xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดเกิดใหม่จะผงาดกลับมาได้หรือไม่?(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ไมเคิล เปตติส

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Will emerging markets come back?
By MICHAEL PETTIS
05/03/2014

ความล้มเหลวในตลาดเกิดใหม่เมื่อช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนสับสนกันมากว่าทิศทางต่อไปของประเทศกำลังพัฒนาจะมุ่งไปหนใด แต่การณ์ก็ปรากฏออกมาว่า เราไม่ควรจะมองเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นในช่วงระยะนี้ว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใด ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรแห่งโลกาภิวัตน์

ไมเคิล เปตติส ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ปักหลักอยู่ในกรุงปักกิ่ง ได้พัฒนาสร้างชื่อเป็นที่เลื่องลือมาช้านานในบล็อกของเขาชื่อ “ตลาดการเงินจีน” (China Financial Markets http://blog.mpettis.com/) ซึ่งเป็นแหล่งนำเสนอความคิดเห็นของเขาต่อระบบเศรษฐกิจจีน แนวคิดสำคัญของเขามุ่งพิจารณาปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่จีนเผชิญอยู่ในเรื่องของการปรับสมดุล ไปสู่โมเดลที่ตั้งบนฐานของการบริโภคมากขึ้น เอเชียไทมส์ออนไลน์ ขอนำเสนอการวิเคราะห์ของเขาซึ่งแหลมคม ออกสู่ความรับรู้ของสาธารณชนวงกว้างยิ่งขึ้น

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก*

ผมไม่ค่อยจะเอ่ยอ้างถึงเรื่องประเภทนี้บ่อยนักในบล็อกของผม กระนั้นก็ตาม การโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายเมื่อวันเสาร์ ณ สถานีรถไฟคุนหมิง เมื่อวันเสาร์ (2 มีนาคม 2014) ซึ่งผู้บริสุทธิ์ 29 รายถูกสังหาร (ยอดตัวเลขสูงเป็นพิเศษเมื่อเกิดขึ้นในหมู่ผู้สูงอายุ ซึ่งไม่สามารถวิ่งได้เร็วพอที่จะหนีพวกฆาตกร) ทำให้ผมสยดสยองและทดท้อ การสังหารหมู่อย่างทารุณปบบนี้ ไม่เพียงจะส่งเสียงเตือนไปยังทางการปักกิ่ง หรือกระทั่งไปถึงโลกทั้งมวล แต่ยังมุ่งจะทำให้ทางการต้องตอบโต้อย่างเกินควร เพื่อจะสร้างความเกลียดชังขึ้นภายในประเทศ

ผมหวังว่าความพยายามดังกล่าวจะไม่สำเร็จ ที่ผ่านมา แม้กระแสความโกรธแค้นเกิดขึ้นอย่างมหาศาล แต่ผมยินดีว่าทางการจีนและคนจีนโดยทั่วไปแล้ว ดูว่ายังไม่ถึงกับโต้ตอบอย่างเกินควร ผมปรารถนาจะได้เห็นว่า จะมีหนทางใดที่ปัจเจกชนอย่างเราจะแก้ไขป้องกันเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างกรณีสังหารหมู่ที่สถานีรถไฟคุนหมิง กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกว่าเราช่วยเหลือป้องกันตนเองไม่ได้ ในฐานะปัจเจกชน ดูเหมือนว่าแทบจะไม่มีสิ่งใดที่เราอาจดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเพื่อป้องกัน หรือเพื่อปลอบโยนเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย

ในการนี้ มิใช่เฉพาะกรณีคุนหมิงที่สิ่งต่างๆ ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถยุติลงสงบนิ่งได้ บรรดาเหตุการณ์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นในยูเครนนับเป็นจุดสูงสุดของเหตุจลาจล และสงครามที่อุบัติในจุดต่างๆ ทั่วโลกในช่วงหลายๆ ปีมานี้ โดยทวีความเข้มข้นสุดๆ นับจากตอนเริ่มวิกฤตโลกปี 2007-2008 เรื่องนี้ไม่ใช่อะไรที่น่าประหลาดใจ และอันที่จริงแล้ว เราอาจจะต้องเตรียมตัวเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองเนิ่นนานไปอีกหลายปี เมื่อปลายปี 2001 ผมมีบทความตีพิมพ์ใน Foreign Policy ซึ่งนำเสนอสิ่งที่ผมคาดว่าจะเป็นสถานการณ์ต่อไปของโลก หลังเหตุวิกฤติ

ในบทความดังกล่าว ผมชี้ไว้ว่าในรอบ 200 ปีที่แล้วมา พวกเราได้ประสบกับวัฏจักรของโลกาภิวัตน์มาแล้วหลายครั้ง โดยถูกขับเคลื่อนด้วยความเปลี่ยนแปลงลึกๆ ภายในภาคการเงิน วัฏจักรนี้สร้างรูปแบบบางอย่างขึ้นมาโดยเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างสม่ำเสมอจนกระทั่งเอื้อให้เราพอจะทำการทำนายได้อย่างค่อนข้างมั่นใจ ผมตั้งประเด็นขึ้นว่า พวกเราอยู่ในช่วงปลายของโลกาภิวัตน์อีกคราหนึ่ง ซึ่งเมื่อสภาพการณ์ของสภาพคล่องที่หนุนเนื่องอยู่ข้างใต้นั้น ถึงกาลผันแปร จะมีแนวโน้มว่าเราจะได้เห็นสิ่งต่างๆ ละม้ายกับที่เราเคยเห็นในวัฏจักรอื่นๆ ก่อนหน้านี้ โปรดพิจารณาข้อเขียนของผม ดังนี้

โดยส่วนใหญ่แล้ว ภายหลังความล่มสลายของตลาด สาธารณชนจะมองว่าพฤติกรรมของตลาดการเงินที่เห็นดาษดื่น เป็นลางร้าย ขณะที่การตั้งป้อมวิพากษ์พวกนักการเงินกลายเป็นเกมยอดนิยมในหมู่นักการเมืองและสื่อมวลชนภายในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจก้าวหน้า ทันทีที่เงินทุนหยุดทะลักเข้าสู่ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจล้าหลังกว่าและมักเป็นประเทศที่หิวโหยเงินทุนรุนแรง ฉันทามติในประเทศเหล่านี้จะเทไปสู่การเรียกร้องการปฏิรูปเศรษฐกิจ ขณะที่การรวมกลุ่มระหว่างประเทศก็จะเริ่มแตกร้าว ในการนี้ เมื่อกระแสเงินทุนไหลเข้าลดน้อยจนไม่เพียงพอที่จะชดเชยได้กับความสูญเสียที่เป็นผลจากการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ – ซึ่งรวมถึง ความสูญเสียในเชิงจิตวิทยาในหมู่ชนชั้นนำและชนชั้นกลาง อาทิ ความรู้สึกว่าเกียรติภูมิของชาติได้รับความบอบช้ำ – กระแสสนับสนุนโลกาภิวัตน์จึงแผ่วลงอย่างรวดเร็ว กระบวนการปลุกกระแสมวลชนก็ฟื้นคืนชีพ ประเทศทั้งหลายหันกลับมาปกป้องตนเอง ข้อเรียกร้องที่สนับสนุนแนวทางปกป้องตลาดภายในจะได้รับเสียงสนับสนุนแข็งขันขึ้นมาอย่างปุบปับ ขณะเดียวกัน เม็ดเงินเพื่อการทุนที่ไหลเข้า กลายเป็นกระแสเงินทุนเผ่นหนีกระหือกระหอบแท่น

การทำนายเหล่านี้ที่จะฉายภาพว่าโลกจะมีโฉมหน้าอย่างไรในหลายปีข้างหน้านั้น นับเป็นเรื่องง่ายที่จะทำนายกันออกมา เพราะสภาพการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาบ่อยเหลือเกิน หนึ่งในการทำนายที่ผมควรจะได้ฟันธงไว้ แต่กลับมิได้ทำ คือการทำนายว่า หลังจากที่กระบวนการโลกาภิวัตน์ผกผัน จะมีแนวโน้มที่เราจะได้เห็นการปะทุอุบัติของสงคราม การปฏิวัติ ความขัดแย้ง และการจลาจลเชิงสังคม ทั้งนี้ สภาพการณ์เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เรามักนำไปเชื่อมโยงไว้กับช่วงปลายของวัฏจักรแห่งโลกาภิวัตน์ กระนั้นก็ตาม ในเวลาที่ผมเขียนบทความดังกล่าว (ตีพิมพ์ออกมาในช่วงไม่ถึงสองสัปดาห์ก่อนเกิดเหตุก่อการร้าย 9/11) โลกเราดูเสมือนว่าจะได้เปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง และเราก็เตลิดไปไกลเกินกว่าจะยอมผูกพันอยู่ในพฤติกรรมที่แตกแยกอย่างนั้น

ผมควรจะทราบซะตั้งแต่ตอนนั้น สองทศวรรษที่ผ่านมา ผมใช้เวลาไปมากมายกับการพยายามแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเกิดขึ้นซ้ำๆ ซ้ำๆ ได้อย่างไร และทำไมคำกล่าวอ้างว่าว่า “หนนี้ไม่เหมือนก่อน” นั้น แทบจะไม่เคยเป็นจริงเลย ทั้งนี้ ผมเคยเชื่อว่าต้องถึงจุดของการปฏิวัติและสงครามนั้นแล จึงจะมีลักษณะอันแตกต่างเล็กน้อยขึ้นได้บ้าง ผมเคยเชื่อว่าสถาบันระหว่างประเทศมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะบริหารจัดการแรงกดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อโลกาภิวัตน์ถึงกาลพลิกผัน

เมื่อดูข่าวโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข่าวเหตุการณ์ในยูเครน ผมเกิดความรู้สึกว่า เรายังไม่ได้คิดอ่านกันเลยว่าจะบริหารจัดการกับแรงกดดันเหล่านี้กันอย่างไร ความถดถอยที่เกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่ในระยะที่ผ่านมา ได้ทำให้ปวงชนทั้งหลายสับสนกันอย่างยิ่งว่าทิศทางของเศรษฐกิจโลกจะไปอย่างไร และถ้าจะเอาให้ตรงๆ ก็คือ ทิศทางของประเทศกำลังพัฒนาจะมุ่งไปทางไหน กระนั้นก็ตาม ต้องขอย้ำอีกคราว่า เราไม่ควรจะมองว่าเหตุการณ์ทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างใดเลย ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรวงจรโลกาภิวัตน์

**ไม่มีหรอก “การฉีกคู่” (decoupling)**

แน่นอนว่าเราอยากจะเถียงว่ารูปแบบสถานการณ์ในครั้งนี้มีความแตกต่าง และไม่ใช่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้ยินได้ฟังซ้ำๆ ว่าวิกฤตโลกปี 2007 – 2008 เป็นช่วงที่แสดงให้เห็นถึงจุดต่ำสุดที่ส่งสัญญาณว่าประเทศกำลังพัฒนาได้ฉีกตัวออกจากประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกาเหนือ เหตุผลมีอยู่ว่าประเทศพัฒนาแล้วในสองทวีปนี้ ได้ติดกับอยู่ในความฟุ้งของการบริโภคที่ดำรงอยู่บนเงินกู้ ซึ่งลงเอยด้วยวิกฤต และนำไปสู่กระบวนการพลิกผันถดถอยหลัง

ในข้อถกเถียงนี้ โลกกำลังพัฒนาได้ทำการตีชิ่งออกจากอุปสงค์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่การเติบโตของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มจะถูกขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ในประเทศตนเอง การขยายตัวของชนชั้นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและอินเดีย กลายเป็นจุดรวมศูนย์ของอุปสงค์แหล่งสำคัญ ทั้งนี้ ไม่แต่เพียงประเทศพัฒนาแล้วที่ได้ผลประโยชน์จากแหล่งอุปสงค์ใหม่แห่งนี้ หากในท้ายที่สุด ทุกประเทศต่างได้ผลประโยชน์จากอุปสงค์ที่ถูกสร้างขึ้นในโลกกำลังพัฒนา

ผมไม่เคยพบว่าทฤษฎีนี้มีความน่าคล้อยตาม และได้ปฏิเสธข้อเสนอว่าด้วย “การตีจาก”ไปอย่างสิ้นเชิง ผมเห็นว่า สภาพการณ์เมื่อหนึ่งทศวรรษก่อนเกิดวิกฤต ถูกกำหนดด้วยกระบวนการซึ่งขับเคลื่อนโดยความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภายในระบบเศรษฐกิจโลก อันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มุ่งจะบีบให้ดอกเบี้ยเงินออมขยับสูงขึ้นทั่วโลก ในทัศนะของผม วิกฤตปี 2007 – 2008 เป็นเพียงขั้นแรกในกระบวนการปรับสมดุล โดยที่ว่าในกระบวนการนี้ การบริโภคอย่างเกินเลยภายในโลกพัฒนาแล้ว ถูกปัจจัยเรื่องยอดหนี้สินที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ บีบคั้นให้รีบกลับทิศทาง แต่แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการปรับตัวในส่วนอื่นพร้อมกันไป วิกฤตดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบถึงประเทศกำลังพัฒนาแล้วในขณะนี้ แท้จริงคือขั้นตอนที่สองของกระบวนการปรับสมดุลโลก ทั้งนี้ หากนำเอาวิกฤตซับไพรมในสหรัฐฯ มาพิจารณาด้วย ก็ต้องนับให้วิกฤตซับไพรมเป็นขั้นตอนที่ 1 วิกฤตยูโรในภูมิภาคยุโรปเป็นขั้นตอนที่ 2

ในอันที่จะเข้าใจการเชื่อมโยง เราต้องย้อนกลับไปในช่วงก่อนวิกฤต นับจากวิกฤตโลกปี 2007 – 2008 โลกได้รับความทุกข์จากการที่อุปสงค์อ่อนตัวทั่วโลก อุปสงค์เคยแน่นหนาเมื่อก่อนเกิดวิกฤต แต่ที่แท้แล้วมันคือเครื่องสะท้อนให้เห็นสภาวะการเฟ้อในการบริโภคซึ่งได้เชื้อเพลิงหนุนโหมจากสินเชื่อ ผนวกกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สูญเปล่าอย่างมหาศาล ส่งผลเป็นความเฟ้อในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ แล้วก็กส่งผลกระทบไปเป็นเงินทุนเพื่อเก็งกำไรที่ทะลักเข้าสู่ประเทศอย่างสหรัฐฯ และยุโรป

วิกฤตการเงินคือตัวดับสภาพการณ์ทั้งปวง ภายหลังจากที่ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทร้พย์ในสหรัฐฯและยุโรปได้ล่มสลายไป พร้อมกับที่ความผวาวิตกในตลาดการเงินไปจำกัดไม่ให้ครัวเรือนสามารถทำการกู้ได้ ความเฟื่องฟูด้านการบริโภคและความเฟ้อในตลาดอสังหาฯ ภายในหลายหลากภูมิภาคของโลก ก็ถึงคราวอวสาน

โดยปกติแล้ว อัตราโตของการบริโภคที่อ่อนตัว ควรส่งผลให้การลงทุนชะลอลงไปด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามหลักคิดพื้นฐานว่า วัตถุประสงค์ของการลงทุนเพื่อให้เกิดการผลิตในวันนี้ มุ่งเพื่อรับใช้การบริโภคในวันรุ่งขึ้น กระนั้นก็ตาม สิ่งนี้มิได้เกิดขึ้นตามครรลองของมัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือสถานการณ์การบริโภคกลับยิ่งเข้มข้นขึ้นในช่วงปี 2009 – 2010 โดยดำเนินในรูปของความเฟ้อของการลงทุนที่อัดฉีดด้วยเงินกู้โดยมุ่งเข้าไปในจีน และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ต้นน้ำ การลงทุนที่ทวีตัวขึ้นนี้เป็นไปเพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคลดน้อยในโลกตะวันตก และในขณะเดียวกัน มันก็ไปสร้างผลสะท้อนเดียวกันนั้นขึ้นมา เช่น การล่มสลายของการได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดแทบจะไม่ไปกระทบการจ้างงานภายในประเทศ เพราะมันถูกชดเชยด้วยการลงทุนในประเทศที่เพิ่มทะยานขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์

นี้เป็นตัวจุดประกายให้เกิดเสียงวิเคราะห์ว่าด้วย “การฉีกคู่” ขณะที่การบริโภคซึ่งอ่อนตัวลง และการลงทุนในอสังหาฯ ซึ่งลดน้อยหายไปมากภายในยุโรปและสหรัฐฯ ได้บีบคั้นให้อัตราขยายตัวของอุปสงค์โลกลดต่ำลงมา การถ่วงดุลก็จุติอุบัติด้วยอุปสงค์ที่ขยายใหญ่ภายในโลกกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากจีน จึงไม่ต้องประหลาดใจเลยที่สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าอุปสงค์ที่พอกพูนในประเทศยากจน ดำเนินอยู่บนความเจ็บปวดของประเทศร่ำรวย

ไมเคิล เปตติส ทำงานอยู่ในกองทุนคาร์เนกี้เพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (the Carnegie Endowment for International Peace) และเป็นศาสตราจารย์ด้านการเงิน ณ สำนัก Guanghua School of Management แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยเป็นผู้ชำนาญการตลาดการเงินจีน เขาเคยสอนที่สำนัก School of Economics and Management แห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา ระหว่างปี 2002 – 2004 และที่สำนัก Graduate School of Business แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระหว่างปี 1992 – 2001 นอกจากนั้น เขาเป็นหัวหน้าคณะนักยุทธศาสตร์ ของบริษัทหลักทรัพย์ Guosen Securities (HK) ซึ่งเป็นวานิชธนกิจจากเซินเจิ้น
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น