xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจของ“ญี่ปุ่น”วูบครั้งแรกใน 18 เดือน แต่คาด ศก.อาทิตย์อุทัยสะดุดแค่ชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจแดนอาทิตย์อุทัยถอยหลังเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน อันเป็นผลจากการขึ้นภาษีการขายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดคำถามเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่า อนาคตช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจกลับมาสดใสอีกครั้ง

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เมื่อวันอังคาร (1 ก.ค.) เผยแพร่ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ หรือ “ดัชนีตังกัง” ประจำไตรมาส 2 ซึ่งพบว่า ความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ผลิตขนาดใหญ่อยู่ที่ +12 ต่ำกว่ามากจากการคาดการณ์ในตลาด หลังจากที่ไตรมาสก่อนหน้าทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 6 ปีที่ +17

นอกจากนั้น ยังถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2002 พร้อมคำมั่นพลิกฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น อีกทั้งยังทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของแดนอาทิตย์อุทัย

สำหรับความเชื่อมั่นในหมู่บริษัทขนาดใหญ่นอกภาคการผลิต ได้ลดลงอยู่ที่ +19 จาก +24 ในไตรมาสแรก ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสเช่นเดียวกัน

ดัชนีตังกังมุ่งที่จะชี้ความแตกต่างระหว่างจำนวนบริษัทที่มีความเชื่อมั่น กับบริษัทที่มองว่าสภาพแวดล้อมธุรกิจไม่เอื้ออำนวย โดยค่าบวกหมายความว่า พวกผู้จัดการธุรกิจที่มองแนวโน้มแง่บวกนั้น มีจำนวนมากกว่าพวกผู้จัดการธุรกิจที่มองแง่ลบ

การสำรวจความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่นกว่า 1,000 แห่งในทุกๆ ไตรมาสที่ดำเนินการโดยแบงก์ชาตินี้ เห็นกันว่าครอบคลุมและน่าเชื่อถือที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสำรวจในคราวนี้ ซึ่งดัชนีนี้กลายเป็นตัวบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจญี่ปุ่นรับมืออย่างไรกับผลกระทบจากการขึ้นภาษีการขายครั้งแรกในรอบ 17 ปี

ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดฮวบนับตั้งแต่รัฐบาลขึ้นภาษีการขายจาก 5% เป็น 8% เมื่อวันที่ 1 เมษายน โดยอุตสาหกรรมที่เจ็บตัวมากที่สุดคือรถยนต์และค้าปลีก

ถึงแม้เป็นที่ยอมรับกันว่า มาตรการนี้มีความจำเป็นสำหรับการลดหนี้สินภาคสาธารณะจำนวนมหาศาลของญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความกังวลกันว่า อาจทำให้การเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศึกษาจากบทเรียนในอดีต กล่าวคือครั้งล่าสุดที่ญี่ปุ่นขึ้นภาษีการขายในปี 1997 นั้น ได้นำไปสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจเติบโตแบบเซื่องซึมนานหลายปี

ย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ (30 มิ.ย.) ทางการญี่ปุ่นได้เผยแพร่ข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมขยับขึ้นต่ำกว่าคาด โดยเพิ่มเพียง 0.5% จากเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ การใช้จ่ายภายในครัวเรือนและการสร้างบ้านยังลดลง เนื่องจากผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้นจากการขึ้นภาษีการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากความพยายามของบีโอเจในการยุติภาวะเงินฝืดและการเติบโตชะลอตัวเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เป็นสัญญาณด้านดีก็ปรากฏออกมาเหมือนกัน โดยอัตราว่างงานของญี่ปุ่นลดลงอยู่ที่ 3.5% ในเดือนพฤษภาคม ต่ำสุดในรอบเกือบ 17 ปี และตลาดแรงงานยังปรากฏสัญญาณการตึงตัว ซึ่งจะเพิ่มความกดดันให้บริษัทต่างๆ ต้องขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดแรงงาน หลังจากที่บริษัทขนาดใหญ่เสร็จสิ้นการเจรจาสำหรับการจ้างงานในฤดูใบไม้ผลิโดยมีการขึ้นค่าแรงครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ค่าแรงที่ขยับขึ้น ย่อมหมายถึงภาคผู้บริโภคมีเงินทองที่จะจับจ่ายมากขึ้นด้วยนั่นเอง

นอกจากนั้น ดัชนีตังกังยังแสดงให้เห็นว่า บริษัทขนาดใหญ่มีแผนเพิ่มการใช้จ่ายด้านเงินทุนนับตั้งแต่การสำรวจครั้งที่แล้ว และคาดว่า ดัชนีจะขยับขึ้นเป็น +15 ในไตรมาสปัจจุบัน (ไตรมาส3) สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากที่ว่า เศรษฐกิจช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้จะกระเตื้องขึ้น

ขณะเดียวกัน ดัชนีการผลิตประจำเดือนมิถุนายนของมาร์กิต อิโคโนมิกส์ ยังขยับเป็น 51.5 จาก 49.9 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งตีความไว้ว่า มาตรการขึ้นภาษีการขาย อาจส่งผลต่อผู้ผลิตเพียงชั่วคราวเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น