xs
xsm
sm
md
lg

จีดีพีญี่ปุ่นติดลบแรง-ผลจากขึ้นภาษี ตลาดลุ้นธ.ชาติออกมาตรการกระตุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.2014) ที่ผ่านมา ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ชี้ชัดการขึ้น “ภาษีการขาย” กลายเป็นตัวทำให้ทั้งภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายและภาคเอกชนชะลอการลงทุน อีกทั้งนำไปสู่คำถามที่ว่า นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ จะยืนหยัดเดินหน้าแผนขึ้นภาษีสำคัญประเภทนี้ในปีหน้าต่อไปเพื่อลดระดับหนี้สินภาคสาธารณะของประเทศหรือไม่ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะกลับลำยอมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือเปล่า อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังคงเชื่อว่า แดนอาทิตย์อุทัยยังอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอัตราเติบโตของจีดีพีจะกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในไตรมาสต่อไป

แม้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 2 ปีนี้ ที่หดตัวลง 1.7% หรือคิดเป็นอัตราต่อปีเท่ากับติดลบ 6.8% ยังคงดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เล็กน้อย แต่ดูเหมือนผิดไปจากความคาดหมายของรัฐบาลและบีโอเจ ซึ่งมองว่า การขึ้นภาษีการขาย (sales tax) ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จะส่งผลต่อเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อัตราเติบโตของจีดีพีคราวนี้ ซึ่งเปิดเผยออกมาในวันพุธ (13 ส.ค.) ยังถือเป็นตัวเลขที่หดตัวครั้งแรกนับจากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2012

ปี 2013 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยสามารถดีดขึ้นต่อเนื่อง จากแผนกระตุ้นการเติบโตของนายกรัฐมนตรีอาเบะ ที่เรียกขานกันว่า “อาเบะโนมิกส์” โดยได้รับการสนับสนุนจากการอ่อนตัวของค่าเงินเยนที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการทำกำไรของผู้ส่งออกและดันตลาดหุ้นโลดลิ่ว และมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินขนานใหญ่ของบีโอเจเป็นโครงสร้างหลัก

ทว่า นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การเติบโตอันเข้มแข็งอาจสะดุดลงจากการปรับขึ้นอัตราภาษีการขายในเดือนเมษายน จาก 5% เป็น 8% ซึ่งถือเป็นการขึ้นภาษีประเภทนี้ครั้งแรกในรอบ 17 ปี

แล้วความเป็นจริงก็ออกมาอย่างที่มีการเตือนกันไว้ โดยที่พวกผู้บริโภคต่างพากันจับจ่ายทิ้งทวนก่อนที่รัฐบาลจะขึ้นภาษีการขายเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราเติบโตต่อปีในไตรมาสแรกของปีนี้พุ่งขึ้นถึง 6.1% แต่หลังจากนั้นอุปสงค์ก็ทรุดฮวบ โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนรูดลง 5.2% ขณะที่การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ตกฮวบ 10.3% และการใช้จ่ายเงินทุนลดลง 2.5%

สัปดาห์ที่แล้ว บีโอเจเตือนว่า สถานการณ์การส่งออกและผลผลิตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเสื่อมถอยลง แต่ยืนกรานไม่ออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะฟื้นตัว

กระนั้น ทาคาฮิโร เซกิโดะ นักยุทธศาสตร์การลงทุนของแบงก์ ออฟ โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ชี้ว่า ข้อมูลล่าสุดอาจทำให้บีโอเจต้องปรับลดตัวเลขแนวโน้มเศรษฐกิจ และยอมผ่านคลายมาตรการการเงินเพิ่มเติม

นอกจากนั้น ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า อาเบะจะยืนยันสานต่อแผนการขึ้นอัตราภาษีการขายเป็น 10% ในปีหน้าเพื่อลดหนี้สินภาคสาธารณะจำนวนมหาศาลของประเทศหรือไม่

ทั้งนี้ การขึ้นภาษีการขายครั้งล่าสุดในปี 1997 ก็ได้เคยส่งฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและอัตราเติบโตชะลอตัวมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์ในวันนี้ต่างจากเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เอเชียเผชิญวิกฤตการเงินครั้งใหญ่พอดี

โยโกะ ทาเคดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมิตซูบิชิ รีเสิร์ช อินสติติว ชี้ว่า การหดตัวในไตรมาสล่าสุดนี้ ตรงตามความคาดหมายของตลาด แมัตัวเลขการบริโภคของภาคเอกชนจะตกต่ำยิ่งกว่าคาด กระนั้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสำทับว่า จีดีพีไตรมาส 2 นี้ควรถือเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากรับอานิสงส์เต็มๆ จากการขึ้นภาษีการขาย แต่จีดีพีไตรมาสปัจจุบัน (ก.ค.-ก.ย.2014) จะเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่า และจะเป็นมาตรวัดสำหรับการตัดสินใจว่า ควรขึ้นภาษีการขายต่อไปในปีหน้าหรือไม่

ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของ เคียวเฮอิ มอริตะ และยูอิชิโร นากาอิ จากบาร์เคลย์ที่ระบุว่า ตัวเลขจีดีพีแท้จริงจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในไตรมาสหน้า โดยอ้างอิงดัชนีต่างๆ ที่ต่างก็ฟื้นตัวขึ้น เป็นต้นว่า โครงการสาธารณะและการสร้างบ้าน
จีดีพีญี่ปุ่นช่วงไตรมาส 2 ติดลบแรง ผลจากขึ้นภาษี
เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.2014) ที่ผ่านมา ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ชี้ชัดการขึ้น “ภาษีการขาย” กลายเป็นตัวทำให้ทั้งภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายและภาคเอกชนชะลอการลงทุน อีกทั้งนำไปสู่คำถามที่ว่า นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ จะยืนหยัดเดินหน้าแผนขึ้นภาษีสำคัญประเภทนี้ในปีหน้าต่อไปเพื่อลดระดับหนี้สินภาคสาธารณะของประเทศหรือไม่ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะกลับลำยอมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือเปล่า อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังคงเชื่อว่า แดนอาทิตย์อุทัยยังอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอัตราเติบโตของจีดีพีจะกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในไตรมาสต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น