xs
xsm
sm
md
lg

อิทธิพลของกลุ่ม ISIS กำลังแผ่ขยายในอิรักและซีเรีย

เผยแพร่:   โดย: ดานิเอเล กราซซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The impact of ISIS spread
By Daniele Grassi
20/06/2014

กลุ่ม “รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม” (ISIS) สามารถขยายตัวเติบใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่อิหร่านและซาอุดีอาระเบียดำเนินการแข่งขันช่วงชิงความเป็นผู้นำในภูมิภาคแถบนี้ ครั้นมาถึงตอนนี้อิทธิพลของกลุ่ม ISIS ยังกำลังทำท่าจะแผ่ขยายเลยออกจากอิรักและซีเรีย เข้าสู่ยุทธภูมิใหม่ๆ ทั้งในเลบานอน, เยเมน, และกระทั่งในอัฟกานิสถานหลังจากที่สหรัฐฯถอนทหารออกไป ยิ่งเมื่อมองกันในระดับโลกแล้ว ถ้าหากมีการก่อตั้งรัฐอิสลามแห่งใหม่ขึ้นมาได้สำเร็จโดยรวมศูนย์อยู่ที่ดินแดนติดต่อกันระหว่างอิรักกับซีเรีย มันก็จะกลายเป็นหลักฐานอีกชิ้นที่ยืนยันถึงการตกต่ำเสื่อมโทรมของสหรัฐอเมริกา

เป็นเรื่องที่ชวนให้ตกตะลึงพรึงเพริดเสียจริงๆ เมื่อเราได้เป็นประจักษ์พยานว่ากระบวนการอันอ่อนแอบอบบางของการที่สหรัฐฯพยายาม “สร้างรัฐ” ขึ้นในอิรักนั้น ได้เกิดการแตกระเบิดจากภายในด้วยความรวดเร็วถึงขนาดไหน และในขณะที่เศษอิฐเศษปูนกำลังร่วงลงมากองเกลื่อนกระจายตามพื้นนั้นเอง พวกกองกำลังอาวุธหัวรุนแรงของกลุ่ม “รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม” (Islamic State of Iraq and al-Sham ใช้อักษรย่อว่า ISIS เนื่องจากดินแดน “อัล-ชาม” ในภาษาอาหรับ ตรงกับดินแดน “เลแวนต์” Levant ในภาษาอังกฤษ จึงมีการแปลชื่อของกลุ่มนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Islamic State of Iraq and Levant รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์ ใช้อักษย่อว่า ISIL อีกด้วย นอกจากนั้น ดินแดน อัล-ชาม หมายรวมครอบคลุมทั้งซีเรีย, อิสราเอล, ปาเลสไตน์, เลบานอน, ไซปรัส, กระทั่งบางส่วนของตุรกี ดังนั้นจึงมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Greater Syria ด้วยเช่นกัน และเรียกชื่อกลุ่มนี้ว่า Islamic State of Iraq and Greater Syria -ผู้แปล) ก็รุกคืบหน้าไปด้วยความว่องไวชนิดแทบจะเหลือเชื่อ

การเข้าไปแทรกแซงและยึดครองอิรักอยู่เป็นระยะเวลาหลายปีของสหรัฐฯและพันธมิตรของอเมริกัน ได้สั่นคลอนทั้งเสถียรภาพทางการเมืองและกรอบโครงทางสังคมของประเทศนี้อย่างหนัก แล้วรัฐบาลของ นูรี อัล-มาลิกี (Nuri al-Maliki) ยังตามทำงานชิ้นนี้จนเสร็จสมบูรณ์ ด้วยการตอกย้ำความแตกแยกจากการแบ่งแยกด้านนิกายศาสนา โดยผ่านกระบวนการทำให้กลุ่มชาวสุหนี่ภายในประเทศด้อยค่าหมดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ

การปราชัยยอมจำนนของกองทหารอิรักในภาคเหนือของประเทศ คือผลลัพธ์ของนโยบายอันโง่เขลาและสายตาสั้นเช่นนี้เอง เม็ดเงินลงทุนอย่างมากมายมหาศาล (ประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในการฝึกอบรมทหารเหล่านี้ ยังคงไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งกองทัพซึ่งมีสมรรถนะความสามารถในการปฏิบัติภารกิจพื้นฐานต่างๆ ของตนขึ้นมาได้

อิรักกำลังตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกแบ่งแยกออกเป็นหลายๆ เสี่ยง และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ มันก็จะทำให้ความตึงเครียดทางด้านความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางยิ่งลุกลามบานปลาย กลุ่ม ISIS นั้นสามารถพึ่งพากำลังนักรบอันแท้จริงได้ประมาณ 10,000 คน ทว่ากำลังสำรองในรูปของผู้เห็นอกเห็นใจและผู้สนับสนุนนั้นมีจำนวนกว้างขวางกว่านั้นมาก

อันที่จริงแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ในซีเรีย ควรที่จะเป็นเสียงสัญญาณปลุกเตือนเหล่าผู้วางนโยบายในอิรักและในระดับระหว่างประเทศ การที่ ISIS สามารถบุกพิชิตเมืองรักกา (Raqqa) และพื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือของซีเรียได้อย่างรวดเร็ว ควรที่จะเป็นการขีดเส้นใต้เน้นย้ำให้เห็นอยู่แล้วถึงสมรรถนะทางทหารอันใหญ่หลวง ตลอดจนระดับการจัดองค์กรอันสูงส่งของกลุ่มนี้

ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ISIS ก็สามารถก้าวผงาดขึ้นมาเป็นฝ่ายค้านหลักที่คอยต่อต้านรัฐบาลของบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีศักยภาพที่จะกระทำเช่นนั้นได้ จริงๆ แล้ว เท่าที่ผ่านมารัฐบาลอัสซาด ได้พยายามระมัดระวังไม่เปิดการประจันหน้าโดยตรงกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ โดยหันไปโหมโฆษณาป่าวร้องความเป็นนักรบญิฮัดที่ประพฤติปฏิบัติตนประดุจปีศาจร้ายของกลุ่มนี้ และไม่ค่อยกล่าวถึงเงินทองและอาวุธที่ไหลทะลักไปยังกลุ่มนี้จากประดาประเทศซึ่งต้องการเห็นอัสซาดตกลงจากอำนาจ (หนึ่งในประเทศเหล่านี้ก็ได้แก่สหรัฐฯ) อย่างไรก็ตาม การใช้ท่าทีเช่นนี้ย่อมไม่สามารถทำลายความเฉื่อยชา ตลอดจนความสับสนทางยุทธศาสตร์ของทำเนียบขาวได้ และสหรัฐฯก็ต้องรู้สึกเซอร์ไพรซ์สุดขีดอีกครั้งหนึ่งจากเหตุการณ์ที่กำลังบังเกิดขึ้น

เวลานี้ภัยคุกคามที่เกิดจากเงื้อมมือของอัลกออิดะห์ หรืออย่างน้อยที่สุด จากเงื้อมมือของพวกตัวบุคคลระดับแกนกลางที่เคยมีบทบาทในอดีตของกลุ่มก่อการร้ายนี้ กำลังลดด้อยความสำคัญลงเต็มทีแล้ว ในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ องค์การที่นำโดย อัยมาน อัล-ซะวะฮีรี (Ayman al-Zawahiri) ได้แสดงให้เห็นเราชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า พวกเขาหมดความสามารถลงไปทุกที ในการสำแดงอำนาจควบคุมใดๆ ก็ตามต่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายหลายๆ กลุ่ม ซึ่งกำลังปฏิบัติการด้วยความแข็งขันอยู่ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

การที่ อบู บาคร์ อัล-แบกดาดี (Abu Bakr al-Baghdadi) ผู้นำที่มีบารมีจูงใจผู้คนของ ISIS แสดงการกระด้างกระเดื่องไม่ยอมขึ้นต่ออัลกออิดะห์ ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วงแก่อัลกออิดะห์ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโปงให้โลกได้เห็นว่าเวลานี้กลุ่มนี้แทบไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าเป็นยี่ห้อเป็นแบรนด์อย่างหนึ่งเท่านั้น ตรงกันข้าม ความสำเร็จของ ISIS ในเวลานี้กลับสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในจักรวาลของพวกนักรบญิฮัดไปอย่างถาวร โดยทำให้กลุ่มของอัล-แบกดาดี มีทรัพยากรใหม่ๆ ที่สามารถพึ่งพาอาศัยใช้ปฏิบัติการผลักดันแผนการต่างๆ ของเขาให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการในการรวบรวมอำนาจเพื่อก่อตั้งรัฐกาหลิบ (รัฐที่กาหลิบผู้ปกครองเป็นทั้งผู้นำทางศาสนาอิสลามและผู้นำด้านการปกครอง) แห่งหนึ่งขึ้นมา ซึ่งจะครอบครองดินแดนบริเวณที่คร่อมอยู่ระหว่างอิรักกับซีเรีย และแผ่กว้างออกไปจนเกือบจรดพรมแดนติดต่อกับอิหร่าน

อิหร่านนั้นก็เฉกเช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบีย โดยต่างก็เป็นตัวละครสำคัญของเหตุการณ์ต่างๆ ในภูมิภาคนี้ในระยะปีหลังๆ มานี้ จากการที่สองประเทศนี้ทำให้การประจันหน้ากันระหว่างชาวสุหนี่กับชาวชีอะห์บังเกิดความเลวร้ายมากขึ้นทุกที เตหะราน (ผู้อุปถัมภ์รายหลักของรัฐบาลมาลิกี) กับ ริยาด ก็กำลังทำให้เสถียรภาพของทั่วทั้งภูมิภาคนี้อยู่ในอาการสั่นคลอน และก่อให้เกิดผลต่อเนื่องต่างๆ ซึ่งจวบจนกระทั่งถึงเวลานี้จึงเริ่มต้นแสดงให้เห็นความสาหัสร้ายแรงที่แท้จริงของมัน

การต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงฐานะผู้นำในภูมิภาคนี้ ยังกำลังดำเนินอยู่ในยุทธภูมิอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่นในเลบานอน, บาห์เรน, และเยเมน ประเทศเหล่านี้ต่างประสบกับการแบ่งแยกทางด้านนิกายศาสนาอย่างล้ำลึก และจวบจนถึงขณะนี้ยังคงขาดไร้ซึ่งชนชั้นทางการเมือง ซึ่งมีศักยภาพความสามารถที่จะดูแลรักษาผลประโยชน์ต่างๆ ของประเทศชาติได้

สำหรับในระยะสั้นแล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ในอิรักดูเหมือนจะผลักดันให้สหรัฐฯต้องยอมหาทางทำข้อตกลงกับอิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของฝ่ายหลัง ให้สำเร็จเสร็จสิ้นลงไปด้วยความเร่งด่วนยิ่งขึ้นกว่าเดิม แล้วจะได้หันมาประนีประนอมกันในประเด็นว่าด้วยซีเรีย ทั้งนี้การหาวิธีการหยุดยั้งไม่ให้พวกนักรบญิฮัดเคลื่อนพลรุกคืบหน้าในภูมิภาคนี้ เวลานี้กลายเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกสุดไปแล้ว ทว่าภารกิจนี้ยากที่จะทำให้สำเร็จได้ถ้าหากปราศจากความร่วมมือของคณะรัฐบาลอัสซาด

พวกกลุ่มกบฏ “สายกลางๆ ” ในซีเรีย ดูจะยังอ่อนแอและแตกแยกกันเองมากเกินไป จนเกินกว่าที่จะมอบความไว้วางใจให้ปฏิบัติภารกิจอันละเอียดอ่อนเช่นนี้ กระทั่งว่าหากวอชิงตันตัดสินใจเพิ่มทวีการให้ความสนับสนุนแก่กบฎสายกลางๆ อย่างกลุ่ม “กองทัพปลดแอกซีเรีย (Syrian Liberation Army) ในระยะหลายๆ เดือนข้างหน้านี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่านโยบายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดทอนอำนาจต่อรองของรัฐบาลอัสซาดและพันธมิตร มากกว่าจะเป็นความพยายามอันแท้จริงที่จะปรับเปลี่ยนถอดรื้อดุลแห่งอำนาจในซีเรีย

การที่อิรักกำลังแตกออกเป็นเสี่ยงๆ และการที่ ISIS กำลังรุกคืบหน้าไปเรื่อยๆ ยังกำลังกลายเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้เกิดความกังวลใจอย่างสาหัสร้อนรนในอัฟกานิสถานด้วย คณะรัฐบาลอเมริกันเพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในปี 2016 ทว่าระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีนับจากนี้ไป ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับให้อัฟกานิสถานเสร็จสิ้นกระบวนการในการผนึกรวมศูนย์สถาบันระดับชาติต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการบริหารจัดการเพื่อลดทอนอิทธิพลของกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ภายในประเทศและในระดับภูมิภาค ซึ่งกำลังเฝ้าต่อต้านคัดค้านพลวัตเหล่านี้

ในทางตรงกันข้าม พวกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ก็อาจสรุปบทเรียนที่สำคัญมากประการหนึ่งจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอิรัก กล่าวคือ พวกเขาอาจจะยิ่งเชื่อถือมากขึ้นไปอีกว่า การเฝ้าติดตามแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะฝ่ายของพวกเขาเองอย่างเหนียวแน่นนั้น เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดยิ่งกว่าทางเลือกอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การที่สหรัฐฯประกาศท่าทีถอนตัวเลิกพัวพันกับภูมิภาคนี้ มีบทบาทสำคัญมากทีเดียวในการทำให้ปากีสถานรู้สึกหมดแรงจูงใจที่จะยุตินโยบายของตนในการให้ความสนับสนุนผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ที่มีบทบาทแข็งขันในอัฟกานิสถาน

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าในระยะหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป อัฟกานิสถานอาจลื่นไถลกลับเข้าไปสู่ภาวะแห่งความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างสัมบูรณ์ กลายเป็นกองหน้าของความขัดแย้งใหม่ๆ และเป็นภัยคุกคามเพิ่มมากขึ้นต่อความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศ

ในอนาคตข้างหน้า บางทีพวกนักประวัติศาสตร์อาจจะมองการรุกคืบของแบกแดดีและกองกำลังของเขา ว่าเป็นสัญญาณอีกประการหนึ่งของอำนาจที่กำลังเสื่อมทรามตกต่ำลงเรื่อยๆ ของสหรัฐฯ โดยที่สหรัฐฯเวลานี้กำลังมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะโฟกัสสนใจแต่เรื่องที่มีความสำคัญสำหรับภายในประเทศของตนเองเท่านั้น แต่การถอนตัวออกไปเช่นนี้เป็นการปล่อยปละทิ้งพิษร้ายเอาไว้เบื้องหลัง ทำให้ประเทศต่างๆ แตกเป็นเสี่ยงๆ และทำให้ความฝันประการหนึ่งใกล้ที่จะเป็นความจริงเข้าไปทุกที --ความฝันของพวกนักรบญิฮัดที่จะสร้างรัฐอิสลามแห่งหนึ่งขึ้นมาตรงบริเวณพื้นที่หัวใจของตะวันออกกลาง

ข้อเขียนนี้ปรากฏอยู่ในส่วน “Speaking Freely ” ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดทางให้เหล่านักเขียนรับเชิญสามารถแสดงความคิดเห็นของพวกตน โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่ เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ

ดานิเอเล กราซซี เป็นนักเขียนซึ่งพำนักอยู่ในกรุงโรม
กำลังโหลดความคิดเห็น