xs
xsm
sm
md
lg

‘โมดี’ชนะเป็นนายกฯอินเดีย ‘สัมพันธ์ปักกิ่ง-นิวเดลี’ก็ไม่แน่ว่าจะชื่นมื่น

เผยแพร่:   โดย: ซานตอช ไป

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

New China-India era no shoo-in under Modi
By Santosh Pai
15/04/2014

ในช่วงเวลาที่ นเรนทรา โมดี เป็นมุขมนตรีแห่งรัฐคุชราต เขามีภาพลักษณ์ของความเป็นมิตรกับนักลงทุน ซึ่งบ่มเพาะขึ้นมาพร้อมๆ กับที่เขากำกับดูแลงานสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในรัฐทางภาคตะวันตกของแดนภารตะแห่งนี้ ดังนั้น การที่ตอนนี้เขาเป็นตัวเก็งที่จะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียคนต่อไป จึงน่าที่จะมีมนตร์เสน่ห์อย่างมากในการดึงดูดใจพวกบริษัทจีน ซึ่งรู้สึกหงุดหงิดผิดหวังกับระเบียบหลักเกณฑ์และกฎหมายด้านแรงงานอันกำกวมคลุมเครือของแดนภารตะ อย่างไรก็ตาม ถ้าหาก โมดี คือผู้มีชัยจริงๆ ภายหลังกระบวนการเลือกตั้งอันยืดยาวของอินเดียเสร็จสิ้นลงในตอนกลางเดือนพฤษภาคมนี้ มันอาจหมายความถึงยุคใหม่แห่งความสัมพันธ์ทวิภาคีอินเดีย-จีนได้ก็จริงอยู่ แต่ก็มีโอกาสอยู่เหมือนกันที่ลัทธิชาตินิยมจะกลายเป็นตัวบ่อนทำลายโอกาสดังกล่าวนี้

ความหวังกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า เมื่อถึงเวลาที่มีการประกาศผลการลงคะแนนสุดท้ายในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ กระบวนการเลือกตั้งอันใหญ่โตและใช้เวลายาวนานถึง 6 สัปดาห์ของอินเดีย ก็จะเท่ากับได้แสดงบทบาทสำคัญอีกประการหนึ่ง อันได้แก่การจัดเตรียมเวทีสำหรับยุคใหม่แห่งสายสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีน เท่าที่ผ่านมาถึงแม้ได้รับการทำนายทายทักว่ามันจะเป็นความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีซึ่งทรงความสำคัญยิ่งยวดที่สุดในรอบศตวรรษนี้ ทว่าพลวัตอินเดีย-จีนกลับยังคงอยู่ในสภาพที่เฉยชากว่าที่ควรจะเป็นเรื่อยมา

เห็นกันโดยทั่วไปว่า อาณาบริเวณที่มีศักยภาพสูงที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพเช่นนี้ ได้แก่การค้าและการลงทุน โดยที่พวกบริษัทของแต่ละฝ่ายนั้น ต่างก็กำลังจับจ้องมองตาเป็นมัน ไปยังตลาดขนาดยักษ์ในแต่ละฟากข้างของเทือกเขาหิมาลัย

เวลานี้ตัวเลขที่อินเดียนำเข้าสินค้าจากจีน กำลังมีอัตราเติบโตรวดเร็วกว่าตัวเลขที่แดนภารตะส่งออกไปยังแดนมังกร จึงยังผลให้เกิดความไม่สมดุลทางการค้าอย่างน่าอับอายขายหน้า โดยที่ทางฝ่ายนิวเดลีพบว่าเป็นเรื่องยากลำบากมากที่จะควบคุมเรื่องนี้ให้อยู่หมัด ยิ่งกว่านั้นโรงงานอุตสาหกรรมของจีนยังสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้อย่างสำคัญทีเดียวในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคการสื่อสารของอินเดีย

ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ยอดการลงทุนของจีนในอินเดียยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าที่จีนไปลงทุนในประเทศเอเชียอื่นๆ จำนวนมาก เหตุผลสำคัญประการหนึ่งเป็นเพราะพวกบริษัทจีนมองว่า ถึงแม้รัฐบาลอินเดียส่งเสียงแสดงความยินดีต้อนรับไม่ขาดระยะ ทว่าระบบกฎหมายหลักเกณฑ์ต่างๆ ของแดนภารตะนั้นยังมีลักษณะกำกวมคลุมเครือไม่ชัดเจน ถ้าหากไม่เลวร้ายถึงขั้นเป็นปรปักษ์ต่อนักลงทุน

ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นมุขมนตรี (chief minister) ของรัฐคุชราต (Gujarat) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2001 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ก็ได้แสดงบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างอินเดียกับจีนอยู่แล้ว ในฐานะของการเป็น 1 ในนักการเมืองระดับรัฐในอินเดียเพียงไม่กี่คนซึ่งทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยเป็นเจ้าภาพให้การต้อนรับ โมดีได้เฝ้าบ่มเพาะความสัมพันธ์อันเอื้ออำนวยประโยชน์แก่กันและกันนี้ให้อยู่ในระดับสูงสุดเรื่อยมา

การที่รัฐบาลสหรัฐฯปฏิเสธไม่ยอมออกวีซ่าให้แก่ โมดี ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ ก็มีส่วนแสดงบทบาทแบบ “มือที่มองไม่เห็น” ในการขับดัน โมดี ให้มุ่งไปในทิศทางสานสัมพันธ์กับจีนอย่างแน่วแน่มั่นคง

ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรเลย ที่ทั้งรัฐคุชราต ตลอดจนฐานคะแนนเสียงสำคัญแห่งต่างๆ ของ โมดี กำลังได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากการลงทุนและการปล่อยกู้ของจีน พวกบริษัทจีนทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ต่างเข้ามาชมเข้ามาดูด้วยทัศนะมุมมองที่ว่า คุชราต มีความหมายความสำคัญต่ออินเดีย ในทำนองเดียวกับมณฑลกวางตุ้งมีต่อประเทศจีน นั่นก็คือ การมีกลุ่มของเมืองเล็กเมืองน้อยที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูกระจุกตัวกัน ซึ่งกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในทั่วทั้งแดนมังกรในระยะเวลาหลายสิบปีมานี้

ในเดือนมกราคม 2010 ตอนที่พวกพ่อค้าเพชรชาวคุชราตไปถูกจับกุมในประเทศจีน รัฐบาลระดับชาติของอินเดียได้ใช้ความพยายามอยู่เกือบ 2 ปีเพื่อให้มีการปล่อยตัวคนเหล่านี้เป็นอิสระ ทว่าไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย ต้องรอจนกระทั่งหลังจาก โมดี เดินทางไปเยือนจีนแล้วนั่นแหละ พวกเขาจึงได้รับอิสรภาพในเดือนธันวาคม 2011

ชนชั้นนำของอินเดียได้พยายามร้องเรียกจนเสียงแหบเสียงแห้งมาหลายปีเต็มทีแล้ว เพื่อให้จีนเข้ามาลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทว่าได้รับการตอบสนองอย่างกะปริบกะปรอยเท่านั้น การตอบสนองอย่างเฉื่อยชาของจีนเช่นนี้บางทีอาจจะมีสาเหตุสืบเนื่องจากกฎหมายแรงงานและกฎหมายครอบครองที่ดินของอินเดียยังมีความวกเวียนซับซ้อนและไม่ชัดเจน

แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น การณ์ก็กลับปรากฏว่าในเดือนกันยายน 2013 ภายหลังที่ โมดี ทำท่าจะเป็นตัวเก็งคนสำคัญที่สุดที่จะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จู่ๆ รัฐบาลจีนก็แสดงความคึกคักกระตือรือร้น ด้วยการเสนอตัวที่จะสนองความต้องการในการลงทุนของอินเดียให้ได้ในระดับ 30% ของทั้งหมดจวบจนกระทั่งถึงปี 2017 เป็นเรื่องยากที่จะเมินเฉยไม่อ่านข้อความระหว่างบรรทัด และมองเห็นนัยว่าจีนกำลังแสดงการรับรองเชื่อมั่นใน โมดี ว่าจะสามารถพูดคุยเจรจากันกับแดนมังกรได้ ถ้าหากเขาได้ขึ้นครองอำนาจปกครองประเทศภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปอันยืดเยื้อคราวนี้เสร็จสิ้นลง

ความแข็งแกร่งแห่งความสัมพันธ์ระหว่างโมดีกับฝ่ายจีน ยังได้รับการตอบย้ำจากการสนองตอบต่อโมดีของสื่อมวลชนจีน ทั้งนี้ ตัวเก็งนายกรัฐมนตรีแดนภารตะคนต่อไปผู้นี้ ได้ไปกล่าวปราศรัยหาเสียงในรัฐอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาขอร้องให้จีนยุติการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือรัฐแห่งนี้ ซึ่งปักกิ่งขนานนามว่าเป็น “ทิเบตใต้” ปรากฏว่าสื่อมวลชนของทางการจีนได้แสดงบทบาทอย่างรวดเร็วในการลดทอนน้ำหนักคำพูดของโมดี โดยบอกว่าเป็นเพียงยุทธวิธีที่จำเป็นต้องใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น

มิตรไมตรีเช่นนี้ สามารถที่จะเป็นส่วนประกอบอันสำคัญยิ่งยวดในการเชื่อมประสานสายสัมพันธ์อินเดีย-จีนในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้านี้ อินเดียอาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงแนววิถีของอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของตนให้ดีขึ้นอีกมาก ด้วยการศึกษาประสบการณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ดี โอกาสดังกล่าวก็สามารถที่จะหมดเปลืองสูญเปล่าไปได้อย่างง่ายดาย ถ้าหาก โมดี เลือกที่จะทำตัวเป็นนักชาตินิยม และปฏิบัติต่อจีนในฐานะที่เป็นเพียงศัตรูอีกรายหนึ่งของอินเดีย ทำนองเดียวกับปากีสถาน ซึ่งก็เป็นเพื่อนมิตรที่ดีที่สุดของจีนในเอเชียใต้

ข้อเขียนนี้ปรากฏอยู่ในส่วน “Speaking Freely ” ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดทางให้เหล่านักเขียนรับเชิญสามารถแสดงความคิดเห็นของพวกตน โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ

ซานโตช ไป เป็นทนายความชาวอินเดียซึ่งพำนักอยู่ในปักกิ่ง เขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าของกลุ่มทำงานด้านกฎหมายอินเดีย-จีน ในสำนักงานทนายความของอินเดียแห่งหนึ่ง ทัศนะที่แสดงในที่นี่เป็นของตัวเขาเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น