เอเอฟพี - กองกำลังชาวเคิร์ด พร้อมกำลังสนับสนุนจากฝูงบินรบสหรัฐฯ ได้เปิดฉากถล่มกลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่ “รัฐอิสลาม” (IS) เพื่อยึดคืนเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของอิรัก หลังจากเมื่อหนึ่งวันก่อนนักรบญิฮัดกลุ่มนี้ได้ “สังหารหมู่” ชาวบ้านไปหลายสิบชีวิต
สถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือนได้ฉุดอิรักมาอยู่ริมขอบเหวแห่งความแตกแยก ขณะที่นายกรัฐมนตรี นูรี อัล-มาลิกิ แห่งอิรักตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งที่เขาดำรงมาเนิ่นนาน และเหล่าชาติมหาอำนาจระดมแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้ชาวอิรักที่พลัดถิ่นหนีภัยสู้รบ ตลอดจนจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองกำลังชาวเคิร์ดต่อสู้กับกลุ่มไอเอส
นายพลคนหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพีว่า กองกำลังชาวเคิร์ดได้โจมตีกลุ่มนักรบญิฮัดรัฐอิสลาม ซึ่งแย่งชิงเขื่อนในเมืองโมซุลไป เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน
พล.ต.อับดุลเราะห์มาน โกรีนี กล่าวกับเอเอฟพีว่า “กลุ่มนักรบเปชเมการ์ชาวเคิร์ด พร้อมกับกำลังสนับสนุนทางอากาศจากสหรัฐฯ ได้ยึดคืนพื้นที่ทางตะวันออกของเขื่อนมาได้” ทั้งยังปลิดชีพนักรบญิอัดไปหลายราย
กองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า วานนี้ (16 ส.ค.) ได้ดำเนินปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ 9 ครั้งในบริเวณใกล้เขื่อน และเมืองอาร์บิล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก เพื่อหนุนกลุ่มกองกำลังชาวเคิร์ด
กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ แถลงว่า ฝูงบินขับไล่และอากาศยานไร้นักบินได้ทำลาย และสร้างความเสียหายให้แก่ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 4 คัน ยานพาหนะติดอาวุธ 7 คัน รถฮัมวี 2 คัน และรถถังอีกหนึ่งคัน
ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ สั่งการให้กองทัพอเมริกันส่งฝูงบินออกโจมตีทางอากาศสนับสนุน กลุ่มนักรบเปชเมการ์ได้พยายามยึดคืนพื้นที่ซึ่งพวกเขาเสียไป ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
เขื่อนริมแม่น้ำไทกริสแห่งนี้ผลิตกระแสไฟฟ้าให้หลายพื้นที่ในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน และเป็นระบบชลประทานที่สำคัญ ในพื้นที่เรือกสวนไร่นาอันกว้างใหญ่ไพศาล ของจังหวัดนิเนเวห์
ทั้งนี้ การยึดคืนเขื่อนโมซุลจะถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ในปฏิบัติการโจมตีโต้กลับซึ่งนานาชาติคอยส่งอาวุธยุทโธปกรณ์สนับสนุน
เมื่อหนึ่งวันก่อน บรรดารัฐมนตรีของสหภาพยุโรป (อียู) ได้กระตุ้นให้เหล่าชาติสมาชิกอียูส่งอาวุธสนับสนุนกองกำลังชาวเคิร์ด ในเวลาที่ ฟรังค์ วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมันบินไปเยือนเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก เพื่อประเมินความต้องการของผู้พลัดถิ่น ซึ่งจำนวนมากเป็นชาวยาซิดี และเปชเมการ์
ทั้งนี้ เยอรมนีคือประเทศที่อ้าแขนรับชนกลุ่มน้อยชาวยาซิดีที่พลัดถิ่นหนีภัยสู้รบจากอิรักมากที่สุดในกลุ่มชาติตะวันตก
*** องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุ คนนับพันถูกลักพาตัว ***
องค์การนิรโทษกรรมสากล ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลการลักพาตัวประชาชนจำนวนมหาศาล ในแถบภูเขาซินจาร์ ได้ชี้ว่า กลุ่มไอเอสเริ่มลักพาตัวชาวยาซิดีไปนับตั้งแต่เปิดฉากจู่โจมพื้นที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม
คริสตศาสนิกชน ชาวเติร์ก และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มนี้
ที่นครนิวยอร์ก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้มุ่งตัดกำลังรบของกลุ่มนักรบญิฮัด ที่แผ่อิทธิพลยึดครองพื้นที่กว้างขวางในอิรัก และประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรีย
มติดังกล่าว “เรียกร้องให้ชาติสมาชิกทั้งหมดดำเนินมาตรการระดับชาติเพื่อยับยั้งไม่ให้นักรบต่างชาติไหลบ่าเข้าไปก่อการร้าย” ในอิรัก และขู่จะคว่ำบาตรใครก็ตามที่มีพัวพันในการจัดหาสมาชิกให้กลุ่มติดอาวุธ
เมื่อกองกำลังนักรบญิฮัดไอเอส เริ่มโจมตีอิรักเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน กองกำลังเปชเมการ์ก็เปิดฉากโจมตีโต้กลับได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ มากกว่าทหารอิรักที่ล่าถอยกลับไป แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ที่กองกำลังของรัฐบาลอิรักทิ้งไว้ ได้ทำให้กลุ่มไอเอสกลายเป็นศัตรูที่น่าเกรงขาม
เมื่อเดือนมิถุนายน กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลามได้โจมตีกวาดล้างในฐานที่มั่นของกลุ่มชาวสุหนี่ ทางตอนเหนือและทางตอนใต้ของกรุงแบกแดด โดยแทบจะไม่ต้องเผชิญกับแรงต้านทานจากฝ่ายใด และกองกำลังความมั่นคงของอิรักก็ยังไม่สามารถยึดคืนพื้นที่กลับคืนอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน
คนจำนวนมากทั้งในและนอกอิรักต่างกล่าวโทษว่า รัฐบาลแบกแดดภายใต้การนำของมุสลิมนิกายชีอะห์ มีส่วนในจุดชนวนวิกฤตในอิรัก โดยการผลักดันนโยบายที่กีดกันสิทธิ และขัดแย้งกับรากฐานความเชื่อของชนกลุ่มน้อยชาวสุหนี่ในประเทศ
อดีตนายกรัฐมนตรีมาลิกิถูกมองว่าเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางความก้าวหน้าในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างคนต่างนิกาย และการที่เขายอมประกาศละความพยายามรั้งเก้าอี้ผู้นำประเทศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (14) ก็ทำให้คนทั้งในและนอกประเทศถอนหายใจด้วยความโล่งอก