xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’ยิ่งช่วย‘อิสราเอล’ วิกฤต ‘ตะวันออกกลาง’ ยิ่งแก้ไขไม่ได้ (ตอน 2)

เผยแพร่:   โดย: เชส มาดาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Truth and dare in US aid to Israel
By Chase Madar
10/02/2014

ปกติแล้ว ในแวดวงการเมืองการบริหารในกรุงวอชิงตัน เรื่องการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศนั้น ถือเป็นหัวข้ออ่อนไหวที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอันรุนแรงขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพวกนิยมการตัดลดงบประมาณรายจ่าย กระนั้นก็ตาม ยังคงปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งๆ ที่อิสราเอลคือผู้ที่ได้รับประโยชน์รายใหญ่ที่สุดจากงบประมาณความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯมาอย่างยาวนาน แถมแทบทั้งหมดยังเป็นความช่วยเหลือทางการทหารเสียด้วย แต่กลับไม่ค่อยมีใครใส่ใจขุดคุ้ยตรวจสอบเอาเสียเลย เฉพาะในปี 2013 ที่ผ่านมาอิสราเอลนั้นได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯเป็นมูลค่าถึง 3,100 ล้านดอลลาร์ เรียกได้ว่าสหรัฐฯส่งให้อิสราเอลใช้ ตั้งแต่แก๊สน้ำตา ไปจนถึงฝูงเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 และเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ “อาปาเช่” ไปจนถึง “อาวุธยิงทำลายบังเกอร์” ทว่าทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เมื่อพิจารณาจากแง่มุมของการแก้ไขคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่ไม่รู้จบไม่รู้สิ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว กลับปรากฏว่าแทบไม่ได้ก่อให้เกิดผลเป็นชิ้นเป็นอันอะไรเลย

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนที่ 2*

(ต่อจากตอนแรก)

**คนกลางผู้เอนเอียง**

ความเสมอภาคเท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เมื่อเป็นการเปรียบเทียบระหว่างชาวอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ในดินแดนเวสต์แบงก์, เขตตะวันออกของนครเยรูซาเลม, และดินแดนฉนวนกาซา และตัวเลขทั้งหลายสามารถที่จะบอกให้ทราบความจริงเรื่องนี้ได้อย่างกระจ่างชัดเจน ในที่นี้จะขอหยิบยกมาแสดงเพียงตัวอย่างเดียว นั่นก็คือ จำนวนผู้เสียชีวิตจาก “ยุทธการแคสต์หลีด” (Operation Cast Lead) ที่อิสราเอลบุกโจมตีเข้าไปในฉนวนกาซา ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2008 ถึง 18 มกราคม 2009 คือ ชาวปาเลสไตน์ 1,385 คน (เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพลเรือน) และ ชาวอิสราเอล 13 คน (มี 3 คนเป็นพลเรือน)

มิหนำซ้ำ ความคิดเห็นกระแสหลักในสหรัฐฯก็ไม่ได้มีการยืนกรานเรียกร้องให้พิจารณาทั้งสองฝ่ายด้วยความเท่าเทียมกัน ตัวอย่างแบบฉบับที่เห็นชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่งได้แก่ แฮโรลด์ โคห์ (Harold Koh) อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเยล และเคยเป็นมือกฎหมายระดับท็อปของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯจนกระทั่งออกจากตำแหน่งไปเมื่อเร็วๆ นี้ เขาพูดถึงบทบาทของวอชิงตันในยุทธการแคสต์หลีดอันหฤโหดคราวนั้น โดยวาดภาพเปรียบเทียบว่า สหรัฐฯกำลังแสดงบทบาทเป็น “ผู้ใหญ่ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล” ของ “สนามกีฬาแห่งหนึ่งที่เป็นถิ่นของแก๊งนักเลงมีดพกสปริงหลายแก๊งซึ่งกำลังทำศึกกันอยู่” มันช่างเป็นการเลือกใช้คำอุปมาที่แปลกประหลาดจริงๆ เมื่อพิจารณาจากการที่ฝ่ายหนึ่งนั้นมีเพียงแค่อาวุธเบาและจรวดที่มีความแม่นยำมากบ้างน้อยบ้าง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมีทั้งอาวุธนิวเคลียร์และกองทัพสมัยใหม่สุดไฮเทคแถมได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือจากอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกอีกด้วย

บทบาทอันกระตือรือร้นของวอชิงตันในสิ่งทั้งหมดนี้ ต่างเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนของทุกๆ คนบนเวทีโลกกันทั้งสิ้น – ยกเว้นชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งยังคงกล้าประกาศตนเองเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดที่ทรงความยุติธรรม ของสงครามความขัดแย้งซึ่งความพยายามทั้งหลายที่จะเป็นคนกลางให้เกิด “กระบวนการสร้างสันติภาพ” ขึ้นมานั้น ล้วนแต่ประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า นักสังเกตการณ์ในทั่วโลกเวลานี้ เหลืออยู่น้อยคนเต็มทีที่ยังคงเชื่อในนิยายเรื่องที่ว่าวอชิงตันคือผู้ยืนมองเหตุการณ์ที่มีจิตใจดีงาม ไม่ใช้ผู้มีส่วนร่วมซึ่งพัวพันอย่างเต็มที่กับการก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางด้านมนุษยธรรมขึ้นมา ในปี 2012 “อินเตอร์เนชั่นแนล ไครสิส กรุ๊ป (International Crisis Group) องค์การคลังสมองระดับระหว่างประเทศซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องกันอย่างกว้างขวาง ได้พูดถึง “กระบวนการสร้างสันติภาพ” ที่มีวอชิงตันเป็นคนกลางเอาไว้ว่า เป็น “การเสพติดรวมหมู่ที่สนองความต้องการในทุกๆ ลักษณะ แต่สำหรับการหาทางบรรลุข้อตกลงกันให้ได้นั้น ไม่ได้เป็นความต้องการหลักอีกต่อไปแล้ว”

ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งกันเองระหว่างการที่วอชิงตันให้ความสนับสนุนทั้งทางการทหารและทางการทูตกับฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งวอชิงตันก็เสแสร้างแกล้งทำเป็นว่าตนเองวางตัวเป็นกลาง กำลังกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายให้ใครๆ พึงพอใจหรือทำใจยอมรับได้ ดังที่ ราชิด คาลิดี (Rashid Khalidi) นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Brokers of Deceit: How the US Has Undermined Peace in the Middle East” (คนกลางแห่งความหลอกลวง: สหรัฐฯทำลายสันติภาพในตะวันออกด้วยวิธีใด) เขียนเอาไว้ว่า “พิจารณากันที่ความปราศจากอคติ เราย่อมสามารถหยิบยกเหตุผลมาโต้แย้งได้ว่า ถ้าหากความพยายามทางการทูตของฝ่ายอเมริกันในตะวันออกกลางจะส่งผลอะไรขึ้นมาแล้ว มันก็คือการทำให้บรรลุถึงสันติภาพระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอลได้ลำบากยากเย็นมากขึ้นนั่นเอง”

**หลบหลีกด้วยการนิ่งเงียบ**

ชนชั้นนำทางนโยบายชาวอเมริกันนั้น ไม่สามารถหรือไม่ปรารถนาที่จะพูดจาเกี่ยวกับบทบาททำลายล้างของวอชิงตันในสถานการณ์เช่นนี้ พวกเขามีการอภิปรายถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ เป็นต้นว่า หนทางแก้ไขปัญหาในตะวันออกกลางควรใช้สูตร “รัฐเดียว” (อิสราเอลที่รวมเอาชาวปาเลสไตน์เข้าไว้ด้วย) หรือสูตร “สองรัฐ” (รัฐอิสราเอลกับรัฐปาเลสไตน์ ดำรงอยู่เคียงคู่กัน), การแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างสม่ำเสมอกับการใช้ความรุนแรงของฝ่ายปาเลสไตน์, การวิพากษ์วิจารณ์แบบอ่อนๆ นิ่มๆ เป็นครั้งคราวต่ออิสราเอลสำหรับการเข้าไปตั้งนิคมใหม่ๆ ในดินแดนปาเลสไตน์ (ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์แบบอ่อนปวกเปียกที่ดูนิยมกันเหลือเกินคำหนึ่งก็คือ “ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น” not helpful), และระยะหลังๆ มานี้ ก็มีการถกเถียงกันอย่างมีชีวิตชีวาเกี่ยวกับขบวนการคว่ำบาตร, ถอนการลงทุน, และลงโทษ (boycott, divestment, and sanction movement ใช้อักษรย่อว่า BDS) อิสราเอลในระดับทั่วโลก ซึ่งนำโดยภาคประชาสังคมของชาวปาเลสไตน์ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะบีบคั้นกดดันอิสราเอลให้ยินยอมเข้าสู่สันติภาพ “ที่ยุติธรรมและยั่งยืน” แต่เมื่อมาถึงเรื่องที่ว่าอเมริกันคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุด –ทั้งจากการให้ความช่วยเหลือทางการทหารอย่างฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย และทั้งจากการทูตที่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน— สิ่งที่คุณจะได้รับ ถ้าหากไม่ใช่ถ้อยคำภาษาที่พยายามลดความแรงและทำให้นุ่มนวลปวกเปียกแล้ว ก็เป็นการหลบหลีกด้วยการนิ่งเฉย

ส่วนสื่อมวลชนอเมริกันนั้น โดยทั่วไปแล้วมีความโน้มเอียงที่จะปฏิบัติต่อเรื่องที่เราติดอาวุธให้อิสราเอล ราวกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งแห่งระเบียบกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติของจักรวาล เป็นสิ่งพ้นวิสัยที่จะไปตั้งคำถาม ทำนองเดียวกับเรื่องแรงดึงดูดของโลก แม้กระทั่งพวกสื่อมวลชน “คุณภาพ” ก็ยังตีกรรเชียงถอยหนีไม่ยอมอภิปรายถกเถียงใดๆ ในเรื่องบทบาทอันแท้จริงของวอชิงตันในการเติมเชื้อโหมไฟความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนที่แล้ว หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ตีพิมพ์เผยแพร่บทความชิ้นหนึ่งซึ่งพูดถึงทิศทางของตะวันออกกลางใน “ยุคหลังจากอเมริกันถอยออกไป” โดยที่ไม่ได้มีการเอ่ยอ้างอิงใดๆ เลยในเรื่องความช่วยเหลือที่วอชิงตันให้แก่อิสราเอล, หรือในเรื่องที่วอชิงตันให้ความช่วยเหลืออียิปต์ ซึ่งก็สืบเนื่องจากต้องการช่วยเหลืออิสราเอลในทางอ้อม, หรือเรื่องกองทัพเรือที่ 5 ของสหรัฐฯที่ตั้งฐานอยู่ในบาห์เรน

คุณอาจจะคิดว่า พวกนักจัดรายการหัวก้าวหน้าในรายการข่าวต่างๆ ของเอ็มเอสเอ็นบีซี (MSNBC) จะต้องเข้าไปเจาะค้นเสนอเรื่องราวแฉโพยว่าเงินทองของผู้เสียภาษีชาวอเมริกันกำลังถูกนำไปใช้อุดหนุนอิสราเอลในลักษณะเช่นใดกันบ้าง ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว หัวข้อนี้อย่างมากก็ปรากฏให้เห็นอย่างริบหรี่ตลอดทั้งรายการสนทนาของ เรเชล แมดโดว์ (Rachel Maddow), คริส เฮย์ส (Chris Hayes), หรือคนอื่นๆ เมื่อดูจากการที่สื่อมวลชนโดยรวมต่างเลือกที่จะสงบปากสงบคำเช่นนี้แล้ว การเสนอข่าวของสื่ออเมริกันในเรื่องอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และโดยเฉพาะเรื่องความช่วยเหลือทางทหารที่อเมริกาให้แก่อิสราเอล ย่อมชวนให้เปรียบเทียบนึกไปถึงนวนิยายสืบสวนการฆาตกรรมของ อกาธา คริสตี (Agatha Christie) ซึ่งมีผู้ใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 เป็นคนเล่าเรื่อง, เฝ้าสังเกตการณ์และแสดงความคิดเห็นต่อการกระทำต่างๆ ด้วยท่าทีสงบสุขุมและไม่ค่อยแสดงอารมณ์ความรู้สึก แต่แล้วในตอนท้ายเรื่องความจริงก็เฉลยออกมาว่าผู้เล่าเรื่องผู้นี้เองคือฆาตกร

เชส มาดาร์ (@ChMadar) เป็นทนายความอยู่ที่นิวยอร์ก, เป็นผู้เขียนเรื่องให้แก่ “TomDispatch” อยู่เป็นประจำ, และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Passion of [Chelsea] Manning: The Story behind the Wikileaks Whistleblower (Verso)

(ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในบล็อกออนไลน์ TomDispatch)
(อ่านต่อตอน 3 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น