เอเอฟพี - เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ปีนี้ มีอัตราเติบโตลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของช่วง 3 เดือนก่อนหน้า สืบเนื่องจากภาวะส่งออกชะลอตัวและการใช้จ่ายของผู้บริโภคซบเซาลง ส่งผลให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความขลังของ “อาเบะโนมิกส์”
เพิ่งจะตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้เองที่เศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยซึ่งเคยซีดเซียวกลับสามารถขยายตัวเกินหน้าพวกชาติสมาชิกกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมของโลก (จี 7) ด้วยกัน สืบเนื่องจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่ฉุดค่าเงินเยนลงซึ่งกลายเป็นการส่งเสริมการส่งออก และผลักดันตลาดหุ้นวิ่งฉิว จนนโยบายของเขาได้รับการกล่าวขวัญและขนานนามว่า “อาเบะโนมิกส์”
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความหวังต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทว่า ในวันพฤหัสบดี (14 พ.ย. ) ทางการแดนอาทิตย์อุทัยกลับแถลงว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 3 ของปีนี้ขยายตัวด้วยอัตรา 1.9% ต่อปี ลดฮวบจากระดับ 3.8% ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์จากผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่จัดทำโดยวอลล์สตรีท เจอร์นัล ซึ่งอยู่ที่ 1.7% และดัชนีนิกเกอิในวันพฤหัสบดีพุ่งขึ้น 2.12% จากแรงหนุนของการอ่อนตัวของเยน
หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจญี่ปุ่นในรอบ ก.ค.-ก.ย. 2013 จะขยายตัวแค่ 0.5% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เพียงเล็กน้อย แต่ต่ำกว่าไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 0.9%
เท่ากับว่าอัตราการเติบโตน่าประทับใจตลอดครึ่งแรกปีนี้ของญี่ปุ่นกำลังตกฮวบ จนกระทั่งตามหลังเศรษฐกิจอเมริกาที่มีอัตราขยายตัวต่อปีอยู่ที่ 2.8% ในไตรมาส 3
ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์เคยเตือนว่า มาตรการส่งเสริมการเติบโตอย่างห้าวหาญแบบอาเบะโนมิกส์ อันประกอบด้วยแผนกระตุ้นการใช้จ่ายขนาดใหญ่ของรัฐบาลกับนโยบายผ่อนคลายทางการเงินจากธนาคารแห่งประเทศญี่ป่น (บีโอเจ) จะไม่เพียงพอฉุดดึงเศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยให้หลุดจากภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อมานานปีได้ โดยที่ยังจะต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจในด้านสำคัญๆ ตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ ซึ่งรวมถึงการผ่อนคลายกฎหมายแรงงานเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจ้างงาน และการลงนามทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศหรือกลุ่มต่างๆ
ทั้งนี้ วันพุธ (13) รัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านกฎหมายปูทางสำหรับการเปิดเสรีตลาดกระแสไฟฟ้ามากขึ้น ทว่า การปฏิรูปสำคัญอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงคำพูดลอยๆ เท่านั้น
จากอัตราเติบโตของเศรษฐกิจในระดับนี้ ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่ บีโอเจ จะต้องขยายนโยบายผ่อนคลายการเงินสุดขีดที่ริเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ออกไปอีก นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการถกเถียงกันเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ “อาเบะโนมิกส์”
มาซิฮิโกะ ฮาชิโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยไดวา มีความเห็นว่าว่า แม้ข้อมูลล่าสุดอาจน่าผิดหวัง แต่ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าอาเบะโนมิกส์ หมดแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงเข้มแข็ง และการส่งออกได้รับการคาดหมายว่า จะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของดีมานด์ในประเทศสำคัญๆ ของเอเชีย
แต่กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับ “อาเบะโนมิกส์” มองว่า การเติบโตส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น ได้แรงหนุนจากแผนกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและการที่บีโอเจอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงิน ซึ่งคล้ายกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
มาซามิชิ อาดาชิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเจ.พี.มอร์แกน ซีเคียวริตีส์ บอกว่า การเติบโตส่วนมากผลักดันโดยการใช้จ่ายในโครงการภาคสาธารณะ จึงบ่งชี้ว่า อาเบะโนมิกซ์เริ่มอ่อนแรงจริงๆ และเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเข้าสู่สนามทดสอบ หลังจากรัฐบาลมีการขึ้นภาษีการขายในเดือนเมษายนปีหน้า ตามแผนการที่มุ่งลดหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันมีมูลค่าเป็นกว่า 2 เท่าของขนาดจีดีพี และถือว่ามากที่สุดในบรรดาประเทศกลุ่มจี 7
ทั้งนี้ ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่นำออกเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ ยังไม่ได้ให้ภาพที่ชัดเจนว่ามีแนวโน้มไปในทางใดแน่ เป็นต้นว่า จากรายงานที่ออกมาในวันพฤหัสบดีเช่นกัน ได้ปรับแก้ผลผลิตอุตสาหกรรมในโรงงานว่าขยายตัวเพียง 1.3% ต่ำกว่าตัวเลขที่ออกมาก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 1.5%
ทางด้านพวกบริษัทต่างๆ ยังคงลังเลที่จะขึ้นเงินเดือนหรือเพิ่มการใช้จ่ายเงินทุน และนี่ถูกมองว่าเป็นตัวบ่งชี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม ว่ายังจะไม่ไปไหน หลังจากดีมานด์ผู้บริโภคซบเซามาหลายปีและขัดขวางการเติบโตของภาคธุรกิจ
ขณะเดียวกัน ภาวะเงินฝืดทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย เนื่องจากหวังว่าข้าวของจะถูกลง จึงส่งผลโดยตรงต่อผู้ผลิต
กระนั้น ในอีกด้านหนึ่ง ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจขณะนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง และภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเริ่มใช้จ่ายมากขึ้นขณะที่อัตราว่างงานขยับลงและค่าแรงเริ่มไต่ขึ้น