพิจารณาว่า เหตุการณ์คลื่นผู้อพยพที่เกิดขึ้นในเวลานี้นั้นเข้าสู่ปัจจัยที่จะอนุญาตให้สามารถออกพรระราชบัญญัติภาวะฉุกเฉินหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (3) นายกรัฐมนตรีฮังการี วิกเตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) ได้ออกมาวิพากษ์ถึงปัญหาวิกฤตผู้อพยพที่กำลังเผชิญหน้านี้คือ “ปัญหาเยอรมนีเท่านั้น” เพราะเยอรมันถือเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่าผู้อพยพที่ต้องการเดินทางเข้าไปตั้งหลักแหล่ง และรัฐบาลเยอรมันของอังเกลา แมร์เคิล รวมไปถึงประชาชนเยอรมันยังสนับสนุนต้องการให้เปิดประเทศรับผู้อพยพเหล่านี้ที่หนีร้อนไปพึ่งเย็นอีกด้วย
ขณะที่ อัลญะซีเราะห์ สื่อกาตาร์ ในวันนี้ (4) ว่ายังได้รายงานคำพูดที่เผ็ดร้อนของนายกรัฐมนตรีฮังการีเกี่ยวกับผู้อพยพเหล่านี้ด้วยว่า มีรายงานว่า วิกเตอร์ ออร์บาน ได้ออกปากประกาศไม่ต้องการให้ผู้อพยพชาวมุสลิมเข้าประเทศของเขาในจำนวนที่เพิ่มมากไปกว่านี้
“ผมคิดว่าเรามีสิทธิในการตัดสินใจที่จะประกาศว่าทางเราไม่ต้องการให้กลุ่มคนมุสลิมจำนวนมากเข้ามาในประเทศของเรา” ออร์บานกล่าวให้สัมภาษณ์กับฝูงนักข่าวที่บริเวณด้านนอกสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม
หนังสือพิมพ์ DPA ที่รายงานคำพูดของนายกรัฐมนตรีฮังการีได้รายงานคำพูดการให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมของออร์บานเพิ่มเติมว่า “เราไม่ต้องการผลที่จะตามมาหลังจากนั้น” ซึ่งได้อ้างอิงไปถึงการที่ฮังการีต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมานในศตวรรษที่ 16 และ 17
นอกจากนี้ สื่อกาตาร์ยังรายงานเพิ่มเติมต่ออีกว่า ออร์บานยังได้กล่าวปกป้องในการตัดสินใจที่ทางฮังการีได้สร้างรั้วขวางกั้นไม่ให้ผู้อพยพเข้าประเทศว่า “ผู้อพยพทั้งหลาย ได้โปรดอย่าเข้ามาฮังการี เพราะไม่มีการรับปากอย่างแน่นอนว่าท่านทั้งหลายจะได้รับการอนุญาตให้เข้าประเทศ” และเสริมต่อด้วยว่า “เราชาวฮังการีต่างเต็มไปด้วยความรู้สึกหวาดกลัว ประชาชนในยุโรปต่างเต็มไปด้วยความกลัว เพราะท่ามกลางผู้นำชาติยุโรป มีนายกรัฐมนตรีบางชาติไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้”
ทั้งนี้ อัลญะซีเราะห์รายงานว่า ออร์บานกล่าวออกมาหลังจากที่ผู้อพยพซึ่งได้โดยสารรถไฟเพื่อมุ่งหน้าไปออสเตรียเกิดการปะทะกับตำรวจฮังการี เพราะพวกผู้อพยพเหล่านั้นถูกไล่ต้อนลงมาจากรถไฟเพื่อนำตัวไปยังค่ายผู้อพยพแทนที่เมือง Sopron ติดพรมแดนออสเตรีย
ด้านสภายุโรปได้ออกแถลงการณ์ในวิกฤตผู้อพยครั้งนี้ จากการรายงานของบีบีซีพบว่า อย่างไรก็ตาม โดนัลด์ ทัสค์ ประธานรัฐสภายุโรปได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า เห็นควรให้แต่ละประเทศในยุโรปเห็นควรต้องยอมเปิดประเทศเฉลี่ยรับผู้อพยพไม่ต่ำกว่า “หนึ่งแสนคน” ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากจำนวนที่ทางสหภาพยุโรปเคยตั้งไว้ที่ “สี่หมื่นคน” เท่านั้น
ส่วนรัฐบาลอังกฤษนั้นต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ความกดดันที่ถูกบังคับให้ต้องยอมรับผู้อพยพมากขึ้น ซึ่งเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีกำหนดที่จะประกาศแถลงจำนวนผู้อพยพชาวซีเรียที่อังกฤษจะยอมรับเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้สถานการณ์ร้อนที่ระอุในเวลานี้ให้ผ่อนคลายหลังจากภาพเด็กชายชาวซีเรียแค่ 3 ปีจมน้ำเสียชีวิต และศพถูกคลื่นพัดเข้าสู่ฝั่งตรุกีเผยแพร่ไปทั่วโลก และในวันศุกร์ (4) คาเมรอนจะเดินทางไปยังสเปน และโปรตุเกส คาดว่าจะมีการหารือเรื่องวิกฤตผู้อพยพ