xs
xsm
sm
md
lg

กองกำลังเคิร์ดคว้าชัยชิงคืน “เขื่อนโมซุล” - สื่อเผยอังกฤษส่งเครื่องบินช่วยอิรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรดานักรบชาวเคิร์ดแสดงสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ ขณะนั่งรถกระบะมุ่งหน้าไปยังเขื่อนโมซุล ที่กองกำลังชาวเคิร์ดสามารถยึดคืนมาจากกลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่ รัฐอิสลาม (ไอเอส)
เอเจนซีส์ - กองกำลังชาวเคิร์ดที่ได้รับการสนับสนุนจากเครื่องบินรบอเมริกัน สามารถยึดเขื่อนใหญ่ที่สุดของอิรักคืนจากกลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่ “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ได้แล้ว ถือเป็นชัยชนะสำคัญครั้งแรกสำหรับกองทัพอิรักและกองกำลังเคิร์ดนับแต่ที่แดนอินทรีเปิดฉากโจมตีทางอากาศเมื่อต้นเดือน ขณะเดียวกัน อังกฤษประกาศเพิ่มการมีส่วนร่วมในปฏิบัติการทางทหารในอิรัก ด้วยการส่งเครื่องบินสอดแนมเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของนักรบญิฮัดเพื่อป้อนให้อิรักใช้วางแผนโจมตี

พล.ท.กาซิม อัล-มูซาวี โฆษกกองทัพอิรักแถลงเมื่อวันจันทร์ (18 ส.ค.) ว่า กองกำลังเปชเมอร์กาของเคิร์ด และกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายของอิรักสามารถยึดเขื่อนโมซุลคืนมาได้ทั้งหมด โดยได้รับการสนับสนุนทางอากาศจากสหรัฐฯ

นอกจากเป็นชัยชนะครั้งแรกนับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มโจมตีทางอากาศเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ความสำเร็จนี้ยังเป็นขวัญและกำลังใจให้กับกองกำลังอิรักและเคิร์ด ในการชิงคืนพื้นที่กว้างขวางทางเหนือและตะวันตกของอิรักที่ถูกนักรบกลุ่มไอเอส บุกยึดตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน

เขื่อนโมซุลบนแม่น้ำไทกริส ทางเหนือของโมซุล ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของอิรัก ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากทางยุทธศาสตร์เนื่องจากผลิตกระแสไฟฟ้าและผันน้ำสำหรับทำการเกษตรให้แก่พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศ

ด้วยเหตุนี้ กองกำลังสหรัฐฯ และอิรักจึงร่วมกันโจมตีทางอากาศในบริเวณดังกล่าวอย่างหนักเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉพาะในส่วนกองทัพแดนอินทรีปูพรมโจมตี 9 ครั้งในวันเสาร์ (16) และอีก 16 ครั้งในวันถัดมา โดยสามารถทำลายยานหุ้มเกราะ 10 คัน, รถฮัมวี 7 คัน, ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 2 คัน และจุดตรวจ 1 จุดของไอเอส

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แถลงต่อรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (17) ว่า ได้สั่งการให้โจมตีทางอากาศอย่างจำกัดเพื่อชิงเขื่อนโมซุลซึ่งเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในอิรักคืนจากไอเอส ทั้งนี้ เพื่อปกป้องพลเรือนจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ และผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในอิรัก ตลอดจนเพื่อให้ทางการแบกแดดสามารถจัดหาบริการพื้นฐานที่จำเป็นให้แก่ประชาชนได้ตามปกติ
เขื่อนโมซุล
สหรัฐฯ นั้นเริ่มโจมตีทางอากาศต่อไอเอสมานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ เพื่อยับยั้งการรุกคืบของนักรบญิฮัดในพื้นที่ภาคเหนือของอิรักที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นผลให้ประชาชนราว 1.5 ล้านคนต้องทิ้งถิ่นฐาน กลายเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมกระทั่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศภาวะฉุกเฉินสูงสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

การตัดสินใจโจมตีทางอากาศถือเป็นครั้งแรกที่กองทัพอเมริกันเข้าแทรกแซงโดยตรงในอิรักนับตั้งแต่ถอนกำลังออกไปในปี 2011 และสะท้อนความกังวลของนานาชาติเกี่ยวกับกลุ่มไอเอส

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17) นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ ซันเดย์ เทเลกราฟ โดยกล่าวถึงนักรบไอเอสที่กำลังรุกคืบครอบครองพื้นที่กว้างขวางในซีเรียและอิรักว่า เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่ออังกฤษ จึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีเพื่อสกัดกั้นนักรบกลุ่มนี้

อย่างไรก็ดี ผู้นำเมืองสิงโตคำรามสำทับว่าอังกฤษจะไม่ส่งทหารไปยังอิรัก แต่เห็นควรมีส่วนร่วมทางทหารในระดับหนึ่งเพื่อรับมือการคุกคามจาก “รัฐก่อการร้าย” ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพล และถือเป็นอันตรายต่อยุโรปและพันธมิตร

ต่อมาในวันจันทร์ (18) ไมเคิล ฟอลลอน รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้อังกฤษมีส่วนร่วมในอิรักนอกเหนือจากปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม และการดำเนินการนี้จะกินระยะเวลานานหลายเดือน

ฟอลลอนขยายความว่า อังกฤษและประเทศอื่นๆ ในยุโรปตัดสินใจช่วยเหลือรัฐบาลอิรักต่อสู้กับลัทธิก่อการร้ายรูปแบบใหม่ที่มีความรุนแรงอย่างยิ่งนี้

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ เดอะ ไทม์ส รายงานว่า อังกฤษส่งเครื่องบินโจมตีทอร์นาโด 6 ลำและเครื่องบินสอดแนมอีก 1 ลำ บินเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของไอเอส เหนือเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก เพื่อนำไปให้กองทัพอิรักวางแผนโจมตีทางอากาศ ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่นำอังกฤษเข้าใกล้บทบาทการสู้รบโดยตรงมากขึ้น
(แฟ้มภาพ) นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ ขณะตรวจเยี่ยมศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ที่ท่าอากาศยานเคมเบิล ทางตอนใต้ของอังกฤษเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (14 ส.ค.)
เครื่องบินโจมตีทอร์นาโด จีอาร์-4 ของกองทัพอากาศอังกฤษ
กำลังโหลดความคิดเห็น