เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่แคว้นบาวาเรียเปิดเผยในวันพุธ (2 ก.ย.) มีผู้ลี้ภัยแสวงหาที่พักพิงเดินทางมาถึงเยอรมนีเฉพาะเดือนที่แล้ว ถึง 104,460 คน ส่วนหนึ่งของระลอกคลื่นผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่ไหลทะลักเข้ามาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งก่อความตึงเครียดด้านทรัพยากรตามเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ของเยอรมนี
ด้วยมีกฎหมายค่อนข้างจะเปิดเสรีในการรับผู้แสวงหาแหล่งพักพิงและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เยอรมนีจึงเป็นชาติรองรับผู้หนีภัยสงครามในตะวันออกกลางและผู้อพยพทางเศรษฐกิจากยุโรปตะวันออกเฉียงใต้รายใหญ่ที่สุดของอียู
โฆษกของเอมิเลีย มูลเลอร์ รัฐมนตรีสังคมของแคว้นบาวาเรีย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคม มีผู้ลงทะเบียนในระบบอีซี่ของเยอรมนีราว 413,535 คน โดย 1 ใน 3 อยู่ในบาวาเรีย ทั้งนี้ ระบบอีซี่เป็นระบบที่ใช้สำหรับลงทะเบียนขั้นต้นผู้อพยพและลี้ภัยที่เพิ่งเดินทางมาถึงเยอรมนี ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการยื่นคำร้องขอลี้ภัย
ผู้คนหลายแสนคนอพยพหลบหนีภัยสงครามและความแร้นแค้น ทะลักเข้าสู่ยุโรปในปีนี้ อย่างไรก็ตามก็มีหลายพันชีวิตจากตะวันออกกลาง เอเชียและแอฟริกา ที่ต้องจบชีวิตลงระหว่างการเดินทางที่เต็มไปด้วยอันตรายทั้งทางบกและทะเล
การไหลบ่าดังกล่าวส่งผลให้ยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตผู้อพยพครั้งสาหัสที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่พบแนวทางตอบสนองร่วมกัน ขณะที่เยอรมนีชาติที่ต้องแบกรับภาระหนักหน่วงที่สุดบอกว่านับตั้งแต่ต้นปีมีผู้ยื่นขอลี้ภัยแล้วราว 800,000 คน หรือเกือบ 4 เท่าของปีก่อน
เมืองและหมู่บ้านต่างๆ ของเยอรมนีล้นทะลักไปด้วยผู้ลี้ภัยชุดใหม่ที่เดินทางมาถึง และต้องการเงินเพิ่มเติมเพื่อจัดหาที่พักอาศัยและดูแลคนเหล่านี้ ส่วนทางนางอังเกลา แมร์เคิล เรียกร้องให้เกลี่ยผู้ประสงค์ขอลี้ภัยอย่างเป็นธรรมภายในชาติต่างๆ ของอียู และเตือนถึงการเหยียดผิว หลังพบเห็นการโจมตีสถานที่พักพิงชั่วคราวเกือบรายวัน
ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่น นายโธมัส เดอ ไมเซียร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมี บอกว่าผู้ลี้ภัยชุดใหม่อาจเผชิญกับความยุ่งยากมากกว่าชุดก่อนๆ โดยราวๆ 20 เปอร์เซนต์อาจไม่ได้รับการศึกษาและประสบปัญหาในการหางานทำ