xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ‘อาเบะ’กำลัง ‘เอียงขวา’ มากขึ้นเรื่อยๆ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: แอนดริว แอล โอรอส

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Abe's rightward shift risks his legacy
By Andrew L Oros
08/01/2014

นายกรัฐมนตรี อาเบะ ชินโซ ของญี่ปุ่น กำลังปล่อยให้ความโน้มเอียงและอิทธิพลแบบฝ่ายขวาของเขาเอง แสดงตัวออกมาอย่างทะลักทลายเต็มที่ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา เขาเดินทางไปยังศาลเจ้าแห่งซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งอย่างรุนแรง เพื่อสักการะทั้งวีรชนสงครามและอาชญากรสงครามอย่างเหมารวมไปหมดนั้น นั่นคือการหันเหเบี่ยงเบนออกมาจากความท้าทายอันแท้จริงที่เขาจะต้องเผชิญในปี 2014 นี้โดยแท้ ถ้าหากว่าอาเบะที่เปล่งรังสีแห่งความเป็นชาตินิยมอย่างแรงกล้า จะทำให้เขาสูญเสียความสนับสนุนจากพวกกลางๆ ทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกญี่ปุ่นแล้ว เขาก็จะสูญเสียทรัพย์สมบัติที่กำลังอยู่ใกล้แค่มือเอื้อมไปอีกด้วย

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

นายกรัฐมนตรี อาเบะ ชินโซ ของญี่ปุ่น ดูเหมือนจะเรียนรู้บทเรียน 2 ประการจากการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยแรกของเขา (ซึ่งปิดฉากยุติลงอย่างกะทันหัน โดยที่มีรายงานข่าวว่าเนื่องจากเหตุผลทางด้านสุขภาพของเขา) บทเรียนประการแรกคือไม่มีผู้นำคนไหนสามารถที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ทางนโยบายทั้งหมดของเขาได้ในคราวเดียว พวกผู้นำจะต้องขบคิดและดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์ ในเวลาลงมือเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ส่วนบทเรียนประการที่สองก็คือ พวกผู้ออกเสียงนั้นให้ความสำคัญลำดับต้นๆ แก่เรื่องเศรษฐกิจ และการมีเศรษฐกิจที่อ่อนแอมีแต่จะทำลายอำนาจและเกียรติภูมิระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ด้วยเหตุดังนั้น การที่จะบรรลุการปฏิรูปอันน่าตื่นใจในแวดวงความมั่นคงดังที่อาเบะปรารถนาให้ได้นั้น ก่อนอื่นญี่ปุ่นจะต้องลงมือจัดการเรื่องเศรษฐกิจของตนเองให้เข้าที่เข้าทาง

การพุ่งจุดโฟกัสไปที่เรื่องเศรษฐกิจ คือลักษณะสำคัญที่สุดของช่วงปีแรกแห่งวาระที่ 2 ของอาเบะโดยแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องยุทธศาสตร์ “ลูกธนู 3 ดอก” เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (“three arrows” strategy for economic growth) ของเขา อาเบะสร้างเซอร์ไพรซ์ให้แก่ผู้คนจำนวนมาก จากการผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมในการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้า “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแปซิฟิก” (Trans-Pacific Partnership ใช้อักษรย่อว่า TPP) ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งสภาสูงในเดือนกรกฎาคม 2013 ด้วยซ้ำ การที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมการเจรจาจัดทำข้อตกลง TPP ก็ด้วยความวาดหวังที่ว่า มันจะผลักดันทำให้ญี่ปุ่นต้องก้าวไปสู่การปฏิรูปต่างๆ ในเชิงโครงสร้าง การปฏิรูปเช่นนี้แหละถือว่า “ลูกธนูดอกที่ 3” ในยุทธศาสตร์ของอาเบะ ถึงแม้ในทางเป็นจริงแล้วยังไม่ค่อยมีอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมนัก ผู้นำไม่น้อยเชื่อว่า การปฏิรูปต่างๆ จะเกิดขึ้นมาได้จริงๆ ก็ต่อเมื่ออาเบะสามารถรักษาอำนาจเอาไว้ได้ต่อเนื่องหลายๆ ปี กระนั้นก็ตาม ตามความเห็นของ ดั๊ก เรดิเกอร์ (Doug Rediger) นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ และนักวิจัยอาคันตุกะ ของสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics) แล้ว “เรื่องเศรษฐกิจคือเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมาย สำหรับญี่ปุ่นที่กำลังต้องการประกาศศักดาของตนต่อโลก เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งคือเงื่อนไขที่จำเป็นจะต้องทำให้ได้เสียก่อน”

ถือเป็นเรื่องตลกร้ายทีเดียวสำหรับอาเบะ ในเมื่อการเดินไปตามเส้นทางสายกลาง คือหนทางเดียวที่จะทำให้เขาสามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวของเขา ที่จะได้เห็นญี่ปุ่นสามารถก้าวขึ้นมาประกาศตนเองต่อโลกอย่างมั่นอกมั่นใจ อาเบะจำเป็นที่จะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากสองในสามในทั้ง 2 สภาของรัฐสภาญี่ปุ่น จึงจะสามารถทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่เขาปรารถนาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ญี่ปุ่นสามารถมีกองทัพได้อย่างเปิดเผยชัดเจน และการอนุญาตให้กองทัพนี้ปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองทัพชาติอื่นๆ เพื่อ “การป้องกันร่วมกัน” (ดังเช่น การสู้รบทำสงครามในพื้นที่นอกญี่ปุ่น เพื่อรักษา “สันติภาพและเสถียรภาพระหว่างประเทศ”) ถ้าหากพรรคนิวโคเมอิ (New Komei Party ใช้อักษรย่อว่า NKP) ซึ่งเป็นอีก 1 พรรคที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลผสมชุดปัจจุบันกับพรรคลิเบอรัลเดโมเครติกปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party ใช้อักษรย่อว่า LDP) ไม่สามารถกระทำสิ่งซึ่งคงยากที่จะสำเร็จ นั่นการพลิกผันกลับมาได้คะแนนเสียงอย่างเป็นกอบเป็นกำ วิธีเดียวที่อาเบะจะบรรลุการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ก็คือต้องให้ LDP นั่นแหละ ชนะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไป แต่การมีสมาชิกสภาล่างและสภาสูงมากขึ้นเช่นนี้ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากอาเบะกระทำสิ่งที่ทำให้ผู้ออกเสียงที่เป็นพวกกลางๆ เกิดความรู้สึกแปลกแยก

อันที่จริง อาเบะก็ได้ทำให้ผู้ลงคะแนนจำนวนมากเกิดความแปลกแยกตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว จากการที่พรรค LDP ออกแรงผลักดันร่างพระราชบัญญัติความลับของรัฐซึ่งเป็นที่ถกเถียงโต้แย้งกันหนักให้ผ่านรัฐสภา ความแปลกแยกจากกฎหมายฉบับนี้ ถึงขนาดทำให้คะแนนสนับสนุนคณะรัฐบาลของเขาต่ำกว่าขีด 50% เป็นครั้งแรก เรื่องการเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิอย่างเป็นทางการ ก็เป็นสิ่งที่ผู้ออกเสียงจำนวนมากไม่ชอบเช่นกัน ทั้งนี้ตามผลการหยั่งเสียงหลายๆ ครั้งซึ่งจัดทำกันทั้งในช่วงก่อนและหลังอาเบะเยือนศาลเจ้าแห่งนี้ในเดือนธันวาคม

ไม่แต่เฉพาะผู้ลงคะแนนภายในประเทศเท่านั้น อาเบะยังจำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนระหว่างประเทศด้วยเพื่อให้บรรลุวาระที่เขามุ่งมาดปรารถนา การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะตกอยู่ในความเสี่ยงทีเดียวจากการที่ความสัมพันธ์ระหว่างแดนอาทิตย์อุทัยกับแดนมังกรเลวร้ายลง เนื่องจากจีนคือชาติคู่ค้าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ในยุคที่โคอิซูมิเป็นนายกรัฐมนตรี เขาเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิเป็นประจำทุกปี จนนำไปสู่กระแสจลาจลต่อต้านญี่ปุ่นอย่างกว้างขวางในประเทศจีน โดยผู้ก่อเหตุจำนวนมากพุ่งเป้ามุ่งเล่นงานพวกธุรกิจของญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองจีน การที่แดนมังกรโกรธกริ้วอาเบะที่ไปเคารพศาลเจ้าแห่งนี้ในตอนสิ้นปี ก็กำลังกลายเป็นการเพิ่มอุปสรรคให้แก่การปรับปรุงความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีน โดยที่สายสัมพันธ์นี้ก็กำลังอยู่ในจุดต่ำสุดทางการเมืองอย่างเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ยังคงมีสัญญาณต่างๆ แสดงถึงการกระเตื้องฟื้นคืนจากระยะย่ำแย่ ซึ่งบังเกิดขึ้นสืบเนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศโอนกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ ให้กลายเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ เมื่อฤดูใบไม้ร่วงของปี 2012 ทั้งนี้ตามข้อมูลที่โพสต์โดย ริชาร์ คัตซ์ (Richard Katz) ในเว็บไซต์ฟอเรนจ์แอฟแฟร์ส (ForeignAffairs.com) เมื่อเร็วๆ นี้ แต่ถึงแม้การไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิในปลายเดือนธันวาคมของอาเบะ ไม่ได้นำไปสู่ความสะดุดติดขัดทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ในทันที มันก็ยังจะมีค่าเท่ากับการเพิ่มวัตถุดิบซึ่งจะทำให้สาธารณชนในจีนเกิดความรับรู้ความเข้าใจไปว่า ญี่ปุ่นที่เป็นพวกลัทธินิยมทหาร (militarist) กำลังก้าวผงาดขึ้นเรื่อยๆ

ความมุ่งหวังของอาเบะที่จะแสดงบทบาททางด้านความมั่นคงในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ยังถูกคุกคามจากทัศนคติในทางร้ายของพวกพันธมิตรและพวกหุ้นส่วนของญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นจากการไปศาลเจ้ายาสุคุนิของอาเบะ ในการประชุมหารือของคณะกรรมการปรึกษาหารือด้านความมั่นคง “2+2” (“2+2” Security Consultative Committee) ในเดือนตุลาคม 2013 ได้มีการประกาศแผนการพบปะเจรจากันเพื่อจัดทำ “คู่มือสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคง” (US-Japan Guidelines for security cooperation ) ฉบับใหม่ก็จริงอยู่ ทว่าแผนการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจเชิงยุทธศาสตร์ร่วมระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯอยู่แล้ว แต่ถ้าหากมีการกระทำที่สร้างความโกรธเกรี้ยวเพิ่มมากขึ้นอีก (เป็นต้นว่า แดนอาทิตย์อุทัยตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อตกลงต่างๆ ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นช่วงหลังสงคราม ซึ่งเป็นพื้นฐานให้แก่สนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก San Francisco Peace Treaty) ก็จะเป็นอันตรายต่อความร่วมมือด้านการป้องกัน ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นอย่างไม่ต้องสงสัย ในทำนองเดียวกัน ความก้าวหน้าในความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์ ก็ล้วนแต่ได้รับความกระทบกระเทือน

การเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิของอาเบะ กลายเป็นการหันเหเบี่ยงเบนอย่างไม่จำเป็นจากปัญหาท้าทายอันแท้จริงทั้งหลายซึ่งญี่ปุ่นต้องเผชิญในปี 2014 เป็นต้นว่า การดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป, การเดินหน้าเจรจาจัดทำข้อตกลง TPP ให้สำเร็จและการปฏิบัติตามข้อตกลงนี้, การหาทางลดระดับความตึงเครียดในข้อพิพาททางดินแดนที่ญี่ปุ่นมีอยู่กับจีนและเกาหลีใต้, และการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งยึดมั่นอยู่กับแนวความคิดว่าด้วย “ลัทธิสันตินิยมแบบกระตือรือร้น” การที่จะจัดวางและปฏิบัติตามนโยบายในด้านต่างๆ เหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นที่จะต้องได้รับความสนับสนุนจากพวกแนวคิดกลางๆ ทั้งภายในและภายนอกญี่ปุ่น ผู้ซึ่งอาเบะได้ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกเสียแล้ว จากการที่ตัวเขาโอนอ่อนยอมจำนนต่อแนวโน้มแห่งความเป็นนักชาตินิยมของตนเอง การไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิในวันที่ 26 ธันวาคม ยังบ่งชี้ให้เห็นว่า ในปี 2014 อาเบะที่มีความเป็นอนุรักษนิยมมากขึ้นและเป็นนักชาตินิยมเพิ่มขึ้น จะปรากฏตัวออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้นอกจากว่าปฏิกิริยาเชิงลบอย่างแรงกล้าจากการไปสักการะศาลเจ้ายาสุคูนิของเขา จะผลักดุนให้เขาหวนกลับไปสู่เส้นทางแห่งความเป็นกลางๆ มากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว การที่อาเบะปรับตัวไปทางขวา ก็จะกลายเป็นภัยคุกคามต่อทรัพย์สมบัติที่กำลังจะตกอยู่ในเงื้อมมือของเขาอยู่แล้ว

แอนดริว แอล โอรอส (aoros2@washcoll.edu) เป็นรองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา ณ วอชิงตัน คอลเลจ (Washington College) ในเมืองเชสเตอร์ทาวน์ มลรัฐแมริแลนด์ และเป็นนักวิจัยวุฒิคุณอาคันตุกะ (visiting
adjunct fellow) ที่ศูนย์อีสต์-เวสต์ เซนเตอร์ กรุงวอชิงตัน ผลงานตีพิมพ์ของเขามีดังเช่น
Normalizing Japan: Politics, Identity, and the Evolution of Security Practice (Stanford University Press, 2008)


**ข้อเขียนนี้มาจาก “แพกเน็ต” (PacNet) จดหมายข่าวของ โปรแกรม แปซิฟิกฟอรัม (Pacific Forum) แห่ง ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) กรุงวอชิงตัน**
กำลังโหลดความคิดเห็น