xs
xsm
sm
md
lg

“ADB” ให้คำมั่น พร้อมหนุนชาติเอเชีย-แปซิฟิกพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐาน” แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ให้คำมั่นในวันจันทร์ (5) จะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลด “ความยากจน” และบรรลุเป้าประสงค์ในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

ทาเกฮิโกะ นากาโอะ ประธานเอดีบีซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น กล่าวที่กรุงอัสทานา เมืองหลวงของคาซัคสถานระหว่างการแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมประจำปีของบอร์ดเอดีบี โดยยอมรับว่า ในขณะนี้ได้เกิด “ช่องว่างขนาดใหญ่” ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่งของเอดีบี และทางเอดีบีขอให้คำมั่นว่า การเดินหน้าลดความยากจน และการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิก ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะยังคงเป็นเป้าประสงค์หลักในการดำเนินงานของทางธนาคารฯ ต่อไป

นากาโอะ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งประธานเอดีบีเมื่อปีที่แล้วระบุว่า ทางธนาคารฯจะแสวงหาช่องทางต่างๆ ในการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศยากจน ทั้งในรูปแบบของ การเป็น “หุ้นส่วน” ระหว่างเอดีบีกับภาคเอกชนในประเทศต่างๆ ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพด้านการเงินของเอดีบีเอง

ตามข้อมูลของเอดีบี ระบุว่า ขณะนี้ มีประชากรมากกว่า 1,600 ล้านคนในเอเชีย-แปซิฟิกที่ต้องดำรงชีพ โดยมีรายได้ไม่ถึง 2 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 65 บาท ต่อวัน โดยที่ผ่านมา ทางเอดีบีซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ได้พยายามมุ่งเน้นการแก้ปัญหาความยากจนของภูมิภาคผ่านทางการลงทุนด้านการศึกษา สุขภาพ และการลงทุนในภาคการเกษตร

ท่าทีล่าสุดของประธานเอดีบีมีขึ้นหลังจากผู้แทนของ 67 ชาติสมาชิกได้เสนอข้อเรียกร้องในที่ประชุมบอร์ดเอดีบี ณ กรุง อัสทานา ให้ทางเอดีบีเร่งปฏิรูปกลไกในการให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกเสียใหม่ โดยให้รวมแหล่งเงินกู้สำหรับประเทศที่มี “รายได้ต่ำ” กับกลุ่มประเทศที่มีระดับ “รายได้ปานกลาง” เข้าด้วยกันนับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการปล่อยกู้ของเอดีบีให้สูงขึ้น แทนกฏเกณฑ์เดิมที่มีปล่อยกู้ แยกตามฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของโลกที่ยังผันผวน

ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ เอดีบี เริ่มดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ปี 1966 โดยมีสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในสัดส่วนประเทศละ 12.78 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ จีน ที่ถือหุ้นในเอดีบี 5.45 เปอร์เซ็นต์ และอินเดีย 5.36 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
ทาเกฮิโกะ นากาโอะ ประธานเอดีบี

กำลังโหลดความคิดเห็น