xs
xsm
sm
md
lg

‘อิสราเอล’ โหดสุดเหี้ยมใน ‘กาซา’ สยบเสียงเรียกหา ‘คานธีแห่งปาเลสไตน์’

เผยแพร่:   โดย: แรมซี บารูด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Gaza's resistance paradigm
By Ramzy Baroud
06/08/2014

สงครามครั้งล่าสุดที่อิสราเอลกระทำเอากับดินแดนกาซา ได้แซงหน้าการรุกโจมตีครั้งก่อนๆ ของพวกเขาไปหมดแล้ว ทั้งในเรื่องของระยะเวลาเข้าถล่ม, ความเสียหายที่เกิดขึ้น, และจำนวนพลเรือนที่บาดเจ็บล้มตาย สภาพเช่นนี้ทำเอาคำถามซึ่งเคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นระยะๆ ที่ว่า ทำไมจึงไม่มีบุคคลผู้ยึดมั่นแนวทางการต่อสู้ด้วยสันติวิธีอย่างคานธี ปรากฏตัวขึ้นมานำพาการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ ดูจะยิ่งเงียบหายใบ้สนิทยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มา ฝ่ายตะวันตกอาจจะเที่ยวเทศนาสั่งสอนว่าชาวปาเลสไตน์ควรที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง แต่ความเป็นจริงมีอยู่ว่า ความรุนแรงที่อิสราเอลก่อขึ้นอยู่เวลานี้ เป็นการดำเนินตามวาระทางการเมืองซึ่งผ่านการขบคิดพิจารณาและตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้ว หาไม่เพิ่งค้นคิดปะติดปะต่อกำหนดขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะในการต่อต้านของชาวปาเลสไตน์

“คานธีที่เป็นชาวปาเลสไตน์ เวลานี้อยู่ที่ไหนกันหนอ? ก็อยู่ในคุกของอิสราเอลนั่นไง!” ("Where is the Palestinian Gandhi? In Israeli prison, of course!") นี่คือชื่อเรื่องของข้อเขียนชิ้นหนึ่งของ โจ เออร์ลิช (Jo Ehrlich) ซึ่งเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ Modoweiss.net เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2009 ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็มๆ หลังจากที่อิสราเอลยุติสงครามถล่มโจมตีดินแดนฉนวนกาซาครั้งใหญ่ สงครามในคราวนั้นซึ่งอิสราเอลใช้ชื่อว่า “ยุทธการแคสต์หลีด” (Operation Cast Lead) อันครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2008 จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2009 ได้กลายเป็นการถล่มโจมตีของอิสราเอลต่อดินแดนกาซาที่ยากจนข้นแค้น หนซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์บาดเจ็บล้มตายมากที่สุดในรอบหลายๆ ปี

ในข้อเขียนดังกล่าว เออร์ลิช ไม่ได้มีเจตนาแม้แต่น้อยที่จะแสดงท่าทีดูถูกดูแคลน ด้วยการหยิบยกตั้งคำถามเกี่ยวกับ “คานธีที่เป็นชาวปาเลสไตน์” ขึ้นมา หากแต่เขากำลังตอบโต้การที่หลายๆ คนใช้เรื่องนี้ในลักษณะมุ่งแสดงความเย่อหยิ่งความเหนือชั้นกว่าคนอื่นๆ ดังจะเห็นได้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นข้อเขียนทีเดียว เขาก็ระบุออกมาว่า “ผมไม่ได้กำลังจะเข้าไปร่วมวงในการสนทนาถกเถียงเกี่ยวกับ ‘คานธีที่เป็นชาวปาเลสไตน์’ ใดๆ ทั้งสิ้น อันที่จริงแล้ว ผมคิดว่าการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็น คือวิธีการแบบพวกนักเบี่ยงเบนประเด็น/นักเหยียดเชื้อชาติ ด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม บางครั้งบางคราวคุณก็จำเป็นต้องหัวเราะเพื่อที่จะได้ไม่ต้องร้องไห้”

มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ คำถามนี้เคยเป็นและก็ยังเป็นปุจฉา ชนิดที่แสดงให้เห็นถึงความเย่อหยิ่งจองหอง, ความโง่เขลางี่เง่า, การยกตนข่มท่าน, และความเป็นนักเหยียดเชื้อชาติอย่างสมบูรณ์แบบ แต่กระนั้นคำถามนี้ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาถามไถ่กันอย่างกว้างขวางเป็นระยะๆ แม้กระทั่งในหมู่ผู้คนซึ่งจัดชั้นตนเองว่าเป็น “นักเคลื่อนไหวผู้นิยมปาเลสไตน์” ด้วย

มาถึงเวลานี้ เมื่อสงครามครั้งล่าสุดของอิสราเอล ที่ได้รับการขนานนามว่า “ยุทธการโพรเทคทีฟเอดจ์” (Operation Protective Edge) ได้แซงหน้า “ยุทธการแคตส์หลีด” ไม่เพียงในเรื่องของระยะเวลาเข้าถล่ม, จำนวนคนบาดเจ็บล้มตาย, ระดับของความเสียหายย่อยยับ หากแต่ยังในเรื่องการพุ่งเป้าโจมตีพลเรือนอีกด้วย คำถามในเรื่องคานธี ก็ดูเหมือนจะยิ่งเงียบหายใบ้สนิทยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา การที่เราจะสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ประการแรกสุด เราจำเป็นที่จะทำการตรวจสอบกันก่อนเลยว่า มีเหตุผลอย่างไรที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์ถูกตั้งข้อเรียกร้องว่า ในการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพของพวกเขานั้น พวกเขาจะต้องผลิต หนทางเลือกในแนวทางอหิงสาไม่ใช้ความรุนแรงแบบคานธีขึ้นมา

การลุกขึ้นสู้ หรือ “อินติฟาดะ” ของชาวปาเลสไตน์ ครั้งที่ 2 (The Second Palestinian Intifada) ในช่วงระหว่างปี 2000 ถึงปี 2005 เปิดฉากขึ้นมาโดยที่ฝ่ายอิสราเอลทำการตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรงอย่างชนิดสุดขีดไร้ลิมิต คณะผู้นำอิสราเอลในเวลานั้นมุ่งหมายที่จะส่งข้อความไปถึง ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) ผู้นำของปาเลสไตน์ ซึ่งปัจจุบันล่วงลับสิ้นชีวิตแล้ว ว่าพวกเขาปราศจากขันติความอดทน ต่อการกระทำใดๆ ก็ตามที่อยู่ในลักษณะของการรวมกลุ่มรวมหมู่ขึ้นมาทำการท้าทายไม่ยอมสยบ ทั้งนี้พวกเขามีความแน่ใจว่า อาราฟัต วางแผนดำเนินการลุกขึ้นสู้ “อินติฟาดะ” คราวนั้นขึ้นมา ก็เพื่อมุ่งเสริมสร้างฐานะทางการเมืองของตนเองให้แข็งแกร่งขึ้นอีก ในเวลาเข้าสู่ “การเจรจาสันติภาพ” (โดยที่ในที่สุดแล้วแม้กระทั่งการเจรจาสันติภาพเหล่านั้น ก็ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเพียงละครตลกชวนยิ้มเท่านั้น)

ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญกับกลไกสงครามของอิสราเอลซึ่งมีสหรัฐฯเป็นผู้คอยป้อนให้ จนทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องด่าวดิ้นไปนับร้อยๆ คนในแต่ละเดือน รวมทั้งพวกเขายังหมดความศรัทธาความเชื่อมั่นในคณะผู้นำของพวกเขาเองแล้วด้วย ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากจึงหันมาเลือกหนทางจับอาวุธ โดยมีการใช้ระเบิดฆ่าตัวตายและวิธีรุนแรงอื่นๆ ปรากฏว่ายุทธวิธีเช่นนี้ทำให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันอย่างอึงคะนึง (เนื่องจากทำให้เกิดการเสียชีวิตในหมู่พลเรือนอิสราเอล) อีกทั้งได้ถูกกระแสการโฆษณาชวนเชื่อของอิสราเอล-โลกตะวันตก หยิบยกขึ้นมาใช้สอยหาประโยชน์อย่างรวดเร็ว ในการสร้างคำอธิบายย้อนหลังให้แก่การที่อิสราเอลส่งกองทัพเข้ายึดครองดินแดนปาเลสไตน์ และในการสร้างเหตุผลความชอบธรรมให้แก่การที่อิสราเอลใช้ยุทธวิธีทางทหารอันเหี้ยมเกรียมสุดโหด

พวกที่กล้าออกมาอธิบายการใช้ความรุนแรงของฝ่ายปาเลสไตน์ ภายในบริบทที่มุ่งมองภาพใหญ่ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า หรือออกมาเน้นย้ำให้เห็นว่ามีพลเรือนชาวปาเลสไตน์จำนวนมากกว่ากันนักหนาที่ยังคงกำลังถูกกองทัพอิสราเอลเข่นฆ่า ปรากฏว่าต่างก็ถูกมองเมินเพิกเฉยจากสื่อมวลชนทั้งหลาย และหลายครั้งหลายครายังถูกมองว่าเป็นตัวป่วนตัวกวนที่คอยถ่วงความเจริญ จากพวกซึ่งยืนกรานให้พูดถึงชาวปาเลสไตน์ภายในกรอบของการตกเป็นเหยื่อผู้ถูกกระทำอย่างเดียวเท่านั้น

ชาวตะวันตกจำนวนมาก (นับตั้งแต่ประดาประธานาธิบดีผู้นำประเทศ ไปจนถึงพวกนักปรัชญา จากพวกนักหนังสือพิมพ์ ไปจนถึงนักเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์) พากันขบคิดพิจารณาถกเถียงกันในเรื่องนี้ด้วยความกระตือรือร้น แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่าแทบไม่มีชาติตะวันตกรายใดเลย ซึ่งในประวัติศาสตร์ยุคสมัยใหม่ของพวกเขา ได้เคยผ่านประสบการณ์ที่เป็นจริงแห่งการดิ้นรนต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมเพื่อปลดปล่อยประเทศให้เป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงขาดความเข้าอกเข้าใจอันแท้จริงเกี่ยวกับประสบการณ์แห่งความรู้สึกถูกดูหมิ่นเหยียดหยามตลอดจนความรู้สึกโกรธกริ้วขุ่นแค้นของพวกชาติที่ต้องตกเป็นอาณานิคม ดังนั้นจึงมักมองสิ่งเหล่านี้อย่างให้ความสำคัญน้อยเกินไป นอกจากนั้นยังมีบางส่วนซึ่งสนใจเป็นห่วงเพียงแค่เฉพาะเกี่ยวกับอิสราเอล คนอื่นๆ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง แล้วก็มีอีกหลายๆ รายที่ต้องการสงวนรักษาภาพลักษณ์ของชาวปาเลสไตน์เอาไว้ให้อยู่ในฐานะที่เป็นเหยื่อของการถูกยึดครอง และอยู่ในความอาภัพอับโชคไปตลอดกาล

การนำเสนอความคิดเห็นด้วยสำนวนภาษาลักษณะดังกล่าวนี้ ครั้งซึ่งชวนให้รู้สึกบัดสีน่ารังเกียจที่สุด ได้แก่การกล่าวปราศรัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา บนเวทีของมหาวิทยาลัยไคโร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2009 โอบามาผู้ซึ่งตอนนั้นเพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งไม่นานนัก ได้ส่งข้อความไปถึงชาวปาเลสไตน์ด้วยคำพูดซึ่งทั้งเป็นการใส่ร้ายป้ายสีอย่างสุดๆ , ทั้งขาดความละเอียดอ่อน, และมีความผิดพลาดในทางข้อเท็จจริงอย่างมากมาย ทั้งนี้ โอบามา กล่าวเอาไว้ดังนี้:

“ชาวปาเลสไตน์จะต้องละทิ้งความรุนแรง การต่อต้านโดยใช้ความรุนแรงและการเข่นฆ่านั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาด และไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จ ตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ผู้คนชาวผิวดำในอเมริกาต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการถูกโบยตีด้วยแส้เนื่องจากต้องตกเป็นทาส และจากการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามเมื่อตอนที่มีการใช้ระบบแบ่งแยกกีดกันเชื้อชาติ ทว่าไม่ใช่ความรุนแรงเลยซึ่งทำให้ได้ชัยชนะอย่างสมบูรณ์และได้รับสิทธิแห่งความเสมอภาคเท่าเทียม เรื่องราวอย่างเดียวกันนี้ยังได้รับการบอกกล่าวเล่าขานจากประชาชนในที่อื่นๆ อีก ตั้งแต่แอฟริกาใต้ไปจนถึงเอเชียใต้ ตั้งแต่ยุโรปตะวันออกไปจนถึงอินโดนีเซีย มันเป็นเรื่องราวที่ประกอบด้วยสัจธรรมอย่างง่ายๆ ประการหนึ่ง นั่นก็คือ ความรุนแรงเป็นหนทางที่ไปไม่รอด เป็นหนทางที่ไร้ทางออก”

ข้อความที่โอบามาพูดออกมานี้ เป็นการป้ายสีให้เห็นไปว่าการดิ้นรนต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์เป็นสิ่งที่ผิดปกติแตกต่างไปจากการดิ้นรนต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศชาติในที่อื่นๆ โดยที่ในตลอดทั่วโลกนั้นมีแต่การใช้วิธีสันติอย่างสมบูรณ์แบบ แน่นอนทีเดียว ข้อความของโอบามาเช่นนี้ ไร้ความจริงโดยสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้น เขายังไม่รู้ (หรือปรารถนาที่จะเพิกเฉยละเลย) เรื่องราวในประวัติศาสตร์ของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งมีขบวนการต่อต้านแบบอหิงสาไม่ใช้ความรุนแรงชนิดที่ได้รับการหนุนหลังจากประชาชนจำนวนมาก ย้อนหลังกลับไปได้ถึงช่วงทศวรรษ 1920 และทศวรรษ 1930 กระทั่งมีข้อมูลหลักฐานซึ่งอาจโต้แย้งได้ว่าย้อนไปได้ไกลกว่านั้นด้วยซ้ำ โอบามาก็เหมือนกับคนอื่นๆ จำนวนมาก ที่บกพร่องล้มเหลวไม่ยอมทำความเข้าใจให้ซาบซึ้งเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในระดับโหดสุดเหี้ยมของอิสราเอล โดยที่ความรุนแรงดังกล่าวก็ได้อาศัยอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งตัวโอบามาเองจัดส่งให้แก่กรุงเทลอาวีฟ เพื่อใช้ปราบปรามกวาดล้างการต่อต้านของชาวปาเลสไตน์ และเพื่อให้สามารถธำรงรักษาการเข้ายึดครองด้วยกำลังทหารได้อย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้น รวมทั้งเพื่อยังความเจริญรุ่งเรืองให้แก่พวกนิคมชาวยิวซึ่งสร้างขึ้นอย่างผิดกฎหมายบนผืนแผ่นดินที่พวกเขาปล้นมาจากชาวปาเลสไตน์

แต่จุดตัดสินชี้ขาดของการอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องนี้ ก็คือ การลุกขึ้นสู้ “อินติฟาดะครั้งที่ 2” ซึ่งได้เห็นอิสราเอลใช้ความรุนแรงอย่างมากมายมหาศาลจนส่งผลให้ผู้คนต้องล้มตายไปเป็นพันๆ คน ผลกระทบในทางการเมืองของการลุกขึ้นสู้คราวนั้นก็มีความสำคัญมาก ตรงที่มันเป็นการแบ่งแยกชาวปาเลสไตน์ออกจากกัน พวกหนึ่งคือคนที่ถูกข่มขู่กรรโชกจากยุทธวิธีของอิสราเอลจนกลัวหงอและต้องการที่จะยอมจำนน (พวกที่ถูกเรียกขานกันว่า พวกสายกลาง) ส่วนอีกพวกหนึ่งคือชาวปาเลสไตน์คนอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนไม่ได้คิดว่าตนเองกระทำผิดอะไร (พวกที่ถูกเรียกขานกันว่า พวกหัวรุนแรง)

นับเวลามาจนถึงบัดนี้ การถกเถียงอภิปรายกันอันดุเดือดในประเด็นนี้ก็กินเวลายาวนานถึงเกือบ 10 ปีแล้ว มีบางคนออกมาประณามอย่างโจ่งแจ้งตรงไปตรงมาต่อการต่อต้านด้วยอาวุธของชาวปาเลสไตน์ ขณะที่คนอื่นๆ กล่าววิพากษ์วิจารณ์ทั้งการใช้ความรุนแรงของฝ่ายอิสราเอลและของฝ่ายฮามาส แล้วยังมีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเที่ยวเทศนาสั่งสอนอย่างง่ายๆ ว่ามันเป็นการเปล่าผลไร้ประโยชน์ที่จะดำเนินการดิ้นรนต่อสู้ด้วยอาวุธ ในเมื่อจะต้องเผชิญกับประเทศหนึ่งซึ่งติดอาวุธนิวเคลียร์เพียบพร้อมชนิดที่สามารถทำลายล้างดินแดนจำนวนมากของพื้นพิภพให้แหลกลาญเพียงด้วยการกดปุ่มๆ เดียวเท่านั้น

การถกเถียงอภิปรายดังกล่าว ถึงแม้ดำเนินไปอย่างดุเดือดทั้งบนหนังสือพิมพ์ออนไลน์และเว็บไซต์สื่อสังคม แต่ชาวปาเลสไตน์สามัญธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่พำนักอาศัยอยู่ในฉนวนกาซา กลับแทบไม่ได้เข้าร่วมวงยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย สำหรับพวกปัญญาชนในกาซานั้น ถึงแม้มีการขับเคี่ยวต่อสู้กันเกี่ยวกับแนวความคิดใหม่ๆ ทั้งในเรื่องวิธีการสร้างความสมานฉันท์ระดับระหว่างประเทศขึ้นมาเพื่อยุติการปิดล้อมของอิสราเอล, การส่งข้อความของฝ่ายปาเลสไตน์ออกไปเพื่อทำให้โลกภายนอกบังเกิดความเข้าอกเข้าใจมากยิ่งขึ้น, ตลอดจนกระทั่งคำถามเกี่ยวกับจังหวะเวลาอันเหมาะควรสำหรับการยิงจรวดเข้าไปในอิสราเอล ทว่าแทบไม่มีรายใดเลยที่แสดงความกังขาต้องการตรวจสอบความถูกต้องในเชิงหลักการของการต่อต้านด้วยกำลังอาวุธ

แน่นอนทีเดียวว่า ชาวปาเลสไตน์คือผู้ที่รู้ดีที่สุด พวกเขารู้ดียิ่งกว่าโอบามาและพวกนักเทศน์คนอื่นๆ มากมายนักหนา พวกเขารู้ว่าการต่อต้านแบบรวมกลุ่มรวมหมู่กัน ไม่ใช่เป็นยุทธวิธีที่จะสามารถวินิจฉัยตัดสินกันโดยผ่านการถกเถียงอภิปรายทางสื่อสังคมได้เสมอไป พวกเขารู้ว่าเมื่อลูกหลานของพวกเขากำลังถูกบดขยี้ทำลายโดยเทคโนโลยีฆ่าคนที่จัดส่งให้โดยสหรัฐฯ มันไม่มีเวลาหรอกที่จะล้มตัวนอนราบและร้องเพลง “วี แชล โอเวอร์คัม” (we shall overcome) หากแต่พวกเขาจะต้องหาทางป้องกันรถถังคันอื่นๆ ที่เหลือไม่ให้ตะลุยเข้ามาในย่านที่อยู่อาศัย ไม่ว่ามันจะเป็นย่านชูไจยา (Shujaiya), จาบัลยา (Jabalya), หรือ มากาซี (Maghaz)

พวกเขายังรู้ด้วยว่า การใช้ความรุนแรงของฝ่ายอิสราเอลนั้นเป็นผลลัพธ์ของวาระทางการเมืองที่ถูกกำหนดตัดสินเอาไว้แล้ว หาไม่เพิ่งค้นคิดปะติดปะต่อกำหนดขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะในการต่อต้านของชาวปาเลสไตน์ ทว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ประวัติศาสตร์ได้สั่งสอนพวกเขาว่า เมื่อพวกอิสราเอลเข้าสู่ดินแดนกาซาในฐานะที่เป็นผู้รุกรานนั้น แทบไม่มีใครเลยที่จะยืนผงาดอยู่ในแนวป้องกันดินแดนกาซา ต่อหน้าเครื่องจักรแห่งความตายที่ได้รับการสนับสนุนและการอุดหนุนทางการเงินจากฝ่ายตะวันตก มีแต่ลูกชายและลูกสาวของกาซาเองเท่านั้นที่จะหยัดยืนขึ้นมา ถ้าหากชาวกาซาไม่เข้าป้องกันเมืองของพวกเขาเองแล้ว ก็ไม่มีใครอื่นอีกที่จะมาป้องกัน

ถึงแม้การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฝ่ายต่อต้านชาวปาเลสไตน์ จะมีความไม่เท่าเทียมกันเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ตอกย้ำให้เห็นอยู่ในเวลานี้เฉกเช่นเดียวกับที่ได้เห็นกันตลอดมาในอดีต แต่การต่อต้านของชาวปาเลสไตน์ก็มีการเติบใหญ่สุกงอม ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาได้สังหารทหารไปหลายสิบคนและพลเรือนเพียงแค่ 3 คน เป็นสิ่งที่ควรได้รับการกล่าวขวัญพูดถึง ในเมื่ออิสราเอลเองกลับแสดงพฤติการณ์อันน่าอัปยศด้วยการพุ่งเป้าหมายถล่มโจมตีบรรดาโรงพยาบาล, โรงเรียน, สถานพำนักหลบภัยที่ดำเนินการโยสหประชาชาติ, และแม้กระทั่งสุสานฝังศพ การธำรงรักษาวินัยเอาไว้ได้ในระดับนี้ในสถานการณ์การสู้รบที่ไร้ความเท่าเทียมอย่างที่สุดเท่าที่เราสามารถจินตนาการได้ คือสิ่งที่ใกล้เคียงกับหลักจรรยาบรรณในสมรภูมิซึ่งสหรัฐฯและอิสราเอลมักชอบเทศนาสั่งสอน ทว่าไม่เคยเลยที่จะกระทำตาม

ในขณะที่ คานธี เป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ภายในบริบทแห่งการดิ้นรนต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมในประเทศของเขา และแท้ที่จริงแล้วก็ยังคงเป็นแหล่งที่มาแห่งแรงบันดาลใจแหล่งหนึ่งสำหรับชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก ทว่าปาเลสไตน์ก็มีวีรชนของพวกเขาเอง มีผู้กล้าต่อต้านของพวกเขาเอง มีหญิงชายผู้แกะสลักจารึกตำนานของพวกเขาเองลงในดินแดนกาซาและในดินแดนส่วนอื่นๆ ของปาเลสไตน์

สำหรับพวกที่ยังคงสาละวนตั้งคำถามว่า คานธีที่เป็นชาวปาเลสไตน์ เวลานี้อยู่ที่ไหน มันคงจะเป็นประโยชน์แก่อารมณ์ความรู้สึกของพวกเขามากมายกว่านี้นักหนา ถ้าหากพวกเขาจะใช้พลังงานของพวกเขาไปในการสกัดกั้นขัดขวางไม่ให้รัฐบาลของพวกเขาเองลำเลียงขนส่งอาวุธมาให้แก่อิสราเอล ผู้ซึ่งนับจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม ได้ทำการเข่นฆ่าสังหารผู้คนในปาเลสไตน์ไปเกือบๆ 1,500 คน แล้วยังทำให้บาดเจ็บอีกกว่า 8,000 คน โดยที่ส่วนใหญ่ที่สุดแล้วเป็นพลเรือน

(หมายเหตุผู้แปล – ในเวลาต่อมา ระหว่างการแถลงข่าวในวันที่ 12 สิงหาคม บัน คีมุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติระบุว่า ตามข้อมูลข่าวสารเบื้องต้น มีชาวปาเลสไตน์ถูกเข่นฆ่าไปเกือบๆ 2,000 คนถูกสังหาร ในจำนวนนี้เกือบๆ 75% เป็นพลเรือน และที่เป็นเด็กมีอยู่ 459 คน)

แรมซี บารูด เป็นคอลัมนิสต์ที่มีบริษัทตัวแทนนำไปจัดจำหน่ายในระดับระหว่างประเทศ และเป็นบรรณาธิการของเว็บไซต์ PalestineChronicle.com หนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือเรื่อง My Father Was A Freedom Fighter: Gaza's Untold Story จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์พลูโต เพรส (Pluto Press, London)
กำลังโหลดความคิดเห็น