xs
xsm
sm
md
lg

‘สงครามอิรัก’จากนโยบายมุ่งสร้างความแตกแยกของรัฐบาลมาลิกี

เผยแพร่:   โดย: วีเจย์ ปราชาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Iraq’s night is long
By Vijay Prashad

กลุ่ม “รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม” เป็นพลังแกนนำในกระแสความปั่นป่วนอลหม่านระลอกล่าสุดที่กำลังพัดกวาดไปทั่วทั้งภาคเหนือของอิรัก แต่ใช่ว่าจะมีแต่พวกเขาอยู่เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น สิ่งซึ่งยึดเหนี่ยวให้พวกสุดโต่งอัล-กออิดะห์, อดีตสมาชิกพรรคบาธ, และพวกทหารอิรักหนีทัพ หันมาสามัคคีรวมตัวร่วมทำสงครามในคราวนี้ คือความรู้สึกสิ้นหวังต่อการใช้นโยบายมุ่งสร้างการแบ่งแยกทางนิกายศาสนาของนายกรัฐมนตรี นูรี อัล-มาลิกี ตลอดจนความล้มเหลวของรัฐอิรักในการตะล่อมดึงดูดพวกเมืองเล็กเมืองน้อยของชาวสุหนี่ ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำไทกริส ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาจนถึงกรุงแบกแดด

เบรุต, เลบานอน - ภาคเหนือของอิรัก ส่วนที่อยู่ระหว่างเขตของชาวเคิร์ด (Kurd) กับกรุงแบกแดด ตกอยู่ในความปั่นป่วนสับสนอลหม่าน เมื่อเผชิญกับการรุกโจมตีอย่างฉับพลันรุนแรงดุจสายฟ้าฟาด ของกองกำลังอาวุธจาก 3 ขบวน อันได้แก่ ขบวนของกลุ่ม “รัฐอิสลามแห่งอิรักและมหาซีเรีย” (Islamic State of Iraq and Greater Syria ใช้อักษรย่อว่า ISIS ทั้งนี้ ชื่อของกลุ่มนี้ในภาษาอาหรับ คือ “รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม” Islamic State of Iraq and al-Sham ใช้อักษรย่อว่า ISIS และเนื่องจากดินแดน “อัล-ชาม” ในภาษาอาหรับ ตรงกับดินแดน “เลแวนต์” Levant ในภาษาอังกฤษ จึงมีการแปลชื่อของกลุ่มนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Islamic State of Iraq and Levant รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์ ใช้อักษย่อว่า ISIL อีกด้วย นอกจากนั้น ดินแดน อัล-ชาม หมายรวมครอบคลุมทั้งซีเรีย, อิสราเอล, ปาเลสไตน์, เลบานอน, ไซปรัส, กระทั่งบางส่วนของตุรกี ดังนั้นจึงมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Greater Syria ด้วยเช่นกัน และเรียกชื่อกลุ่มนี้ว่า รัฐอิสลามแห่งอิรักและมหาซีเรีย Islamic State of Iraq and Greater Syria -ผู้แปล) , ขบวนของกลุ่ม “กองทัพอิสลามิสต์ชาวอิรัก” (Iraqi Islamic Army) ซึ่งกำลังพลประกอบด้วยอดีตสมาชิกพรรคบาธ (Ba’ath), และขบวนที่ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ของอดีต “สภาชนเผ่าแห่งนักรบมูจาฮีดีน” (Mujahedin Shura Council)

เฉกเช่นเดียวกับการรุกโจมตีของพวกมองโกล (Mongol) ในอดีตกาล ขบวนของ ISIS ซึ่งเป็นกองกำลังหลัก สามารถเคลื่อนตัวไปทั่วทั้งอาณาบริเวณโดยไม่ได้ถูกต้านทานอย่างจริงจังอะไรเลย พวกเขาใช้เวลาเพียงไม่นานนัก ก็ทำให้ทหารของกองทัพอิรักพากันถอดเครื่องแบบ และทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ แล้วเข้าร่วมกับกองคาราวานของชาวอิรักที่กำลังแตกตื่นหลบหนีไปทั้งทางทิศเหนือและทางทิศใต้ จากเมืองสำคัญๆ ริมแม่น้ำไทกริส (Tigris River) อย่างเมืองโมซุล (Mosul) และเมืองติกริต (Tikrit) ตลอดจนจากเมืองทางภาคตะวันตกอย่างเมืองเตล อะฟาร์ (Tal Afar) ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายที่เชื่อมต่อระหว่างอิรักกับซีเรีย

ทหารกองทัพอิรักจำนวนมากซึ่งถูกนักรบของกลุ่ม ISIS และกลุ่มที่มารวมตัวกันอื่นๆ จับตัวเอาไว้ได้ ต้องเผชิญกับช่วงเวลาอันเต็มไปด้วยความหวาดเสียวอันตราย โดยพวกนักรบ ISIS จะจัดแบ่งทหารเหล่านี้ออกตามความเชื่อทางนิกายศาสนาของพวกเขา จากนั้นก็จัดการสังหารหมู่ทหารที่เป็นชาวชีอะห์ (พวก ISIS ระบุเองว่าได้ประหารไปประมาณ 1,700 คน) ต่อหน้าต่อตากล้องถ่ายวิดีโอหลายๆ ตัวของพวกเขาเองที่คอยติดตามบันทึกภาพเอาไว้อย่างใกล้ชิด จากนั้นก็โพสต์คลิปวิดิโอเหล่านี้ทางออนไลน์ สำหรับทหารที่เป็นชาวสุหนี่ จะถูกบังคับให้สาบานตัวแสดงความจงรักภักดีต่อ “รัฐอิสลาม” ไปตลอดกาล โดยพวกเขาถูกข่มขู่ว่าหากไม่ยอมทำก็จะต้องถูกฆ่าตาย พฤติการณ์การเข่นฆ่าสังหารผู้คนมากมายเช่นนี้ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Human Rights) นาวี พิลเลย์ (Navi Pillay) ระบุออกมาแล้วว่า เข้าข่ายเป็นอาชญากรรมสงคราม

กลุ่ม ISIS เป็นกำลังสำคัญที่สุดในการเปิดฉากรุกโจมตีระลอกใหม่ครั้งนี้ก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าจะมีแต่กองกำลังอาวุธของกลุ่มนี้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ถัดมาจากขบวนของพวกเขา ก็จะเป็น “กองทัพอิสลามิสต์ชาวอิรัก” ซึ่งนำโดย อิซซัต อัล-โดรี อิบรอฮิม (Izzat al-Dori Ibrahim) อดีตรองประธานาธิบดีและอดีตผู้บังคับบัญชาคนสำคัญของกองทัพอิรักในยุคของซัดดัม ฮุสเซน ตลอดจนกองกำลังของสมาคมนักการศาสนามุสลิม (Muslim Ulema Association) สิ่งที่สามารถนำเอากองกำลังอาวุธ 3 ส่วนเหล่านี้ (อันได้แก่ พวกสุดโต่งอัลกออิดะห์, พวกสมาชิกพรรคบาธ, และพวกทหารอิรักหนีทัพ) เข้ามารวมตัวกันได้ ก็คือความรู้สึกสิ้นหวังอันเกิดขึ้นจากนโยบายของนายกรัฐมนตรี นูรี อัล-มาลิกี (Nouri al-Maliki) ของอิรัก ซึ่งมุ่งสร้างความแตกแยกจากการแบ่งแยกทางด้านนิกายศาสนา ตลอดจนความล้มเหลวของรัฐอิรักในการตะล่อมดึงดูดพวกเมืองเล็กเมืองน้อยของชาวสุหนี่ ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำไทกริส ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาจนถึงกรุงแบกแดด

มุกตาดา อัล-ซาดร์ (Baghdad. Muqtada al-Sadr) ผู้นำของกลุ่ม “กองทัพเมห์ดี” (Mahdi Army) ได้เคยกล่าวเอาไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดได้จากเว็บเพจ http://www.counterpunch.org/2014/02/19/iraq-is-run-by-wolves/) ว่า อิรักนั้น “กำลังถูกปกครองโดยฝูงหมาป่า ที่กระหายจะได้ลิ้มรสเลือด, มีวิญญาณที่กระตือรือร้นแต่จะได้ทรัพย์สมบัติ, ทว่ากำลังปล่อยปละประเทศชาติของพวกเขาให้จมอยู่ในความทุกข์ยาก, ในท่ามกลางความหวาดกลัว, ในปลักโคลนตม, ในค่ำคืนอันมืดมิด ซึ่งมีแสงสว่างปรากฏให้เห็นบ้างก็เพียงแสงจันทราหรือแสงจากเทียนไข, ท่วมท้นไปด้วยการลอบสังหารซึ่งเกิดจากความแตกต่างหรือเกิดจากการไม่ลงรอยกันที่ไร้ความหมายจนน่าหัวเราะเยาะ” อัล-ซาดร์ ผละจากอิรักและเดินทางไปพำนักในอิหร่าน ด้วยความรู้สึกสะอิดสะเอียนเต็มกลืนกับการเล่นการเมืองและความรุนแรงในดินแดนบ้านเกิดของเขา ความรู้สึกสิ้นหวังเช่นนี้แหละที่ทำให้ ISIS ได้โอกาสในการสร้างที่มั่นต่างๆ ของพวกเขาขึ้นมาในภาคเหนือของอิรัก

โทนี แบลร์ (Tony Blair) อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ออกมาแถลงแก้ตัวว่า การผงาดขึ้นมาของ ISIS ในตอนนี้ ไมได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับ “สงครามอิรักปี 2003” ซึ่งตัวเขาแสดงบทบาทสำคัญในการหนุนหลังประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯอย่างแข็งขัน ในการยกกองทัพเข้ารุกรานและยึดครองอิรัก แบลร์อ้างว่า ISIS โดดเด่นขึ้นมาในเวลานี้ได้ เนื่องมาจากการที่ฝ่ายตะวันตกไม่ได้ลงมือกระทำการใดๆ ในวิกฤตที่เกิดขึ้นในซีเรียต่างหาก (ดูรายละเอียดได้จากเว็บเพจ http://www.tonyblairoffice.org/news/entry/iraq-syria-and-the-middle-east-an-essay-by-tony-blair/) แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ISIS ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2004 โดยในตอนแรกสุดอยู่ในฐานะที่เป็นกลุ่ม “อัลกออิดะห์ในอิรัก” (al-Qaeda in Iraq) และมี อบู มูซับ อัล-ซาร์กะวี (Abu Musab al-Zarqawi) นักรบผู้กระหายเลือดชาวจอร์แดนเป็นผู้นำ ถัดจากนั้นมาอีก 2 ปี กลุ่มนี้จึงได้เกิดใหม่ในชื่อ “รัฐอิสลามแห่งอิรัก (Islamic State of Iraq)

สภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างลำบากล่าช้าตามเมืองเล็กเมืองน้อยต่างๆ ในภาคเหนือของอิรัก ซึ่งมีอดีตทหารในกองทัพอิรัก ตลอดจนอดีตสมาชิกพรรคบาธ ผู้ต้องทนทุกข์ผ่านความลำบากนานา พำนักอาศัยกันเป็นจำนวนมาก ช่วยให้กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักนี้สามารถเติบใหญ่ขยายตัวออกไป ถึงแม้กองทัพสหรัฐฯได้เข้าทำลายฐานสำคัญของฝ่ายสุหนี่อย่างเมืองฟอลลูจาห์ (Fallujah) และเมืองรามาดี (Ramadi) ตลอดจนจัดตั้งขบวนการ “ชาวสุหนี่ผู้ตื่นตัว” (Sunni Awakening) ขึ้นมาในปี 2005 (ด้วยจุดประสงค์ที่จะใช้กองกำลังชาวสุหนี่ซึ่งหันมาอยู่กับอเมริกันเหล่านี้ เข้าร่วมการปฏิบัติการปราบปรามกวาดล้างกองกำลังชาวสุหนี่ที่เป็นพวกผู้ก่อความไม่สงบ –ผู้แปล) แต่เมื่อวอชิงตันและแบกแดดหมดความสนใจใน “ชาวสุหนี่ผู้ตื่นตัว” นี้แล้ว นักรบสมาชิกของขบวนการนี้เองก็ได้หันมาเข้าร่วมกับกลุ่มรัฐอิสลาม พวกเขาเหล่านี้เป็นนักรบผ่านศึกโชกโชนในการก่อความไม่สงบต่อต้านสหรัฐฯ-อังกฤษ ซึ่งเข้ามารุกรานและยึดครองอิรัก พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับซีเรียเลย

จนกระทั่งเมื่อสงครามกลางเมืองในซีเรียระเบิดขึ้นในปี 2011 นั่นแหละ กลุ่มรัฐอิสลามในอิรัก ภายใต้ผู้นำที่เต็มไปด้วยความคึกคักมีชีวิตชีวาอย่าง อบู บาคร์ อัล-แบกดาดี (Abu Bakr al-Baghdadi) จึงได้เข้าช่วยเหลือจัดตั้งเครือข่ายของอัลกออิดะห์ในซีเรีย ซึ่งใช้ชื่อว่า “จาบัต อัล-นุสรา” (Jabhat al-Nusra) ดังที่ รัดวัน มอร์ตาดา (Radwan Mortada) รายงานเอาไว้ใน อัล-อัคบาร์ (al-Akhbar) หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอาหรับในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ที่มีเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษด้วย (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บเพจ http://english.al-akhbar.com/node/18519) ในระว่างปี 2012 และ 2013 ISIS กับ จาบัต อัล-นุสรา เริ่มเกิดความบาดหมางไม่ลงรอยกัน โดยที่ฝ่ายหลังรู้สึกว่าตนคือผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบในเรื่องของซีเรีย และต้องการให้ชาวซีเรียเป็นผู้ทำหน้าที่ส่วนใหญ่ในการสู้รบในประเทศนั้น กลุ่มรัฐอิสลามจึงขยายชื่อของตนให้กลายเป็น กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและมหาซีเรีย และเพิ่มกำลังนักรบของตนด้วยการอิมพอร์ตจากที่ต่างๆ ทั่วโลก เมื่อย่างเข้าต้นปี 2014 ก็มีนักรบซึ่งผู้มีให้ตัวเลขสูงถึง 100,000 คนทีเดียว แสดงเจตจำนงที่จะสู้รบภายใต้ร่มธงของ ISIS จากการสังเกตการณ์ของผม (วีเจย์ ปราชาด) เอง (ดูรายละเอียดได้จากเว็บเพจ http://www.frontline.in/world-affairs/road-to-raqqa/article5596999.ece#) ผมพบว่า นักรบเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่พวกนักรบญิฮัด (ซึ่งมุ่งที่จะทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา) หากแต่เป็นพวกที่มีประสบการณ์ผ่านศึกในตอนที่อยู่กับกลุ่มชาวสุหนี่ผู้ตื่นตัว แล้วภายหลังบังเกิดความโกรธแค้นที่ถูกทอดทิ้ง สำหรับคนอื่นๆ ก็เป็นคนประเภทประมาณๆ นี้เช่นกัน ทั้งนี้ ISIS ถือเป็นช่องทางชั้นดีที่สุดที่พวกเขาจะได้ใช้ระบายความรู้สึกผิดหวังคับข้องใจ

ถึงแม้ได้เกิดการปะทะกับ จาบัต อัล-นุสรา หลายต่อหลายครั้ง แต่กลุ่ม ISIS ยังคงสามารถรักษาอำนาจควบคุมเหนือเมืองทางภาคเหนือของซีเรียอย่าง รักกา (Raqqa) และ เดร์ เอซ-ซอร์ (Deir ez-Zor) เอาไว้ได้ หลังจากที่ยึดครองมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2013 รายได้จากบ่อน้ำมันหลายๆ แห่งในภาคตะวันออกของซีเรีย ตลอดจนการนำเอาวัตถุโบราณออกมาขาย ช่วยให้กระแสรายได้ของ ISIS เพิ่มพูนขึ้น หลังจากที่เมื่อก่อนต้องพึ่งพาอาศัยแต่ภาษีซึ่งจัดเก็บในภาคเหนือของอิรัก และเงินบริจาคส่วนตัวแบบปิดลับจากพวกชีคอาหรับในย่านอ่าวเปอร์เซีย นับจนถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภายในคลังของ ISIS ยังมีเงินอยู่ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ทีเดียว มาร์ติน ชูลอฟ (Martin Chulov) ประมาณการเอาไว้ในหนังสือพิมพ์การ์เดียน (Guardian) ของอังกฤษว่า จากการตีเมืองโมซุลแตก ISIS จะได้เงินทองถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ (ดูรายละเอียดที่เว็บเพจ http://www.theguardian.com/world/2014/jun/15/iraq-isis-arrest-jihadists-wealth-power) ขณะที่การยึดโรงกลั่นน้ำมันไบจี (Baiji) จะทำให้พวกเขามีทรัพยากรเพิ่มขึ้นมาอย่างใหญ่หลวง

สำหรับทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เนื่องจากทหารอิรักแทบไม่ได้ต้านทานอะไรเลย กลุ่ม ISIS และพันธมิตรจึงสามารถยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ชนิดใหม่เอี่ยมได้มากมาย โดยจำนวนมากทีเดียวเป็นของที่สหรัฐฯจัดส่งไปช่วยฝ่ายอิรักสู้รบกับ ISIS นั่นเอง เวลานี้อาวุธเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในซีเรียและอิรัก เพื่อขับดันเดินหน้าไปตามวาระของ ISIS ที่จะจัดตั้งรัฐอิสลามแห่งหนึ่งขึ้นมา ทั้งนี้สิ่งแรกๆ ประการหนึ่งที่กลุ่มนี้กระทำเมื่อเข้ายึดครองเมืองโมซุล ได้แก่การทำลายหลักเขตแดนตรงบริเวณชายแดนระหว่างซีเรียกับอิรัก อันเป็นการแสดงท่าทีมุ่งผลทางการโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องนี้นั่นเอง มาถึงตอนนี้วิสัยทัศน์ของ ISIS ที่จะก่อตั้งรัฐอิสลามซึ่งครอบครองดินแดนที่คร่อมระหว่างอิรักกับซีเรีย โดยมีความกว้างขวางไล่ตั้งแต่เมืองตริโปลี (Tripoli) ของเลบานอน ไปจรดพรมแดนของอิหร่านนั้น กำลังทำท่าใกล้กลายเป็นความจริงแล้ว

การรุกรบบุกไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ทำให้ถูกตอบโต้จากพลานุภาพทางอากาศของทั้งกองทัพอากาศซีเรียและกองทัพอากาศอิรัก ซึ่งออกปฏิบัติการโดยที่มีการผสมผสานกันและร่วมมือประสานงานกัน ฝูงเฮลิคอปเตอร์ของอิรักกระทั่งเข้าโจมตีสุสานซึ่งเป็นที่ฝังศพของซัดดัม ฮุสเซน ในตำบลอัล-เอาจา (al-Auja) ใกล้ๆ เมืองติกริต นี่เป็นพฤติการณ์ที่เป็นการส่งข้อความถึงพวกสมาชิกพรรคบาธ และได้รับการคาดคำนวณกันว่าน่าจะก่อให้เกิดความเจ็บแค้นมากกว่าที่จะบังเกิดความยับยั้งชั่งใจ นี่จึงเป็นเรื่องที่มีอันตราย ลัทธิชาตินิยมอิรักนั้นได้ถูกพรรคบาธที่ครองอำนาจในยุคซัดดัม ฮุสเซน คอยควบคุมกดเอาไว้ไม่ให้เงยหัว มันจึงไม่สามารถเป็นพื้นฐานสำหรับให้รัฐบาลของนูรี อัล-มากิลี หันมาพึ่งพาอาศัยได้อีกแล้ว อันที่จริงในเวลานี้เขากำลังพึ่งพากระแสของลัทธิมุ่งแบ่งแยกนิกายศาสนาต่างหาก ความร่วมมือกันระหว่างกองทัพของซีเรีย, อิรัก, และอิหร่าน –โดยที่มีตุรกีคอยจับตาอยู่ข้างๆ อย่างสนอกสนใจ ได้รับการจัดตั้งและเดินหน้าดำเนินการไปแล้ว ทว่าความร่วมมือเช่นนี้จะมีกลิ่นไอของลัทธิแบ่งแยกนิกายศาสนาเรื่อยไป ตราบเท่าที่ตุรกี (ซึ่งเป็นชาติที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวสุหนี่ ขณะที่ซีเรีย, อิรัก, อิหร่าน ไม่ได้เป็นเช่นนั้น) ยังไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการ มีความเป็นไปได้อยู่มากที่ตุรกีจะกระโดดเข้าร่วมวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมองเห็นว่า การแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ของอิรักและของซีเรีย จะนำไปสู่การจับมือสามัคคีเป็นเอกภาพกันระหว่างเขตชาวเคิร์ดของซีเรียและเขตชาวเคิร์ดของอิรัก การบังเกิดแผ่นดินแม่ของชาวเคิร์ดเช่นนี้ขึ้นมา ย่อมเป็นปัญหาท้าทายโดยตรงต่อตุรกี (ซึ่งก็เป็นประเทศที่มีชาวเคิร์ดอยู่เป็นจำนวนมาก และมีประวัติศาสตร์การปราบปรามกดขี่ชาวเคิร์ดมาอย่างขมขื่นยาวนาน –ผู้แปล) ย่อมเป็นการดีกว่ามากมายนักที่จะเด็ดทิ้งโอกาสต่างๆ เหล่านี้ตั้งแต่ที่มันยังเพิ่งแตกหน่ออ่อนขึ้นมา

สำหรับเสียงเรียกร้องของพวกสหภาพแรงงานในอิรัก ที่ว่าประชาชนมีความพรักพร้อมแล้วที่จะทำการต่อต้าน ISIS โดยอาศัยหลักนโยบายในแนวทางนักชาตินิยม ดังเช่นที่ประกาศออกมาโดย ฟาละห์ อัลวัน (Falah Alwan) แห่งสหพันธ์สภาแรงงานและสหภาพแรงงานในอิรัก (Federation of Workers’ Councils and Unions in Iraq) (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บเพจ http://www.jadaliyya.com/pages/index/18143/on-recent-events-in-mosul-and-other-cities-in-iraq) ไม่น่าที่จะบังเกิดผลจริงจังอะไรขึ้นมา คงแทบไม่มีใครเลยที่จะรู้สึกซาบซึ้งชื่นชม จากการที่ อัลวัน บอกว่า “ความเรียกร้องต้องการให้กำจัดลัทธิมุ่งแบ่งแยกนิกายศาสนาทิ้งไปเสีย กำลังกลายเป็นความเรียกร้องต้องการที่ทั้งชัดเจนและทั้งตรงไปตรงมา” – คำแถลงเช่นนี้ให้ความรู้สึกอันสูงส่งอย่างไม่ต้องสงสัย ทว่ามันจะไม่มีใครได้ยินกันเลย เมื่ออยู่ต่อหน้ากระบอกปืนแห่งการแบ่งแยกทางนิกายศาสนาอย่างเกรี้ยวกราดดุดันของ ISIS เสียงคำรามจากปากกระบอกปืนของ ISIS มีแต่จะผลักดันให้ผู้คนชาวเคิร์ดหันไปหากองกำลังอาวุธเปชเมอร์กา (peshmerga) และกองกำลังอาวุธวายพีจี (YPG) ของชาวเคิร์ด ส่วนชาวชีอะห์หันไปหาอัล-มาลิกี และกองกำลังอาวุธท้องถิ่นซึ่งให้ความสนับสนุนอัล-มาลิกี ตู้เซฟใหญ่ที่เคยเป็นสถานที่เก็บงำป้องกันไม่ให้ลัทธิแบ่งแยกนิกายศาสนาในอิรักแพร่กระจายออกไป ได้ถูกเปิดไขออกมาโดยการปฏิบัติการ “สร้างความตื่นตระหนกและตกใจกลัว” (Shock and Awe) ของสหรัฐฯ ในตอนบุกรุกรานอิรักเมื่อปี 2003 และเวลานี้มันได้กลายเป็น “กระแสเงินตราสกุลหลัก” ในอิรักและในซีเรียไปแล้ว –นับเป็นโศกนาฏกรรมที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารเหลือเกิน

ISIS พยายามเคลื่อนกำลังลงมาตามลำแม่น้ำไทกริส มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงแบกแดด ทว่าได้ถูกสกัดเอาไว้ที่บริเวณใกล้ๆ เมืองซามาร์รา (Samarra) แต่ไม่ใช่กองทัพอิรักหรอกที่เข้ามาตั้งแนวเป็นกำแพงสกัดขัดขวาง –มีภาพที่ถ่ายเอาไว้ในบริเวณใกล้ๆ เมืองโมซุลภาพหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้อธิบายเรื่องนี้ได้ดีทีเดียว ในภาพดังกล่าว นักรบ ISIS คนหนึ่งนั่งมองด้วยใบหน้ายิ้มกริ่ม ต่อหน้าแผ่นป้ายแผ่นหนึ่งซึ่งเขียนข้อความว่า “กองทัพอิรักคือคราดปลายแหลมคมที่ทิ่มใส่ตาของลัทธิก่อการร้าย” เวลานี้กองทัพดังกล่าวได้หายวับไปเสียแล้ว จะไปเที่ยวมองหาที่ไหนก็มองไม่เห็นทั้งสิ้น เพราะสิ่งซึ่งเคยเป็นกองทัพแห่งชาติของอิรักนั้น เวลานี้ได้ถูกแทนที่โดยกองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชีอะห์กลุ่มต่างๆ หลากหลาย เป็นต้นว่า กองกำลัง อาซา อิบ อาห์ล อัล-ฮัก (Asa’ib Ahl al-Haq ใช้อักษรย่อว่า AAH) ซึ่งเป็นพวกที่แยกตัวออกมาจากกองทัพเมห์ดี ของ อัล-ซาดร์ และได้รับการรับรองจากอัล-มาลิกี มานานแล้ว ผู้นำของ AAH คือ กะยิส คะซาลี (Qayis Khazali) เป็นผู้ที่ถูก อัล-ซาดร์ ขับไล่ออกมาจากกองทัพเมห์ดี เนื่องจากประพฤติตนตามอำเภอใจไร้ระเบียบวินัย กลุ่มของเขาปรากฏตัวอย่างคึกคักอยู่ทั่วทั้งอิรัก โดยที่ถูกกล่าวหาว่ากำลังเข้าแทนที่กองกำลังความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งมีบางคนข้ามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนักรบผู้โหดเหี้ยมที่สุดซึ่งทำการสู้รบอยู่รอบๆ สถานที่บูชา ซายิดา ซัยนับ (Sayida Zainab) ในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย กระทั่งพวกนักรบของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ยังร้องโวยว่า ต้องใช้กำลังเข้ารวบตัวพวกนักรบ AAH เอาไว้ไม่ให้ดิ้นหลุด จึงจะสามารถอบรมสั่งสอนให้พวกนี้ยอมสงบลงมาได้ อยาตอลเลาะห์ อาลี ซิสตานี (Ayatollah Ali Sistani) นักการศาสนาอาวุโสของฝ่ายชีอะห์ ได้ออก “ฟัตวา” (fatwa การให้คำวินิจฉัยโดยอาศัยบทบัญญัติทางศาสนา) เรียกร้องให้ “ชาวอิรักทั้งมวลที่ร่างกายสามารถทำการสู้รบได้” ออกมาพิทักษ์ปกป้องอิรักจากกลุ่ม ISIS ทั้งนี้เขากำลังปลุกระดมกองกำลัง AAH ตลอดจนกลุ่มย่อยต่างๆ ที่แตกสาขาออกมาของ AAH นั่นเอง ขณะเดียวกัน อัมมาร์ อัล-ฮาคิม (Ammar al-Hakim) ผู้นำของสภาสูงสุดอิสลามิสต์แห่งอิรัก (Islamic Supreme Council of Iraq) ก็ได้ถอดชุดเครื่องแบบนักการศาสนาของเขา และหันมาสวมชุดลายพรางของทหาร นี่คือเท่ากับการเขียนตัวอักษรคำว่า “สู้” ให้เห็นกันอย่างชัดๆ นั่นเอง –เพียงแต่ว่ามันเป็นตัวอักษรที่จมลึกอยู่ในลำรางแห่งการแบ่งแยกทางนิกายศาสนา

ก่อนที่ อัล-ซาดร์ ออกเดินทางไปยังอิหร่าน เขาได้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิแบ่งแยกนิกายศาสนาของอัล-มาลิกี ตลอดจนการเติบโตขยายอำนาจของพวกกลุ่มติดอาวุธอย่าง AAH โดยที่ อัล-ซาดร์ ระบุว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้กำลังทำให้ชาวอิรักกลุ่มอื่นๆ รู้สึกแปลกแยก และเป็นการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นมาในอนาคต มาในเวลานี้เขาเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปกองทัพเมห์ดีของเขา รวมทั้งให้จัดการสำแดงพลังความเข้มแข็งในวันที่ 21 มิถุนายน แต่ความคิดเห็นของเขาเหล่านี้คงไม่สามารถที่จะดึงดูดใจผู้ฟังกลุ่มใหม่ๆ ใดๆ ซึ่งยังคงอยู่ที่ด้านนอก ยังไม่ได้เข้าไปจำกัดตนเองอยู่ภายในกล่องสี่เหลี่ยมแห่งการแบ่งแยกทางนิกายศาสนา โดยที่มีแนวโน้มอย่างแรงกล้าว่าชาวอิรักทั้งหลายน่าที่จะบ่ายหน้าก้าวเข้าสู่กล่องสี่เหลี่ยมดังกล่าวนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ในอิรักนั้นไม่ได้มีพื้นฐานทางภววิสัย (objective basis) ใดๆ สำหรับลัทธิชาตินิยมของชาวอิรักทั้งมวล เฉกเช่นเดียวกับในซีเรียก็ไม่มีพื้นฐานสำหรับลัทธิชาตินิยมของชาวซีเรียทั้งมวล ทั้งคู่ต่างก็เป็นประเทศที่แตกร้าวออกเป็นเสี่ยงๆ และหักพังจากสงคราม ชาวซีเรียและชาวอิรักคือนักโทษในเรือนจำที่ไฟกำลังลุกไหม้ ขาดไร้ทางออกที่ไม่ถูกปิดกั้น ทางออกที่จะก้าวออกไปได้อย่างง่ายๆ

คำมั่นสัญญาของสหรัฐฯที่จะถล่มโจมตีทางอากาศต่อ ISIS ไม่ได้เป็นยาขนานวิเศษ พวกเขาจะทำได้เพียงแค่หยุดยั้งไม่ให้กลุ่มนี้รุกคืบหน้าต่อไป แต่จะไม่สามารถทำลายพลังอำนาจของ ISIS ซึ่งเวลานี้กำลังขยับขยายออกจากหลายๆ ส่วนของเมืองอะเลปโป (Aleppo) ในซีเรีย ไปจนถึงย่านชานเมืองหลายๆ ย่านของกรุงแบกแดด ในอิรัก สถานการณ์เช่นนี้ผู้ที่จะประสบความสูญเสียมากที่สุดก็คืออิหร่าน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่อิหร่านได้จัดส่งกำลังหลายๆ ส่วนของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ (Revolutionary Guard) ของตนเข้าไปในอิรักแล้ว เพื่อช่วยเหลือจัดแนวป้องกันในจังหวัดดิยาลา (Diyala) ซึ่งเมืองบากูบา (Baquba) ที่เป็นเมืองสำคัญที่สุดของจังหวัดนี้ เป็นต้นกำหนดของกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรัก บริเวณแถบนี้เป็นพื้นที่ของอิรักที่มีทั้งชาวชีอะห์และชาวสุหนี่พำนักอาศัยอยู่ และน่าที่จะเป็นสนามทดสอบความสามัคคีเป็นเอกภาพของพวกเขาในการต่อต้านกลุ่ม ISIS ตลอดจนอาจใช้เป็นสนามทดสอบบางสิ่งบางอย่างนอกเหนือจากลัทธิแบ่งแยกนิกายศาสนาของอัล-มาลิกี ผมได้รับการบอกเล่าว่า อัล-ซาดร์นั้นมีความสนใจในเรื่องการก่อตั้งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เวอร์ชั่นอิรักขึ้นมา ทั้งนี้ฮิซบอลเลาะห์เป็นกลุ่มที่มีรากเหง้าอยู่ในชุมชนชาวชีอะห์ของเลบานอน แต่แสร้งแสดงตนเป็นกองกำลังชาตินิยมอาหรับ การก่อตั้งกองกำลังชนิดนี้ขึ้นมาจะมีคุณประโยชน์ต่อการสร้างเวที มีคุณประโยชน์ต่อการสร้างหลักนโยบายแบบไม่มุ่งการแบ่งแยกด้านนิกายศาสนา เพื่อให้สามารถระดมผู้คนในส่วนต่างๆ เข้าร่วมมือกันเข้าสู้รบกับ ISIS ทั้งนี้ มันน่าที่จะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการณรงค์โจมตีทิ้งระเบิดทางอากาศด้วยซ้ำ

วีเจย์ ปราชาด เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Poorer Nations: A Possible History of the Global South (New Delhi: Leftword, 2013)
กำลังโหลดความคิดเห็น