เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) ประกาศคงเม็ดเงินสำหรับใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจแดนปลาดิบไว้ที่ระดับ 60 ล้านล้านเยน-70 ล้านล้านเยนต่อปี หรือไม่เกิน “22.28 ล้านล้านบาท” ต่อไปหลังตัวเลขเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เป็นการยืนยันของฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียวในวันศุกร์ (13)
คุโรดะ วัย 69 ปี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าบีโอเจคนที่ 31 เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วระบุว่า นอกจากตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นภัยต่อเศรษฐกิจแล้ว การแข็งค่าขึ้นมากว่า 3 เปอร์เซ็นต์ของเงินเยน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในญี่ปุ่นที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1991 ยังถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่บ่งชี้ว่า แนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นำโดยบีโอเจ และรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะได้ดำเนินมาถูกทางแล้ว
คุโรดะซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระหว่างปี 2005-2013 ยังเผยว่า ทิศทางของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเวลานี้ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายตัวที่ระดับ 2.2 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ยังเป็นการตอกย้ำว่าผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากการขายสินค้าและบริการ (sales tax) อีก 3 เปอร์เซ็นต์ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ส่งในแง่ลบมากนักต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ยังคงมีความเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของอาเบะยังคงมีความท้าทายสำคัญยิ่งในการรักษา “โมเมนตัมทางเศรษฐกิจ” ของประเทศในระยะยาว และมองว่าอาจมีความจำเป็นที่รัฐบาลโตเกียวจะต้องคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมซึ่งรวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างด้านภาษีเพื่อเน้นการเติบโตของภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 3 ของโลกในแง่ของจีดีพี และได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่อันดับที่ 4 ของโลก