xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นฆ่าวาฬ 30 ตัว หลังเปิดฉากล่าวาฬ “เชิงวิจัย” ครั้งแรก นับแต่ถูกศาลโลกสั่งห้ามล่าแถบขั้วโลกใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม) ลูกเรือชาวญี่ปุ่นกำลังตรวจสอบสภาพฉมวก ก่อนที่จะนำเรือออกจากท่าเรืออายูกาวะ ในเมืองอิชิโนมากิ เพื่อปฏิบัติภารกิจล่าวาฬเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา
เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า แดนอาทิตย์อุทัยได้สังหาร “วาฬมิงกี” ในน่านน้ำนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือไปแล้ว 30 ตัว ในปฏิบัติการล่าวาฬที่เปิดฉากขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ตั้งแต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติ มีคำสั่งให้โตเกียวยุติการฆ่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ ในแถบขั้วโลกใต้
ประชาชนชาวญี่ปุ่นกำลังรับประทานเนื้อวาฬในงานซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงเกษตรของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา
สำนักการประมงญี่ปุ่นระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองเรือล่าวาฬของแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งแล่นออกจากเมืองประมงอายูกาวะ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ดำเนินภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว

ภารกิจครั้งนี้คือการออกล่าวาฬครั้งแรก นับตั้งแต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) มีคำตัดสินว่า ภารกิจล่าวาฬประจำปีในมหาสมุทรใต้ (Southern Ocean) ของญี่ปุ่นเป็นการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ที่อ้างจุดประสงค์เพื่อการวิจัยบังหน้า

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังอ้างว่า การล่าวาฬตามน่านน้ำแถบชายฝั่ง และทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกในฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วงเป็น “การล่าวาฬเพื่อการวิจัย” เช่นกัน แต่ศาลโลกไม่ได้มีคำสั่งให้โตเกียวระงับโครงการดังกล่าว

หน่วยงานแห่งนี้ระบุว่า ขบวนการล่าวาฬได้สังหารวาฬตัวผู้ 16 ตัว และตัวเมีย 14 ตัว โดยสัตว์น้ำเหล่านี้มีความยาวเฉลี่ยราว 6 เมตร

ญี่ปุ่นได้อาศัยช่องโหว่ของข้อห้ามล่าวาฬเพื่อการค้าปี 1986 ซึ่งอนุญาตให้ล่าวาฬเพื่อรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่ยอมรับว่า เมื่อกลับไปถึงญี่ปุ่นเนื้อวาฬจะถูกนำไปทำเป็นอาหารในภัตตาคาร หรือนำออกจำหน่ายตามตลาดขายปลา

โตเกียวได้ยุติการล่าวาฬแถบขั้วโลกใต้ในช่วงปี 2014 ถึง 2015 และกล่าวว่าจะปรับเปลี่ยนแผนโครงการล่าวาฬซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เสียใหม่ เพื่อให้มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น

ในเดือนนี้ นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นได้จุดชนวนให้บรรดาชาติที่ต่อต้านการล่าวาฬโกรธเคือง ด้วยการกล่าวกับรัฐสภาแดนอาทิตย์อุทัยว่า จะผลักดันให้ญี่ปุ่นสามารถกลับมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์ได้อีกครั้ง

บรรดานักวิจารณ์ชี้ว่า แม้ว่าครั้งหนึ่งเนื้อวาฬจะเคยเป็นแหล่งสารอาหารประเภทโปรตีนที่สำคัญ แต่ก็แทบไม่มีชาวญี่ปุ่นรับประทาน แม้ว่ารัฐบาลจะออกเงินอุดหนุนเพื่อรักษาระดับราคาเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นซึ่งจัดทำโดยหนังสือพิมพ์เจ้าสำคัญของญี่ปุ่นชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สนับสนุนกิจกรรมล่าวาฬ

ผู้สังเกตการณ์ต่างกล่าวว่า กลยุทธ์ขององค์กรต่อต้านการล่าวาฬอย่าง “ซี เชพเพิร์ด” ซึ่งส่งเรือเข้าขัดขวางขบวนการล่าวาฬในมหาสมุทรใต้ สามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากประชากร ในประเทศที่บางครั้งเกิดความเคลือบแคลงว่า ข้อเรียกร้องให้ยุติภารกิจล่าวาฬเป็นการรุกรานทางวัฒนธรรมของลัทธิจักรวรรดินิยม
(ซ้าย) โยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีเกษตรญี่ปุ่น และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมรับประทานเนื้อวาฬ ณ กระทรวงเกษตร กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น