เอเจนซีส์ - ชาวอิรักพลัดถิ่นหลายหมื่นคนซึ่งถูกพวกนักรบญิฮัดปิดล้อมอยู่บนเทือกเขามาหลายวัน สามารถหลบหนีไปสู่ที่ปลอดภัยแล้วในวันอาทิตย์ (10 ส.ค.) ขณะที่พวกมหาอำนาจตะวันตกเพิ่มความพยายามการช่วยเหลือพวกที่ยังลำบากลำบนอยู่ ด้วยการทิ้งข้าวของให้ทางอากาศ โดยที่สหรัฐฯ ก็ทำการทิ้งระเบิดถล่มกองกำลังของ “รัฐอิสลาม” ต่อไปอีก
3 วันหลังจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้เครื่องบินรบอเมริกัน กลับเข้าไปถล่มโจมตีทางอากาศในอิรักอีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ประมุขอเมริกันระบุว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษก็เข้าร่วมในการส่งความช่วยเหลือทางอากาศ
การรุกโจมตีของนักรบญิฮัดกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส ก่อนหน้านี้กลุ่มนี้ยังรู้จักกันในชื่อย่อว่า ไอเอสไอแอล และไอเอสไอเอส) ในเขตซินจาร์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้ประชาชนนับหมื่นๆ คน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นชนกลุ่มน้อย “ยาซิดี” พากันหนีเข้าสู่เทือกเขาที่อยู่ใกล้เคียง และถูกพวกนักรบญิฮัดปิดล้อมอยู่นับแต่นั้นท่ามกลางอากาศร้อนจัด โดยมีน้ำและอาหารเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ชาวยาซิดีเป็นพวกที่นับถือศาสนาโซโรเอสเตอร์
ถึงแม้นักรบพันธมิตรของชาวเคิร์ด ทั้งจากอิรัก ซีเรีย และตุรกี ได้ช่วยกันนำชาวยาซิดีและสมาชิกชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จำนวนไม่น้อยไปยังที่ปลอดภัยแล้ว กระนั้น ไอเอสยังคงควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในบริเวณดังกล่าว
ในวันเสาร์ (9 ) เวียน ดาคิล ส.ส.อิรักที่เป็นผู้นำยาซิดีเตือนว่า ชาวบ้านอาจอยู่รอดได้อีกไม่นาน เว้นแต่มีการอพยพครั้งใหญ่
อย่างไรก็ดี ในวันอาทิตย์ (10) เธอและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ออกมาแถลงว่า มีชาวบ้านอย่างน้อย 20,000 คนประสบความสำเร็จในการหลบหนีออกจากเขตปิดล้อม ด้วยความช่วยเหลือของนักรบชาวเคิร์ด และข้ามเข้าไปใน “เคอร์ดิสถาน” เขตปกครองตนเองของชาวเคิร์ดในอิรักเรียบร้อยแล้ว โดยเดินทางตัดผ่านดินแดนของซีเรีย
“มีชาวบ้าน 20,000 ถึง 30,000 คนพยายามหลบหนีออกมาจากภูเขาซินจาร์ได้สำเร็จแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายพันคนอยู่ที่ภูเขานี้” เธอกล่าว “ช่องทางผ่านยังไม่ได้ปลอดภัย 100% ยังคงมีความเสี่ยงอยู่”
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในสังกัดรัฐบาลปกครองตนเองชาวเคิร์ด ซึ่งดูแลรับผิดชอบจุดข้ามแดน “ฟิชคาเบอร์” ที่อยู่ระหว่างซีเรียกับอิรัก ยืนยันว่ามีผู้ข้ามเข้ามาราว 30,000 คน ส่วนใหญ่ในวันเสาร์และวันอาทิตย์
ทางด้านกลุ่มช่วยเหลือของต่างชาติซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ยืนยันเช่นกันว่า มีผู้รอดชีวิตนับหมื่นคนหลบหลีกการปิดล้อมในภูเขาซินจาร์ ด้วยการข้ามไปที่ซีเรียแล้วจึงข้ามกลับเข้าอิรัก
การหลบหลีกวงล้อมของชาวบ้านเหล่านี้ ดูเหมือนจะเป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ ทำการโจมตีทางอากาศต่อพวกนักรบญิฮัดของกลุ่มไอเอสในพื้นที่ซินจาร์เมื่อวันเสาร์
กองทัพสหรัฐฯ ได้แถลงในคืนวันเสาร์ว่า ประสบความสำเร็จในการโจมตีทางอากาศ 4 ครั้งเพื่อปกป้องชาวยาซิดี โดยสามารถทำลายยานยนต์หุ้มเกราะและรถบรรทุกที่ไอเอสใช้เป็นฐานกราดยิงชาวยาซิดี
การโจมตีระลอกนี้ถือเป็นระลอกที่ 3 นับแต่วอชิงตันอนุมัติให้กองทัพอากาศสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงสถานการณ์ในอิรัก
นอกจากนี้ เครื่องบินขนส่งของอเมริกาและอิรัก ยังนำอาหารและน้ำไปหย่อนลงในพื้นที่ภูเขาซินจาร์
เช่นเดียวกัน อังกฤษนำอุปกรณ์ยังชีพ น้ำสะอาด และเครื่องกรองน้ำชุดแรกไปส่งให้ชาวยาซิดีเมื่อคืนวันเสาร์
ขณะเดียวกัน โลรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส เดินทางถึงอิรักเมื่อวันอาทิตย์ (10) เพื่อดูแลการจัดส่งความช่วยเหลือระลอกแรกให้แก่ชาวบ้านในซินจาร์
ต่อมา ในวันอาทิตย์เช่นกัน กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US Central Command หรือ CENTCOM) ซึ่งดูแลรับผิดชอบภูมิภาคตะวันออกกลาง แถลง ว่า เครื่องบินรบและอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) ของตนได้ออกถล่มโจมตีกองกำลังนักรบญิฮัดกลุ่ม “ไอเอส” อีกรวม 5 ครั้งตั้งแต่เวลา 06.15 น.เวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับ 13.15 น.เวลาประเทศไทย) ในบริเวณใกล้ๆ เมืองอาร์บิล ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของพวกเคิร์ด ทางภาคเหนือของอิรัก
คำแถลงของ CENTCOM ระบุว่า การโจมตีครั้งแรกนั้น ได้ทำลายยานติดอาวุธของ “ไอเอส” คันหนึ่งที่กำลังยิงใส่กองกำลังของชาวเคิร์ด บริเวณนอกเมืองอาร์บิล จากนั้นก็ได้โจมตีเป้าหมายที่เป็นรถบรรทุกติดอาวุธ, ที่ตั้งปืนครก, และยานติดอาวุธอีก 2 คัน
ที่กรุงวอชิงตันในวันเสาร์ ประธานาธิบดีโอบามา แถลงจากทำเนียบขาว แสดงความมั่นใจว่า กองทัพอากาศอเมริกันสามารถป้องกันไม่ให้นักรบไอเอสบุกขึ้นไปบนเขาและสังหารชาวยาซิดีที่หลบซ่อนอยู่ แต่สำทับว่า ขั้นตอนต่อไปในการสร้างเส้นทางที่ปลอดภัยนั้น เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนด้านการส่งกำลังบำรุง
โอบามายังพยายามยืนยันกับชาวอเมริกันว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ถูกดึงเข้าสู่ฝันร้ายครั้งใหม่ในอิรัก ขณะเดียวกันเขาก็เร่งกดดันให้พวกนักการเมืองอิรักจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกฝ่าย และจัดการเผด็จศึกนักรบญิฮัดที่ทำให้อิรักเข้าใกล้ภาวะล่มสลายมากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา
คำแถลงของผู้นำทำเนียบขาวสอดรับกับท่าทีของบัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้กลุ่มต่างๆ ในอิรักใช้เหตุผลและสติปัญญา
โอบามายังกล่าวอีกว่า เป็นเรื่องยากมากที่อิรักจะรวบรวมความพยายามเป็นปึกแผ่นเพื่อสู้กับไอเอส หากปราศจากรัฐบาลที่มาจากทุกฝ่ายและสามารถโน้มน้าวให้ชาวสุหนี่เชื่อมั่นว่า ไอเอสไม่ใช่เป็นที่พึ่งเดียวของพวกเขา
ทางด้านฟาเบียส รัฐมนตรีต่างประเทศแดนน้ำหอม ได้ส่งข้อความอย่างเดียวกันนี้ ระหว่างหารือกับรองนายกรัฐมนตรีฮุสเซน อัล-ชาห์ริสตานี ในกรุงแบกแดดวันอาทิตย์
ทั้งนี้ กองทัพอิรักเพลี่ยงพล้ำอย่างชัดเจน เมื่อไอเอสที่ครองพื้นที่กว้างขวางในซีเรียบุกข้ามแดนเข้ามาเมื่อสองเดือนที่แล้ว และสามารถยึดเมืองโมซุล ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรัก รวมทั้งรุกคืบเข้าสู่พื้นที่มากมายที่ชาวอิรักที่นับถือนิกายสุหนี่อาศัยอยู่
โอบามาไม่ได้ระบุเวลาชัดเจนสำหรับการแทรกแซงของอเมริกา เพียงแต่บอกว่า ปัญหาในอิรักไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาหลายสัปดาห์ แต่จะเป็นโครงการระยะยาว
เจ้าหน้าที่ชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในอิรักรวมทั้งรัฐบาลในแบกแดดต่างยินดีที่วอชิงตันเริ่มโจมตีทางอากาศต่อไอเอสตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8) เนื่องจากทำให้ขวัญและกำลังใจของกองทัพดีขึ้นอย่างมาก และเป็นโอกาสในการรวบรวมกำลังโต้กลับนักรบญิฮัด
ทั้งนี้ มีพลเรือนนับแสนๆ คนต้องทิ้งบ้านเรือน ซึ่งรวมถึงพวกชาวบ้านในบริเวณระหว่างโมซุลและ “เคอร์ดิสถาน” เขตปกครองตนเองของชาวเคิร์ดในอิรัก โดยมีรายงานว่าเมืองที่มีชาวคริสต์อาศัยอยู่มากที่สุดในอิรัก ซึ่งก็อยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วยนั้น กลายสภาพเป็นเมืองร้างภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว โดยประชาชนจำนวนมากหนีไปยังเขตเคอร์ดิสถาน ซึ่งกลายเป็นจุดศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือและความพยายามทางการทหารเพื่อต่อต้านไอเอส