xs
xsm
sm
md
lg

‘นักศึกษา’ เรียกร้อง ‘กองทัพปากีสถาน’ ยุติปฏิบัติการ

เผยแพร่:   โดย: อัชฟัก ยาซุฟไซ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Students take on Pakistani army
By Ashfaq Yusufzai
18/02/2014

บรรดานักศึกษาจาก “พื้นที่ชนพื้นเมืองที่ส่วนกลางบริหาร” (Federally Administered Tribal Areas) ของปากีสถาน กำลังเรียกร้องให้กองทัพยุติการปฏิบัติการปราบปรามพวกหัวรุนแรงในดินแดนบ้านเกิดของพวกเขา โดยที่ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งบอกว่า พวกเขา “กำลังรู้สึกขยะแขยงกับการกระทำของฝ่ายทหาร” เนื่องจากมีแต่เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ ขณะที่ประสบความล้มเหลวไม่สามารถกำจัดพวกตอลิบานได้

เปชาวาร์, ปากีสถาน - ด้วยความวิตกหงุดหงิดใจที่ได้เห็นพลเรือนต้องบาดเจ็บล้มตายมากขึ้นเรื่อยๆ และด้วยความสงสารเห็นใจในชะตากรรมของประชาชนผู้กำลังต้องใช้ชีวิตแบบผู้ลี้ภัยทั้งๆ อยู่ในประเทศของพวกเขาเอง บรรดานักศึกษาจาก “พื้นที่ชนพื้นเมืองที่ส่วนกลางบริหาร” (Federally Administered Tribal Areas ใช้อักษรย่อว่า FATA) ของปากีสถาน จึงกำลังออกมารณรงค์เรียกร้องให้กองทัพยุติการปฏิบัติการปราบปรามพวกหัวรุนแรงในดินแดนบ้านเกิดของพวกเขา

“พวกเรากำลังรู้สึกขยะแขยงกับการกระทำของฝ่ายทหาร เนื่องจากกองทัพไม่สามารถกำจัดพวกตอลิบานได้ ทว่ากลับเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์และทำให้พวกเขาต้องพลัดที่นาคาที่อยู่” ข่าน บาฮาดาร์ (Khan Bahadar) ประธานของสหพันธ์นักศึกษา FATA (FATA Students Federation ใช้อักษรย่อว่า FSF) กล่าวกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS)

“ประชาชนพื้นเมืองที่เป็นชาวชนเผ่ากำลังเผชิญช่วงเวลาที่ลำบากมาก ตั้งแต่ที่กองทัพปากีถสานเข้าควบคุมเขต FATA เอาไว้เมื่อปี 2004 ถึงแม้ว่าในเบื้องต้นแล้ว การจัดส่งกองทัพเข้าไปก็เพื่อต่อสู้กับพวกหัวรุนแรงตอลิบาน แต่แล้วกองทัพกลับทำให้ประชาชนจำนวนมากมายต้องอพยพออกจากพื้นที่สู้รบขัดแย้ง ส่วนพวกผู้ก่อความไม่สงบกลับยังอยู่ได้โดยไม่ได้รับอันตรายอะไร”

พวกตอลิบานได้เข้าไปซุกซ่อนหลบภัยอยู่ในพื้นที่ของ FATA ซึ่งอยู่ใกล้ๆ แนวชายแดนความยาว 2,400 กิโลเมตรระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถาน หลังจากที่รัฐบาลของพวกเขาในกรุงคาบูลถูกกองทหารที่นำโดยสหรัฐฯบุกเข้าไปโค่นล้มเมื่อปี 2001 จากนั้นปากีสถานในฐานะที่เป็นรัฐแนวหน้าแห่งหนึ่งในสงครามต่อสู้การก่อการร้ายที่นำโดยสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มดำเนินปฏิบัติการทางทหารปราบปรามกวาดล้างพวกตอลิบานใน FATA ในปี 2004 และกลายเป็นชนวนทำให้มวลชนต้องพลัดถิ่นที่อยู่

“ประชาชนถึงราวๆ 2.1 ล้านจาก FATA เวลานี้กำลังพำนักอาศัยอยู่ในแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา (Khyber Pakhtunkhwa province) ที่อยู่ติดๆ กัน พวกเขาอยู่ในสภาพทุกข์ยากเดือดร้อนหนัก เนื่องจากพวกเขาต้องออกจากการงานที่เคยทำ ออกจากธุรกิจที่เคยสร้างรายได้ และออกจากการทำการเกษตรที่เคยใช้เลี้ยงดูครอบครัว” บาฮาดาร์ วัย 19 ปี ผู้เป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเปชาวาร์ (University of Peshawar) บอก

มีนักศึกษาจาก FATA จำนวนมาก กำลังศึกษาอยู่ในไคเบอร์ปัคตุนควา

สหพันธ์นักศึกษา FSF นั้นจัดตั้งขึ้นมาในปีที่แล้ว ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสร้างแรงกดดันรัฐบาลให้ยุติการปฏิบัติการทางทหารในทั้ง 7 เขตชาวชนเผ่า (agency) ของ FATA และช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้พลัดถิ่น ได้กลับคืนสู่บ้านของพวกเขาโดยเร็ว

บาฮาดาร์บอกว่า เวลานี้การรณรงค์ของนักศึกษาจาก FATA กำลังมีพลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทางด้าน บุรฮานุดดิน ชัมคานี (Burhanuddin Chamkani) รองประธานของ FSF เล่าว่า “เรากำลังจัดการชุมนุมเดินขบวนทั้งในเมืองเปชาวาร์ และในกรุงอิสลามาบัด เพื่อทำให้ปัญหาของประชาชนของเรากลายเป็นที่สนใจขึ้นมา การปฏิบัติการของฝ่ายทหารนั้นไม่ใช่หนทางที่จะใช้แก้ไขการก่อการร้ายที่ยื้ดเยื้ออย่างนี้หรอก”

ชัมคานีนั้นมาจากขตชาวชนเผ่าชื่อ นอร์ท วาซิลิสถาน (North Waziristan Agency) ใน FATA เขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่บอกว่า การปฏิบัติการของฝ่ายทหารทำให้พลเรือนตายหรือพิกลพิการ ทว่าพวกหัวรุนแรงกลับยังคงอยู่ได้อย่างไม่มีรอยระคายเคือง

“มีคนถูกฆ่าตายไปอย่างน้อยที่สุด 5 คน ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็กด้วย จากการที่กองทัพเปิดการโจมตีทางอากาศในนอร์ทวาซิริสถาน เมื่อวันที่ 21 มกราคม เนื่องจากต้องการแก้แค้นการโจมตีแบบฆ่าตัวตายที่เล่นงานขบวนรถบรรทุกเสบียงสัมภาระของกองทัพ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นวันหนึ่ง และทำให้มีทหารตายไป 22 คน” เขายกตัวอย่างในบ้านเกิดของเขา

องค์การนักศึกษาอีกแห่งหนึ่ง ได้แก่ สหพันธ์นักศึกษาวาซิริสถาน (Waziristan Students Federation ใช้อักษรย่อว่า WSF) ก็กำลังวางแผนจะยกระดับการรณรงค์ของตนเช่นเดียวกัน

มูฮัมหมัด อิร์ฟาน วาซีร์ (Muhammad Irfan Wazir) เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของสหพัธ์ WSF เล่าว่า มีเยาวชนจำนวนราว 20,000 คนจาก FATA กำลังศึกษาอยู่ในเมืองเปชาวาร์ เมืองเอกของแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา แต่นักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่สามารถเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเยี่ยมครอบครัวได้ สืบเนื่องจากปัญหาการก่อการร้าย

“พวกเขาจะต้องผ่านไปตามจุดตรวจของกองทัพตั้งหลายแห่ง จึงจะไปถึงบ้านของพวกเขาใน FATA ได้ พวกเขาต่างเป็นโรคคิดถึงบ้านกันทั้งนั้น”

เวลานี้ WSF วางแผนจัดทั้งการประท้วง, การเดินรณรงค์, และการสัมมนาต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้สาธารณชน, กองทัพ, และรัฐบาลตระหนักรับรู้ถึงปัญหา

“พวกเราชุมนุมเดินขบวนอยู่ในมหาวิทยาลัยเปชาวาร์มาหลายสุดสัปดาห์แล้ว” วาซีร์ บอก “พวกเรายังจัดงานการกุศล และการแสดงดนตรีเพื่อระดมหาเงินมาช่วยเหลือประชาชนพลัดถิ่นที่กำลังพักอาศัยอยู่ตามแคมป์ต่างๆ ทั้งในเปชาวาร์และในพื้นที่อื่นๆ”

สำหรับผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการยุติการปฏิบัติการของฝ่ายทหารนั้น เขาบอกว่าต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง เนื่องจากเป็นผู้มีหน้าที่ปกครองควบคุม FATA โดยตรงอยู่แล้ว

“เราจัดการชุมนุมเดินขบวนที่บริเวณใกล้ๆ ทำเนียบรัฐบาลขึ้นมาอย่างน้อยก็สิบกว่าครั้งแล้ว เพื่อกดดันให้ทหารยุติการปฏิบัติการ แต่ยังคงไม่ได้ผลอะไร”

ทางด้าน มูฮัมหมัด จาวิด (Muhammad Javid) อาจารย์ของมหาวิทยาลัยโกมัล (Gomal University) ในไคเบอร์ปัคตุนควา เขามองว่าการที่ฝ่ายทหารยังคงเปิดการรุกโจมตีใน FATA อยู่อย่างต่อเนื่อง กำลังทำให้นักศึกษาโกรธเกรี้ยว และนักศึกษากำลังรณรงค์อย่างกระตือรือร้นเพื่อให้กองทัพยุติเรื่องนี้

“พวกนักศึกษามีเหตุผลความชอบธรรมที่จะให้กองทัพเลิกการปฏิบัติการ เนื่องจากการปฏิบัติการที่ผ่านมา ไม่สามารถนำสันติภาพมาสู่อาณาบริเวณนี้ได้เลย” เขากล่าวกับสำนักข่าวไอพีเอส

พวกเขายังกำลังรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลเริ่มต้นเปิดการเจรจากับกลุ่มตอลิบาน

พรรคปากีสถาน เตห์รีค อินซาฟ (Pakistan Tehreek Insaf ใช้อักษรย่อว่า PTI) ซึ่งเป็นพรรคครองอำนาจอยู่ในแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา ก็เชื่อว่าการพูดจาสนทนากับพวกหัวรุนแรง จะสามารถยุติความทุกข์ยากของประชาชนใน FATA ได้

“เราคือผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันให้เปิดการเจรจาสันติภาพกับพวกหัวรุนแรง” อาเยชา กุลลาไล (Ayesha Gullalai) สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งสังกัดพรรค PTI บอกกับสำนักข่าวไอพีเอส

เธอเห็นว่าทางรัฐบาลส่วนกลางยังไม่ได้ใส่ใจกับความลำบากของประชาชนในบ้านเกิดของเธอซึ่งอยู่ที่วาซิริสถาน

“รัฐบาลคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการอพยพประชากรที่เป็นพลเรือน ก่อนที่จะเริ่มมีการปฏิบัตการทหารใดๆ ก็ตาม เพราะการปล่อยให้พลเรือนที่ไม่ใช่นักรบถูกฆ่าและได้รับบาดเจ็บย่อมเป็นการฝ่าฝืนกฎบัตรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ” เธอบอกกับไอพีเอส และชี้ว่า ฝ่ายทหารนั้นอาจจะไม่ได้จงใจตั้งเป้าเล่นงานพลเรือน กระนั้นก็เกิดเหตุที่พลเรือนบาดเจ็บล้มตายขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า

“การรณรงค์ของพวกนักศึกษาชาวพื้นเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ควรต้องยินดี ในระยะหลังๆ นี้ เยาวชนเหล่านี้แหละที่กำลังกลายเป็นปากเสียงหนึ่งให้แก่ประชาชนชาว FATA”

ซากีรุลเลาะห์ ข่าน วัย 20 ปี พำนักอาศัยอยู่ที่หอพักท้องถิ่นแห่งหนึ่งในเปชาวาร์ เขามีภูมิลำเนาอยู่ในวาซิริสถาน เขามีความเห็นว่า “การปฏิบัติการทางทหารอย่างชนิดไม่มีความจำเป็นใน FATA บวกกับการที่สหรัฐฯใช้อากาศยานไร้นักบิน (โดรน) ออกโจมตีแต่ปรากฏว่าผู้ที่ถูกฆ่าส่วนใหญ่กลับเป็นพลเรือน เหล่านี้กำลังทำให้ประชากรท้องถิ่นหันมาต่อต้านรัฐบาลกันเป็นแถว” เรื่องเช่นนี้มีแต่ทำให้เกิดพวกหัวรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เขากล่าว

“เรื่องที่กองทัพยิงถล่มปืนครกปืนใหญ่อย่างไม่มีการจำแนกแยกแยะ ก็เป็นภัยคุกคามที่ประชาชนต้องคอยระแวงระวังอยู่เป็นประจำ”

เยาวชนจาก FATA ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในเปชาวาร์ บอกว่าพวกเขากำลังหยิบยกประเด็นเรื่องพลเรือนล้มตายเป็นจำนวนมาก มากดดันเหล่าตัวแทนของ FATA ทั้งที่นั่งอยู่ในสมัชชาแห่งชาติ (สภาล่าง) และในวุฒิสภา

พวกเขาบอกว่า การต่อสู้เพื่อให้ทหารยุติการปฏิบัติการในดินแดนบ้านเกิดของพวกเขาเช่นนี้ ยังจะดำเนินต่อไป

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ในแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น