เอเจนซีส์ - เบน โรดส์ (Ben Rhodes) รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาวระดับสูงแถลงเมื่อเช้าวานนี้ (13) ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา มีแนวคิดที่อาจจะส่งกองกำลังเข้าไปในอิรักเพื่อช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยยาซิดดีที่ติดอยู่บนเทือกเขาซินจาร์ เนื่องจากเชื่อว่าปฎิบัติการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ทางอากาศไม่ยั่งยืน แต่ชัค ฮาเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ รีบเบรก อ้าง “มีความเป็นไปได้น้อย” เนื่องจากพบมีชนกลุ่มน้อยติดอยู่ไม่มากและมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่สื่ออังกฤษในพื้นที่แฉ ฮ.บรรเทาทุกข์ที่บินออกไปเพื่อส่งเครื่องบรรเทาทุกข์ได้ตกลงหลังจากที่บรรดาชนกลุ่มน้ออยแห่หนีตายขึ้นเครื่อง นักบินดับคาที่ ในขณะที่เด็กชาวยาซิดีที่ติดอยู่ท่ามกลางผูอพยพร่วม 30,000 คนต้องประทังหิวด้วยการดื่มเลือดของพ่อแม่เพื่อมีชีวิต
สื่อ RT รัสเซีย รายงานเมื่อวานนี้ (13) ว่า เบน โรดส์ (Ben Rhodes) รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาวระดับสูงแถลงเมื่อวานนี้ (13)ในช่วงเช้ากับนักข่าวที่ติดตามประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา เดินทางไปพักผ่อนว่า โอบามามีแนวคิดที่อาจจะส่งกองกำลังภาคพื้นเข้าไปในอิรักเพื่อให้การช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยยาซิดีที่ยังติดอยู่ที่เทือกเขาซินจาร์หากเป็นคำแนะนำจากกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯและหน่วยกองกำลังพิเศษสหรัฐฯจำนวน 130 นายที่ถูกส่งไปยังเมืองเออร์บิล (Irbill) อิรักในวันอังคาร (12) เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าเห็นควรหรือไม่ที่จะต้องอพยพชนกลุ่มน้อยออกมาจากเทือกเขา หรือเห็นควรหรือไม่ที่ต้องใช้การโจมตีทางอากาศเพื่อปกป้องอิรักพลัดถิ่นจากกลุ่มติดอาวุธ IS ซึ่งเป็นภารกิจที่สั้นกว่า 1 สัปดาห์ จากการรายงานพบว่า ทางกองกำลังพิเศษเมื่อเดินทางไปถึงในวันพุธ (13) ได้ประสานงานร่วมกับตัวแทนกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และ USAID ที่ประสานงานกับกลุ่มองค์กรอิสระอื่นๆเพื่อช่วยผู้อพยพอิรักบนเทือกเขาซินจาร์
“ปฏิบัติการแตกต่างจากการเตรียมกำลังพลเพื่อรบกับกลุ่ม IS เพราะนี่เป็นปฎิบัติการด้านมนุษยธรรม” โรดส์กล่าวผ่านการรายงานของนิวยอร์ก ไทม์ “เราไม่เชื่อว่ายุทธศาสตร์ส่งข้าวและน้ำทางอากาศจะถาวร” โรดส์กล่าวที่แมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นสถานที่ผู้นำสูงสุดของประเทศสหรัฐฯกำลังอยู่ในช่วงเวลาพักผ่อนในขณะนี้ และย้ำต่อว่าทางทำเนียบขาวยังยึดมั่นในนโยบายที่จะไม่ส่งกองกำลังภาคพื้นกลับไปรบในอิรัก และทางทำเนียบขาวนั้นให้ความสนใจด้านบรรเทาทุก์เท่านั้น
แต่ทว่าในช่วงเย็นวันเดียวกัน (13) ชัค ฮาเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ปฎิเสธถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเข้าแทรกแซงโดยตรงในภารกิจช่วยเหลือโดยการส่งกำลังรบเข้าไปในอิรัก จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดของหน่วยรบพิเศษสหรัฐฯที่อยู่ในพื้นที่ในขณะนี้ ด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯยืนยันในแถลงการณ์ของฮาเกล แต่ยังเสริมว่าจะยังคงทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทางอากาศต่อไป
เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมต่อเมื่อวานนี้ (13) ว่า จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกกลาโหมสหรัฐฯแถลงในช่วงค่ำว่า “จากผลการประเมิน หน่วยงานต่างๆ จึงสรุปว่าแผนอพยพพลเรือนออกจากที่นั่นมีความจำเป็นน้อยลง จากส่วนหนึ่งเป็นเพราะภารกิจทางมนุษยธรรมในการส่งข้าวและน้ำทางอากาศ รวมไปถึงภารกิจการโจมตี IS ทางอากาศเพื่อปกป้องชีวิตชนกลุ่มน้อย ประกอบกับควาช่วยเหลือของทัพเคิร์ดที่สู้รบกับ IS และได้ให้ความช่วยเหลืออพยพผู้ที่ยังติดอยู่เป็นจำนวนมากหลายพันคนออกมาได้ในตลอดช่วงคืน นอกจากนี้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของอิรักพลัถิ่นที่ยังอยู่บนเทือกเขาซินจาร์ดีกว่าที่ทางสหรัฐฯประเมินไว้แต่ต้น เพราะมีทั้งน้ำและอาหารที่บริบูรณ์จากการที่ทางสหรัฐฯและชาติพันธมิตรได้เร่งส่งความช่วยเหลือทางอากาศ”
ในขณะเดียวกัน สื่ออังกฤษรายงานวันพุธ (13) ว่า เฮลิคอปเตอร์รุ่น Mi-17 ที่ถูกส่งไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ภูเขาซินจาร์ตก หลังจากได้ส่งเครื่องบรรเทาทุกข์ทางอากาศเสร็จสิ้นแล้วแต่ชาวชนกลุ่มน้อยที่ติดอยู่จำนวนมากต่างพยายามยื้อแย่งที่จะขึ้นเครื่องเอาชีวิตหนีรอด และเหตุการณ์นี้เคยเกิดกับเครื่องบินลำเลียงของอังกฤษ และทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องสั่งหยุดปฏิบัติการส่งข่าวและน้ำทางอากาศชั่วคราวระยะหนึ่งก่อนที่เริ่มจะกลับมาปฏิบัติภารกิจต่อ
และเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกทำให้นักบินคนขับเสียชีวิตคาที่ ในขณะที่ Vian Dakheel สมาชิกรัฐสภาอิรักชาวเคิร์ดได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และเด็กชาวยาซิดีจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บเช่นกัน รวมไปถึงนักข่าวหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สสายข่าวสงคราม แอลิสันรูบิน (Alissa Rubin) วัย 56 ปี แต่ อดัม เฟอร์กูสัน(Adam Ferguson) ช่างภาพชาวออสเตรเลียไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด โดยรูบินให้ความเห็นว่า หากเฮลิคอปเตอร์ลำนี้บินสูงกว่าอีก 50 เมตร พวกเราทั้งหมดคงไม่รอด”
ทั้งนี้ สื่ออังกฤษยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ถึงแม้สภาพอากาศจะมีอุณภูมิสูงกว่า 45 C. ตลอดทั้งวัน แต่ยังมีครอบครัวชนกลุ่มน้อยร่วม 8,000 คนสามารถหลบหนี IS ออกจากภูเขาซินจาร์ และเดินทางไปยังค่ายผู้อพยพที่ตั้งอยู่บริเวณพรมแดนติดตุรกีและซีเรียสำเร็จ แต่ยังมีอีก 30,000 คนที่ยังเผชิญชะตากรรมติดอยู่ที่นั่น
ชารีน ทาโดรส (Sherine Tadros) นักข่าวSky News สื่ออังกฤษ รายงานงานจากค่ายผู้อพยพในจังหวัดโดฮุค (Dohuk) เคอร์ดิสถานของอิรักว่า มีผู้อพยพคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า เห็นเด็กจำนวน 4 คนต้องเสียชีวิตจากการขาดน้ำด้วยตาของเขาเอง และไม่มีที่จะสามารถฝังศพคนที่เสียชีวิตได้ คนที่ติดอยู่จึงต้องใช้หินวางทับร่างผู้เสียชีวิตแทน ในขณะที่ผู้ลี้ภัยอีกคนกล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กๆที่ทนกระหายน้ำไม่ไหว พ่อแม่เด็กเหล่านั้นต้องเชือดข้อมือเพื่อให้เลือดไหลออกมาให้ลูกดื่มประทังชีวิต
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้อยครอบครัวที่สามารถอดทนเดินทางด้วยระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรในสภาพอากาศ 45 C.ไปยังค่ายผู้ลี้ภัยที่ตั้งใกล้พรมแดนตุรกีได้สำเร็จ และคนเหล่านั้นได้รับอาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรค และมีผู้อพยพบางส่วนต้องเสียเงินเพื่อให้พวกเขาไม่ต้องถูกเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ และบางทีต้องข้ามทุ่งระเบิดที่อันตราย
สื่ออังกฤษรายงานว่า ชาวยาซิดีร่วม 2,000 คนสามารถเดินทางมาถึงค่ายผู้อพยพในหมู่บ้านเดราบอน (Derabon) ใกล้กับซาโก (Zakho) ในดินแดนเคอร์ดิสถานของอิรักติดพรมแดนตุรกี แต่เป็นเพราะผู้อพยพเหล่านี้ไม่มีหนังสือเดินทาง จึงต้องนั่งนิ่งและหวังว่า กลุ่มติดอาวุธสุหนี่ IS จะถูกทำลาย หรือต้องจ่ายเงินให้กับกลุ่มค้ามนุษย์เพื่อหลบเจ้าหน้าที่ด่านตรวจที่ท่าเรือ
อามาล (Amal) คุณแม่ลูกสามชาวยาซิดิสที่ป่วยเล่าการเดินทางให้นักข่าวฟังว่า เธอและบุตรทั้งสามที่ยังเยาว์ต้องเดินท่องตามลำน้ำของแม่น้ำไทกริส และยังต้องเดินด้วยความระมัดระวังเพื่อจะข้ามทุ่งกับระเบิด รวมไปถึงต้องปีนลวดขดสนามเพื่อไปให้ถึงตุรกี และในระยะครึ่งทางตลอดช่วงเวลา 5 ชม.ของการเดินทาง กลุ่มค้ามนุษย์ต้องการให้ลูกทั้ง 3 ทิ้งเธอไว้เนื่องจากเธอทำให้การเดินทางล่าช้า แต่บุตรทั้งสามปฏิเสธและช่วยแบกเธอไปตลอดเส้นทางแทน