xs
xsm
sm
md
lg

“ญี่ปุ่น” เริ่มปรับขึ้น “ภาษีการขาย” ครั้งแรกในรอบ 17 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พนักงานประจำซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในจังหวัดจิบะ (Chiba) ติดป้ายแจ้งปรับภาษีการขายจาก 5% เป็น 8% ตามนโนบายรัฐบาล ก่อนจะเปิดต้อนรับลูกค้าในช่วงเช้าวันนี้(1)
เอเอฟพี/รอยเตอร์ - สินค้าที่วางจำหน่ายในญี่ปุ่นตั้งแต่เบียร์, ซูชิ, รถยนต์ เรื่อยไปจนถึงเครื่องล้างจาน ถูกปรับราคาสูงขึ้นพร้อมกันในวันนี้ (1 เม.ย.) หลังรัฐบาลโตเกียวขึ้นภาษีการขายเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีจาก ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนผลกระทบจากอัตราการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่จะลดลง

การปรับขึ้นภาษีการขายจาก 5% เป็น 8% ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของญี่ปุ่น และรัฐบาลก็มีแผนที่จะขึ้นภาษีให้ถึง 10% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่าไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีผู้บริโภคในบางประเทศ

อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีครั้งนี้ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2012 พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะนำพาแดนปลาดิบให้หลุดพ้นจากวงจรราคาสินค้าตกต่ำและเศรษฐกิจที่ซบเซา ด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับการขนานนามว่า “อาเบะโนมิกส์”

การปรับขึ้นภาษีเมื่อปี 1997 ทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาเงินฝืดเรื้อรังและเศรษฐกิจเติบโตช้าต่อเนื่องนานหลายปี

นักวิเคราะห์มองว่า ความพยายามครั้งล่าสุดของโตเกียวที่จะกระตุ้นเงินเฟ้ออย่างยั่งยืนอาจเผชิญอุปสรรคจากการเรียกเก็บภาษีเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายและนำไปสู่ปัญหาเงินฝืดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แม้ครั้งก่อนจะมีปัจจัยอื่นๆ เช่น วิกฤตการเงินในเอเชีย มาเป็นตัวฉุดรั้งด้วยก็ตาม

จากสถิติล่าสุดเมื่อวานนี้ (31 มี.ค.) พบว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (factory output) ของญี่ปุ่นลดลงอย่างน่าตกใจในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งข้อมูลที่น่าผิดหวังนี้ถูกเปิดเผยก่อนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะเผยแพร่ “ดัชนีตังกัง” ซึ่งเป็นผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในวันนี้ (1)

“เมื่อญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีการขายในปี 1997 อุปสงค์ที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องเป็นเวลานาน และเวลานี้ก็เกรงกันว่า ปรากฏการณ์เดียวกันจะเกิดขึ้นซ้ำอีก” เอมี บราวน์บิล นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทข้อมูลการเงิน มาร์คิต (Markit) ระบุ

ทั้งนี้ การที่ราคาสินค้าหยุดเคลื่อนไหวหรือลดลงอาจฟังดูดีสำหรับภาคครัวเรือน แต่เนื่องจากอัตราเงินเดือนในญี่ปุ่นแทบไม่ขยับขึ้นเลยในช่วงหลายปีมานี้ทำให้นักช้อปส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะชะลอการซื้อสินค้าไปก่อน โดยหวังว่าราคาจะลดลงอีก ซึ่งสภาวะเช่นนี้จะเป็นผลเสียต่อผู้ผลิต และบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม

รัฐบาลโตเกียวเตรียมจัดสรรงบประมาณพิเศษเพื่อรับมือภาวะซบเซาที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่บางคนยังคาดหวังว่า บีโอเจจะประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากอุปสงค์การบริโภคที่ลดลง

“เราจะพยายามบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด” โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อเช้าวันนี้ (1)

“เราคิดว่าเราเตรียมพร้อมมาดีแล้ว แต่ก็ต้องคอยจับตาดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจซบเซาให้ได้”

สุกะ ยังอ้างถึงค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมที่พุ่งสูงขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภาระหนักสำหรับรัฐบาล และ “หวังว่าประชาชนจะเข้าใจ” ว่าเหตุใดการปรับขึ้นภาษีครั้งนี้จึงมีความจำเป็น




กำลังโหลดความคิดเห็น