รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลกเตือนเมื่อวันพฤหัสบดี (26) การแพร่ระบาดของอีโบลาที่เริ่มจากในกินี แล้วลุกลามสู่วิกฤตข้ามพรมแดนในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก อาจแผ่ลามขยายวงกว้างสู่ประเทศอื่นๆ อีก พร้อมเรียกร้องดำเนินการอย่างสุดกำลังเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้
แม้มีความพยายามจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชาติ และเหล่าองค์กรความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ในความพยายามระงับการแพร่ระบาดของอีโบลา แต่ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่ามีผู้ติดเชื้อแล้ว 635 คนในกินี เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ในนั้นเสียชีวิตแล้ว 399 ราย นับตั้งแต่มันเริ่มต้นระบาดในดือนกุมภาพันธ์
วิกฤตครั้งนี้กลายเป็นการแพร่ระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนมาที่สุดนับตั้งแต่ไวรัสอีโบลาปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในแอฟริกากลางเมื่อปี 1976 และเวลานี้จำนวนผู้ติดเชื้อก็สูงขึ้นเรื่อยๆ
“ตอนนี้มันไม่ใช่การแพร่ระบาดเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว แต่มันกลายเป็นวิกฤตระดับอนุภูมิภาคที่จำเป็นต้องมีการลงมืออย่างจริงจังจากรัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ” หลุยส์ แซมโบ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ภูมิภาคแอฟริการะบุในถ้อยแถลง “WHO มีความกังวลใหญ่หลวงต่อการที่มันกำลังแพร่เชื้อข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับความเป็นไปได้ที่มันอาจแผ่ลามสู่ระดับนานาชาติเพิ่มเติม”
ในแนวทางจัดการกับวิกฤต องค์การอนามัยโลกบอกว่าจะเรียกประชุมฉุกเฉินเหล่ารัฐมนตรีสาธารณสุขจาก 11 ชาติที่กรุงอักกรา ประเทศกานาในวันที่ 2 และ 3 กรกฎาคม เพื่อริเริ่มแผนตอบสนองระหว่างประเทศที่กว้างขวางและครอบคลุม
อีโบลา เป็นไวรัสเขตร้อนที่สามารถคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อได้ภายในเวลาไม่กี่วัน โดยมันจะทำให้ผู้ติดเชื้อเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องร่วง และในบางกรณีอาจทำให้อวัยวะล้มเหลวและเลือดไหลไม่หยุด ขณะที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน
การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสอีโบลา ซึ่งร้อยละ 90 ของกรณีที่พบทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย กลายเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับองค์กรบรรเทาทุกข์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งยังสร้างความหวาดกลัวต่อชาวบ้านในชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อ
“มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพยายามตอบสนองอย่างเข้มข้น ทั้งส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดนและแบ่งปันข้อมูลเกี่่ยวกับผู้ต้องสงสัยติดเชื้อหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ และเกณฑ์ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของชุมชน” แซมโบระบุ “นี่คือหนทางเดียวที่จะจัดการโรคระบาดนี้อย่างได้ผล”
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) บอกเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ว่า ด้วยที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ผู้คนก็ยังคงไปช่วยเตรียมศพและร่วมพิธีฝังศพเหยื่อ ซึ่งทำให้พวกเขาอ่อนแอต่อการติดเชื้อไวรัสมรณะนี้ที่สามารถติดต่อผ่านของเหลวในร่างกาย ไม่เว้นแม้กระทั่ง “เหงื่อ” ซึ่งหมายความว่า เพียงแค่สัมผัสร่างกายผู้ป่วยก็ทำให้ติดเชื้อได้