xs
xsm
sm
md
lg

ทนายนักสิทธิมนุษยชนชาวจีนประกาศ ‘ยังจะสู้ต่อ’

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Chinese rights lawyer vows to keep fighting
By Radio Free Asia
19/02/2014

หวัง เฉิง ทนายความนักสิทธิมนุษยชนชาวจีนคนสำคัญ กล่าวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่เขาถูกควบคุมตัวแต่แล้วก็กลับได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระอย่างรวดเร็ว ว่าเขาจะยังคงพยายามระดมออกแรงกดดันต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อไป เพื่อให้ยินยอมให้สัตยาบัน “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” หวัง ยืนยันว่าพลเมืองของประเทศจีนย่อมมีสิทธิที่จะกดดันรัฐบาล ในช่วงก่อนหน้าที่รัฐสภาตรายางของประเทศจะเปิดการประชุมประจำปีในเดือนหน้า

เมื่อวันศุกร์ (14 ก.พ.) ที่ผ่านมา ตำรวจในเมืองหางโจว ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน ได้ควบคุมตัว หวัง เฉิง (Wang Cheng) ทนายความนักสิทธิมนุษยชนคนสำคัญ หลังจากที่เขาช่วยเหลือเปิดการรณรงค์ทางออนไลน์เพื่อรวบรวมผู้ร่วมลงชื่อให้ได้ครบ 1 ล้านคน ในการเรียกร้องให้ปักกิ่งยินยอมให้สัตยาบัน “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” (International Covenant on Civil and Political Rights)

“พวกเขาใช้วิธีการหลอกลวงให้ผมเปิดประตู จากนั้นพวกเขาก็เข้ามาตรวจค้นอย่างผิดกฎหมาย” หวัง กล่าวกับวิทยุเอเชียเสรี ภายหลังที่เขาได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้วในวันเสาร์ (15 ก.พ.) เขาถูกนำตัวไปควบคุมในคราวนี้ ด้วยข้อหาต้องสงสัยว่า “ยุยงให้เกิดการล้มล้างอำนาจรัฐ”

“พวกเขาบังคับให้ผมต้องไปกับพวกเขา นี่เป็นหมายเรียกตัวไปสอบสวนแบบผิดกฎหมายนะ” เขากล่าว “ผมบอกว่าผมจะไม่ให้ความร่วมมือหรอก”

เขายืนยันว่าพลเมืองของประเทศจีนย่อมมีสิทธิที่จะกดดันรัฐบาลของตนเองเพื่อให้สัตยาบันต่อกติกาของสหประชาชาติฉบับนี้ ในช่วงก่อนหน้าที่รัฐสภาตรายางของประเทศจะเปิดการประชุมประจำปีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้

“นี่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการยุยงให้มีการล้มล้างการปกครองเลย” หวัง บอก “การพูดกันในเรื่องลงชื่อสนับสนุนให้ประเทศให้สัตยาบันกติกาฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายอย่างแน่นอน”

**การจู่โจม**

หวัง กล่าวว่า ตัวเขาเองเชื่อว่าการจู่โจมบุกเข้าบ้านของเขาคราวนี้ (ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ภรรยาของเขาไม่อยู่บ้าน โดยที่มีแต่ปู่กับย่าคอยดูแลลูกเล็กๆ ของเขาอยู่) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ “รักษาเสถียรภาพ” ทั่วประเทศ ในช่วงก่อนหน้าที่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress) จะเปิดประชุมในวันที่ 3 เดือนหน้า

ด้านภรรยาของ หวัง เล่าว่า ทางครอบครัวไม่ได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการใดๆ จากตำรวจอีกเลย เมื่อพวกเขานำตัวสามีของเธอไปแล้ว “เขาทิ้งโทรศัพท์มือถือของเขาเอาไว้ที่บ้านด้วย” เธอกล่าว

“ฉันได้ยินมาว่ามีคนมากันเยอะเลย (เพื่อนำตัวเขาไป) และที่บ้านก็เหลือแต่คนแก่กับเด็กเล็ก ฉันไม่มีทางเลยที่จะออกไปเที่ยวหาว่าเขาถูกเอาตัวไปที่ไหน เพราะลูกฉันยังเล็กมาก” เธอบอก

“คนแก่คนเฒ่าที่บ้านคนหนึ่งหกล้มด้วย พวกเขากลัวกันมาก (ในระหว่างที่ตำรวจบุกเข้าไปในบ้าน)” ภรรยาของหวัง ซึ่งขอไม่ให้ระบุชื่อ กล่าว

หวัง นั้น เคยวาดหวังเอาไว้ว่าจะสามารถรณรงค์ปลุกเร้านักเคลื่อนไหวทั่วทั้งประเทศจีนทีเดียว ก่อนหน้าที่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจะเปิดประชุมประจำปีคราวนี้

** “การพูดคุย” ของตำรวจ**

หลู เกิงสง (Lu Gengsong) เพื่อนนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนที่เป็นชาวหางโจวเช่นกัน บอกว่า เขาก็ถูกเรียกตัวให้ “ไปพูดคุย” กับตำรวจสันติบาลในเมืองนี้เช่นเดียวกัน

“พวกเขาต้องการเรียกตัวผมไปพูดคุยเรื่อง ‘การรณรงค์ขอ 1 ล้านลายเซ็น’ ของ หวัง เฉิง” หลู กล่าว

“ตัวผมเองลงนามให้การรณรงค์นี้ไปเรียบร้อยแล้ว” เขาบอก “พวกเขาคิดว่าโครงการนี้มีผมเป็นหัวเรือใหญ่ ดังนั้นพวกเขาจึงเรียกตัวผมไปสอบถาม พวกเขาใช้ท่าทีแบบสันติดีทีเดียว และพวกเขาก็บอกผมหลายต่อหลายครั้งว่าอย่าได้เขียนบทความหรือไปร่วมในกิจกรรมของพรรคประชาธิปไตยจีน (China Democracy Party) เข้าทีเดียว”

พรรคประชาธิปไตยจีน ซึ่งประกาศตนเป็นฝ่ายค้าน ถูกทางการสั่งห้ามในปี 1998 และสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคหลายต่อหลายคนได้ถูกลงโทษจำคุกระยะยาว ด้วยข้อหาล้มล้างการปกครองในปีเดียวกันนั้นเอง

ทางด้าน จ้าน อ้ายสง (Zan Aizong) นักเขียนซึ่งตั้งฐานอยู่ที่หางโจว ให้ความเห็นว่า หวังน่าที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างนุ่มนวลกว่าที่ สีว์ จื้อหย่ง (Xu Zhiyong) นักเคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในปักกิ่งได้รับ เนื่องจาก หวัง จำกัดความเคลื่อนไหวของเขาให้อยู่แต่เฉพาะในอินเทอร์เน็ตของจีนซึ่งถูกทางการควบคุมอยู่อย่างหนาแน่น

“ผมเดาว่าทางการมีความวิตกมากกว่า ถ้าหากเป็นการปฏิบัติการร่วมกัน (ตามท้องถนน)” จ้าน กล่าว

“ถ้าหากการรณรงค์นี้สามารถรวบรวมลายเซ็นได้ 1 ล้านจริงๆ และกลายเป็นการเปิดฉากวิธีการสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลส่วนกลางแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเกิดคนเหล่านี้พากันออกมาตามท้องถนนด้วย?”

“ถ้าเขายังทำเรื่องอย่างนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่องแล้ว พวกเขาก็อาจจะเริ่มขู่เริ่มคุกคามเขา ... พวกเขาอาจจะต้องการให้เรื่องนี้จบลงก่อนหน้าการประชุมสภานะ แล้วก็จะกลายเป็นผลงานความดีความชอบของทางรัฐบาลท้องถิ่นไป” จ้าน กล่าวต่อ

**การเคารพสิทธิมนุษยชน**

ปักกิ่งออกมาโจมตีตอบโต้อย่างกราดเกรี้ยวอยู่เป็นประจำ เมื่อมีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในแดนมังกร จากองค์กรหน่วยงานระดับระหว่างประเทศ โดยยืนกรานว่ามีแต่ประชาชนชาวจีนเท่านั้นที่จะมีสิทธิพูดจาในหัวข้อนี้ได้

แต่แล้วพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบจีนก็เอาแต่คอยจับกุมคอยรังควาญ เมื่อมีนักเคลื่อนไหวคนจีนพยายามที่จะทำเช่นนั้นขึ้นมา

กว๋อ เฟยสง (Guo Feixiong) ทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่มีฐานอยู่ในเมืองกว่างโจว ถูกควบคุมตัวในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังจากเขายื่นคำร้องเพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้สัตยาบันกติกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับต่างๆ ของสหประชาชาติ

จีนนั้นได้ร่วมลงนามในกติกาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ, สังคม, และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (U.N. International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) และ “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” (International Covenant on Civil and Political Rights) เมื่อปี 1998 ทว่ายังไม่มีสนธิสัญญาฉบับไหนเลยที่ทางสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีนรับรองให้สัตยาบัน

ข่าวนี้รายงานโดย ซิน อี๋ว์ (Xin Yu) ในวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาจีนกลาง (Radio Free Asia's Mandarin Service) และ เวิน อี่ว์ชิง (Wen Yuqing) ในวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษากวางตุ้ง (Radio Free Asia's Cantonese Service) ส่วน ลุยเซตตา มูดี (Luisetta Mudie) เป็นผู้แปลและเขียนรายงานข่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น