xs
xsm
sm
md
lg

“ระบบป้องกันขีปนาวุธ GMD” ของสหรัฐฯ ทำลาย “เป้าหมาย” สำเร็จครั้งแรกในรอบ 6 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขีปนาวุธสกัดกั้นซึ่งถูกยิงออกจากฐานทัพอากาศแวนเดินเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวานนี้(22)
เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ระบบป้องกันขีปนาวุธภาคพื้นดินของสหรัฐฯ ซึ่งบริหารงานโดยโบอิ้ง สามารถยิงสกัดขีปนาวุธเป้าหมายเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างการทดสอบเมื่อวานนี้ (22) นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุ

โครงการพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธช่วงโคจรกลางซึ่งมีฐานภาคพื้นดิน (Ground-based Midcourse Defense - GMD) มูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องแผ่นดินสหรัฐฯจากขีปนาวุธพิสัยไกลของ “รัฐก้าวร้าว” อย่างเกาหลีเหนือ และอิหร่าน

ก่อนหน้านี้ ระบบ GMD ยิงสกัดขีปนาวุธเป้าหมายพลาดไป 5 ครั้งจากการทดสอบทั้งหมด 8 ครั้งตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งนำระบบ GMD มาใช้ในปี 2004

รัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศจะทุ่มงบประมาณอีก 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สั่งซื้อขีปนาวุธสกัดกั้นอีก 14 ลูก หากการทดสอบซึ่งถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

ขีปนาวุธสกัดกั้นถูกยิงออกจากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์กในรัฐแคลิฟอร์เนีย และพุ่งทำลายขีปนาวุธพิสัยกลางจำลองของล็อกฮีด มาร์ติน ซึ่งยิงมาจากสถานที่ทดสอบของสหรัฐฯ บนเกาะปะการังควาจาลีนในหมู่เกาะมาร์แชลส์

ล็อกฮีดชี้ว่า ขีปนาวุธจำลองซึ่งมีความยาว 14 เมตร ถูกออกแบบให้มีศักยภาพใกล้เคียงกับขีปนาวุธภาคพื้นดินที่มีพิสัยเดินทางระหว่าง 3,000-5,000 กิโลเมตร

“นี่คือความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการปรับปรุงศักยภาพของระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ” พล.ร.ท.เจมส์ ไซริง หัวหน้าสำนักงานป้องกันขีปนาวุธ ระบุในถ้อยแถลง

ทั้งนี้ การทดสอบล่าสุดถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกสำหรับจรวด Exoatmospheric Kill Vehicle Capability Enhancement II หรือ EKV CE-II ของบริษัทเรย์ธีออน (Raytheon) ซึ่งทำภารกิจล้มเหลวไป 2 ครั้งเมื่อปี 2010

จรวด EKV CE-II ซึ่งใช้ทดสอบครั้งนี้ผ่านการอัพเกรดทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

“เราได้ปรับปรุงข้อบกพร่องจากการทดสอบครั้งก่อนเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2010” พล.ร.อ.จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ (20)

เพนตากอนระบุว่า การทดสอบครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งที่ 65 ของระบบป้องกันขีปนาวุธซึ่งผ่านการทดสอบมาแล้ว 81 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2001

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้ออกมาวิจารณ์ตั้งแต่การทดสอบที่ใช้งบประมาณสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่เริ่มขึ้นว่าระบบดังกล่าวยังไม่พร้อมใช้งานจริง ไม่ว่าผลทดสอบจะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม

“ต่อให้การทดสอบในวันอาทิตย์ (22) ประสบความสำเร็จ ก็ไม่สามารถยืนยันประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของจรวด EKV CE-IIได้” ลอรา เกรโก จากสหภาพนักวิทยาศาสตร์ (Union of Concerned Scientists) ระบุ

“มันจะเป็นความสำเร็จครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ตัวเลข 33 เปอร์เซ็นต์ก็ยังถือว่าสอบตก และไม่ใช่ข้ออ้างที่ฟังขึ้นสำหรับการสั่งซื้อเพิ่มเติม”




กำลังโหลดความคิดเห็น