xs
xsm
sm
md
lg

อาเบะเดิมพันเก้าอี้นายกฯญี่ปุ่น ดันขึ้น“ภาษีการขาย”หวังลดหนี้ปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชินโซ อาเบะ ประกาศเดินหน้ามาตรการขึ้นภาษีการขายเพื่อลดยอดหนี้สาธารณะมูลค่ามหาศาลของญี่ปุ่น
เอเจนซีส์ - ชินโซ อาเบะ ประกาศเดินหน้ามาตรการขึ้นภาษีการขายเพื่อลดยอดหนี้สาธารณะมูลค่ามหาศาลของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นด่านทดสอบสำคัญทั้งสำหรับนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” และภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นเดิมพันทางการเมืองครั้งใหญ่ที่อาจต้องแลกด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แถลงต่อที่ประชุมบรรดาผู้วางนโยบายของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันอังคาร (1 ต.ค.) ว่า จะเริ่มเก็บภาษีการขายเพิ่มจากอัตรา 5% ในปัจจุบัน เป็น 8% ตั้งแต่เดือนเมษายนศกหน้า อันจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 8 ล้านล้านเยน (81,420 ล้านดอลลาร์) ต่อปี

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า มาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนคิดเป็นมูลค่า 8 ล้านล้านเยน (81,000 ล้านดอลาร์) ดังนั้นจึงอาจกลายเป็นตัวฉุดรั้งอุปสงค์ของผู้บริโภค ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้กำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี อาเบะได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมา โดยยืนยันตามรายงานที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ขณะที่เดินหน้าการขึ้นภาษีการขายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการคลังในระยะยาว เขาก็จะประคองการฟื้นตัว ด้วยการออกมาตรการระยะสั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ารวมประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ตามร่างที่มีการเผยแพร่ออกมานั้น มาตรการดังกล่าวจะเน้นที่ผู้มีรายได้ต่ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของการจ่ายเงินช่วยเหลือครั้งเดียวรายละ 10,000 เยน ตลอดจนเน้นที่ภาคธุรกิจเพื่อจูงใจให้มีการเพิ่มการลงทุนและขึ้นค่าแรง รวมทั้งจะมีการเร่งยกเลิกการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลพิเศษ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นภายหลังมหันตภัยแผ่นดินไหว-สึนามิเมื่อปี 2011 โดยเป็นที่คาดหมายกันว่า จะสามารถสรุปมาตรการเหล่านี้ในขั้นสุดท้ายในเดือนธันวาคมนี้

ระหว่างที่แถลงต่อที่ประชุมคณะรัฐบาลและผู้วางนโยบายของพรรครัฐบาล อาเบะกล่าวว่า การขึ้นภาษีการขายมีเป้าหมายเพื่อ “รักษาความน่าเชื่อถือไว้วางใจของประเทศและจัดการระบบสวัสดิการสังคมที่ยั่งยืนเพื่อประชาชนรุ่นต่อๆ ไป”

การตัดสินใจคราวนี้มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (ตังกัง) ประจำไตรมาสล่าสุด ที่ปรากฏว่า ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตขนาดใหญ่กระโจนขึ้นจากระดับ 4 ในเดือนมิถุนายน เป็น 12 ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี

เห็นกันว่า ดัชนีตังกังที่ออกมาดีเช่นนี้ เป็นเหตุผลสนับสนุนทางเศรษฐกิจด่านสุดท้ายที่อาเบะใช้ในการตัดสินใจผลักดันมาตรการขึ้นภาษีการขายครั้งนี้

กระนั้น ฮิเดกิ มัตสึมูระ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยญี่ปุ่นในโตเกียว ชี้ว่า บริษัทมากมายยังคงกังวลกับการลงทุนเพิ่มและผลกระทบจากการขึ้นภาษีการขาย

นับจากคว้าชัยชนะเด็ดขาดในการเลือกตั้งสภาล่างเมื่อปลายปีที่แล้ว อาเบะได้ริเริ่มนโยบายที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเป็นสูตรผสมระหว่างแผนการกระตุ้นของรัฐบาลกับการผ่อนคลายทางการเงินที่ถูกเรียกขานรวมกันว่า “อาเบะโนมิกส์”

แผนการนี้ดูเหมือนไปได้สวย ปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายการขยายตัว 3.8% ต่อปี ขณะที่ตลาดหุ้นบวกเพิ่มราว 40% นับจากต้นปี ดังนั้น การขึ้นภาษีการขยายครั้งนี้จึงถูกตั้งคำถามว่า ไม่เพียงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อมาตรการฟื้นการเติบโตเท่านั้น แต่ยังอาจบ่อนทำลายคะแนนนิยมในตัวอาเบะด้วย

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์มองว่า “อาเบะโนมิกส์” จะมีความยั่งยืนได้จริงๆ ก็จะต้องเดินหน้าดำเนินการ “ส่วนที่ 3” ต่อจากการกระตุ้นทางการคลังและการเงิน ซึ่งก็คือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อผลดีในระยะยาว โดยเฉพาะการลดภาระหนี้สินสาธารณะ

โทโมเอกิ อิวาอิ ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิฮงในโตเกียวชี้ว่า นี่เป็นการตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดของอาเบะนับจากขึ้นบริหารประเทศ และยังเป็นด่านทดสอบสำคัญสำหรับอาเบะโนมิกส์

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังต่อสู้กับหนี้สาธารณะที่พอกพูนตลอดหลายปีจากความพยายามของรัฐบาลหลายชุดก่อนหน้านี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร้ประสิทธิภาพด้วยแผนการใช้จ่ายขนาดใหญ่ รวมทั้งต้นทุนสวัสดิการสังคมสำหรับสังคมผู้สูงวัยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น ถึงแม้ดัชนีตังกังเข้าทางฝ่ายสนับสนุนอาเบะโนมิกส์ ทว่า ข้อมูลในเดือนสิงหาคมบ่งชี้ว่า อัตราว่างงานยังคงสูงโด่ง ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนดิ่งลง โดยที่นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า การฟื้นตัวของค่าแรงและการจ้างงานเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นในการกระตุ้นการฟื้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพื่อช่วยผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนภายหลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำมานับสิบปี

อย่างไรก็ดี แม้ได้ชัยชนะอีกคำรบในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่จากสถิติที่ผ่านมาไม่ได้รับประกันว่า อาเบะจะไม่เผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับผู้นำญี่ปุ่นคนก่อนๆ ที่เคยพยายามบีบบังคับให้ผู้บริโภคร่วมรับผิดชอบปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการขึ้นภาษีการขาย

ดังนั้น แม้การขึ้นภาษีครั้งนี้เป็นความพยายามอย่างจริงจังครั้งแรกนับจากปี 1997 ในการจัดการกับหนี้สาธารณะที่พุ่งทะลุ 1,000 ล้านเยน (10.18 ล้านล้านดอลลาร์) ไปแล้ว และมีมูลค่ามากกว่า 2 เท่าตัวของจีดีพี แต่อาเบะก็คงไม่ลืมว่า มีนายกรัฐมนตรีถึง 2 คนทีเดียวเคยถูกบีบให้ลาออก เพราะประชาชนไม่พอใจ ไม่นานหลังจากขึ้นภาษีการขายในปี 1989 และ 1997
กำลังโหลดความคิดเห็น