เอเอฟพี - คณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติเมื่อวันอังคาร (12) เรียกร้องประชาคมนานาชาติใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยยาซีดี หลังถูกพวกนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) รุกคืบโจมตีเมืองทางเหนือของอิรักและขู่สังหารหมู่หากไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา
ชาวยาซิดี ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาหลายหมื่นคน หลบหนีการโจมตีของพวกนักรบญิฮัดรัฐอิสลาม ซึ่งยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางเหนือของอิรักและทางตะวันออกของซีเรีย ขึ้นไปหลบบนภูเขาซินจาร์ พร้อมเสบียงอาหารและน้ำแค่เล็กน้อย แต่นั่นก็ทำให้พวกเขาติดอยู่ท่ามกลางวงล้อมของพวกนักรบหัวรุนแรง
“ทุกมาตรการที่เป็นไปได้จำเป็นต้องถูกนำมาใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงความโหดร้ายและความเป็นไปได้ที่จะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันข้างหน้า” ริตา อิซซัค ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยแห่งสหประชาชาติกล่าว
“พลเรือนจำเป็นต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครองออกจากสถานการณ์อันตรายร้ายแรงนี้” อิซซัค กล่าวในถ้อยแถลงร่วมของเหล่าคณะผู้สังเกตการณ์ เรียกร้องรัฐบาลอิรักและประชาคมนานาชาติลงมืออย่างเร่งด่วน
ชาโลกา เบยานี คณะสังเกตการร์ด้านสิทธิผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ กล่าวต่อว่า “เรากำลังเป็นสักขีพยานของโศกนาฏกรรมที่กำลังค่อยๆ ปรากฏขึ้น ซึ่งชาวบ้านหลายหมื่นคนกำลังเสี่ยงเสียชีวิตจากความรุนแรง ไม่ก็จากความหิวโหยและอดน้ำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้เร็วที่สุด”
อาเดรียน เอ็ดวาร์ดส์ โฆษกของหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า มีประชาชนยังติดค้างอยู่บนภูเขาซินจาร์ราว 20,000 ถึง 30,000 คน ส่วนองค์การอนามัยโลกเผยว่าคณะแพทย์ 2 ทีมเข้าไปถึงภูเขาลูกดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกันทางสหรัฐฯ และฝรั่งเศส ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์นำเสบียงไปหย่อนให้แก่ผู้หลบหนีเหล่านั้น
เอ็ดวาร์ดส์กล่าวเสริมว่า มีชาวบ้านราว 35,000 คนที่สามารถหลบหนีลงจากภูเขา มุ่งหน้าสู่ซีเรีย จากนั้นก็ข้ามพรมแดนกลับมายังเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของอิรัก ขณะที่เขตผู้ว่าโดฮุคของเคอร์ดิสถาน กลายเป็นสถานที่รองรับประชาชนหลายแสนคนที่หลบหนีภัยคุกคามของพวกนักรบรัฐอิสลาม ในนั้นมีทั้งชาวยาซิดี ชาวคริสเตียน ชาวชาบัค ชาวคาไค ชาวอาร์เมเรียและชนกลุ่มน้อยเติร์กเมนิสถาน ทั้งนี้เวลานี้ทางสหประชาชาติกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือด้านเสบียงและร้องขอชาวบ้านให้คอยช่วยผู้อพยพด้วย
โดยรวมแล้ว มีประชาชนมากกว่า 1.2 ล้านคนที่ต้องอพยพถิ่นฐานในอิรัก ในนั้น 700,000 คน เลือกมาพักพิงในเคอร์ดิสถาน ซึ่งต้องรองรับผู้อพยพชาวซีเรียกว่า 220,000 คนอยู่ก่อนแล้ว ส่วนชาวยาซิดี อีกราว 10,000-15,000 คน เลือกหลบหนีไปยังซีเรีย ดินแดนที่ถูกล้างผลาญด้วยภัยสงครามเช่นกัน
คริสตอฟ เฮย์นส์ ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติอีกคน ระบุว่า พวกนักรบรัฐอิสลามเสนอเงื่อนไขให้ชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นมุสลิมให้เปลี่ยนศาสนา หรือไม่ก็เผชิญกับความตาย “เราไม่อาจนิ่งเฉยกับความโหดร้ายนี้ได้ นานาชาติจำเป็นต้องใช้อำนาจทุกอย่างที่มีปกป้องชีวิตคนเหล่านั้น”